ไดเมท (สยาม) สบช่องธุรกิจกระแสพลังงานสะอาด จัดตั้งบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) บริษัท เอนเนอร์ยี่ ลิงค์ ดีไซน์ (ประเทศไทย) จำกัด ออกแบบระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ จับมือสองพาร์ตเนอร์สัญชาติญี่ปุ่นและไทย ตั้งเป้ารับรู้รายได้ไตรมาสสี่
ดร.วรดิศ ธนภัทร ประธานกรรมการบริหารและรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ไดเมท (สยาม) เปิดเผยว่า “บริษัท ไดเมท (สยาม) จำกัด (มหาชน) ได้เข้าร่วมลงทุน (Joint Venture) โดยจัดตั้งบริษัท เอนเนอร์ยี่ ลิงค์ ดีไซน์ (ประเทศไทย) จำกัด ทุนจดทะเบียน 2,000,000 บาท (ชำระเต็ม) โดยไดเมท (สยาม) ถือหุ้น 26% ร่วมกับ บริษัท ชิบาตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (สัดส่วนถือหุ้น 31%) และบริษัท ฮาตาริ เน็กซ์ จำกัด (สัดส่วนถือหุ้น 25%) ดำเนินธุรกิจออกแบบ วางระบบ ติดตั้งและบำรุงรักษาครบวงจร จากพลังงานทดแทน เบื้องต้นนำร่องด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar) ก่อนขยายขอบข่ายไปยังการผลิตพลังงานทดแทนอื่นๆ รวมถึงธุรกิจโครงการที่สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Effect) อาทิเช่น การปลูกสวนป่า (Forestry) และ เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน (Energy Efficiency) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าเป้าหมายที่ได้กำหนด จนสามารถคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) เพื่อประกอบธุรกิจการซื้อขายคาร์บอนเครดิตต่อไป
ทั้งบริษัท ชิบาตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทออกแบบ รับเหมางานวิศวกรรมและก่อสร้างแบบครบวงจร รวมทั้งผลิตพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น และ บริษัท ฮาตาริเน็กซ์ จำกัด บริษัทเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ มีฐานลูกค้าในประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การร่วมมือครั้งสำคัญนี้ส่งผลให้ บริษัท เอนเนอร์ยี่ ลิงค์ ดีไซน์ (ประเทศไทย) จำกัด มีความแข็งแกร่งทางการเงินซึ่งจะเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจอย่างสมบรูณ์ อีกทั้งบริษัทฯ ได้เข้าถึงผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพและเรียนรู้การบริการแบบครบวงจรอย่างมืออาชีพตามมาตรฐานสากลจากประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากประเทศไทย โดยบริษัทฯ หวังจะส่งเสริมความเชี่ยวชาญและส่งต่อประสบการณ์นี้เพื่อสานสายสัมพันธ์ที่ดีต่อบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นผ่าน บริษัท ชิบาตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัทต่างชาติระดับสากลในประเทศไทย รวมถึงประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านบริษัท ฮาตาริเน็กซ์ จำกัด โดยตั้งเป้ารับรู้รายได้ไตรมาสสี่
บริษัทฯ ได้นำองค์ความรู้ด้านการใช้พลังงานควบคู่กับเทคโนโลยีทางวิศวกรรมและการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytic) ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ณ เดือนมกราคม 2566 ระบุว่า การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและถ่านหินลิกไนซ์ มีปริมาณลดลงและจะยังคงมีแนวโน้มที่ลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่น้ำมัน, พลังน้ำ, ไฟฟ้านำเข้าและพลังงานหมุนเวียน มีปริมาณเพิ่มขึ้น บริษัทฯ มั่นใจว่าการร่วมทุนนี้จะสอดรับกับนโยบายการลงทุนในธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) อย่างยั่งยืน” ดร.วรดิศ ธนภัทร กล่าวในที่สุด
More Stories
รฟฟ.บีแอลซีพี ร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำกว่า 1.6 ล้านตัว ต่อเนื่องเป็นปีที่ 22 สานต่อ ESG หนุน SDGs
OR ตอกย้ำแนวคิดสังคมสะอาด มอบรางวัลโครงการ “แยก แลก ยิ้ม School Camp ประจำปี 2567”
เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์ ร่วมบรรยายในงานประชุม The 58th