26 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

จ.อุบลราชธานี ร่วมกับ กฟผ.ดันรง.โซลาร์เซลล์ลอยน้ำเขื่อนสิรินธร Landmark แห่งใหม่

ข่าวพลังงาน

จังหวัดอุบลราชธานี และ กฟผ. ร่วมฟื้นฟูท่องเที่ยว ดันโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนเวียน และจุดเช็คอินแห่งใหม่ของจังหวัด สร้างรายได้และอาชีพให้ชุมชน หนุนเศรษฐกิจจังหวัดในภาพรวม

วันนี้ (29 มีนาคม 2564) นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร (Hydro-floating Solar Hybrid) หรือโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนเวียนและเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ จ.อุบลราชธานี โดยมีส่วนราชการท้องถิ่น สื่อมวลชน ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. เข้าร่วมงาน ณ เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี

นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า หนึ่งในยุทธศาสตร์ของการพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานี คือ ส่งเสริมการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว เพราะจังหวัดอุบลฯ มีแหล่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมประเพณีที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ทำให้การท่องเที่ยวถือเป็นรายได้หลักของจังหวัดอุบลราชธานี สำหรับเขื่อนสิรินธรของ กฟผ. นอกจากจะอำนวยประโยชน์ด้านชลประทาน การประปา การคมนาคมทางน้ำและการผลิตกระแสไฟฟ้าให้คนอุบลฯและประเทศไทยมาอย่างยาวนานแล้ว ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมไม่ขาดสาย

โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อนสิรินธร จึงเป็นการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาชมความสวยงามของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ลอยน้ำไฮบริดแห่งแรกในไทย สอดรับกับแนวทางการพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานี ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังทำให้ประชาชนในท้องถิ่นมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีอาชีพและรายได้ มีความสุขอย่างยั่งยืน

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนมาผลิตไฟฟ้าเนื่องจากเป็นพลังงานสะอาดช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ เป็นแห่งแรกที่สามารถผลิตไฟฟ้าผสมผสาน (Hybrid) ระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าพลังน้ำเข้าด้วยกัน โดยนำนวัตกรรมระบบบริหารจัดการพลังงาน หรือ Energy Management System (EMS) มาช่วยประเมินผลและสั่งการให้โรงไฟฟ้าทั้งสองประเภทผลิตไฟฟ้าสอดคล้องกับช่วงเวลาได้อย่างเหมาะสม ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องยาวนานขึ้น ช่วยลดความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียน และช่วยเสริมระบบผลิตไฟฟ้าให้มีความมั่นคงมากขึ้น ถือเป็นการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำแรกของไทยและมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) ได้ในเดือนมิถุนายน 2564

นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้เตรียมพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนเวียนให้กับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป พร้อมสร้างเส้นทางเดินชมธรรมชาติ (Nature Walkway) เพื่อเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แห่งใหม่ เตรียมเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ประมาณปลายปี 2564 นี้ โดย กฟผ. จัดเตรียมจุดจำหน่ายสินค้าชุมชน ร้านขายของที่ระลึก ร้านเช่าจักรยาน จุดบริการรถรับ-ส่งนักท่องเที่ยว บริเวณจอดแพท่องเที่ยว เป็นต้น คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อีกทางหนึ่ง

Skip to content