26 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

ดร.แดน เสนอ ไทยใช้ประโยชน์จากความขัดแย้งประเทศมหาอำนาจ

     ดร.แดน ชี้จีนกำลังผงาด ท้าทายสหรัฐ ทำให้โลกสุ่มเสี่ยงเข้าสู่ภาวะที่ดร.แดนสร้างศัพท์ว่า “สงครามอุ่น” ขณะที่ไทยไม่มีอำนาจต่อรอง บทบาทในอาเซียนลดน้อยลงเรื่อย ๆ ดังนั้นไทยควรใช้ยุทธศาสตร์เชิงรุก ผลักดันไทยเป็นดุมล้ออาเซียน กำหนดนโยบายให้มหาอำนาจถ่วงดุลกันเอง แสวงหาประโยชน์จากความขัดแย้ง และรองรับความเสี่ยงจากความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าว ปาฐกถาพิเศษในงาน เสวนา Thailand International Relations Forum ในหัวข้อ “นโยบายพรรคการเมืองกับความสัมพันธ์ประเทศมหาอำนาจ” ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยมี ผศ.สาธิน สุนทรพันธุ์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, รศ.ดร.โภคิน พลกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, ดร.วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการสถาบันสหสวรรษ, ดร.ชัยยงค์ สัจจิพานนท์ อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา, ตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ รวมทั้ง ภาคธุรกิจและประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังการเสวนาจำนวนมาก

ประธานสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้อธิบายถึงสถานการณ์ของโลกไว้ว่า ปัจจุบันโลกมีขั้วหลักอยู่ 2 ขั้วอำนาจ ขั้วอำนาจเดิมที่มีสหรัฐฯ เป็นแกนนำมีแนวโน้มถดถอยลง จากปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศ ในขณะที่ขั้วอำนาจใหม่ที่มีจีนเป็นแกนนำกำลังผงาดขึ้นมาท้าทาย โดยจีนพยายามแสดงบทบาทผู้นำโลกในประเด็นต่าง ๆ ในภาวะเช่นนี้ สหรัฐฯ จึงพยายามรักษาตำแหน่งของตนเองและสกัดจีนไม่ให้เติบโตขึ้น ด้วยการทำสงครามการค้า การกีดกันทางเทคโนโลยี ไปจนถึงสงครามตัวแทน ฯลฯ ซึ่งเป็นภาวะที่ ดร.เกรียงศักดิ์ เรียกว่า “สงครามอุ่น” คือ มีการต่อสู้และปะทะกันโดยตรงของมหาอำนาจในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่การทำสงครามทางการทหารต่อกันโดยตรง ทำให้โลกอยู่ในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงจะนำไปสู่สงครามเย็นรอบใหม่ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเป็นสงครามร้อนในระดับ “สงครามโลกครั้งที่ 3” ได้

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ยังได้วิเคราะห์ถึงความท้าทายของไทยเอาไว้ว่า ไทยต้องเผชิญแรงกดดันให้ต้องเลือกข้างมากขึ้น ซึ่งการเลือกข้างใดข้างหนึ่งอาจทำให้ถูกลงโทษจากอีกฝ่ายหนึ่ง แต่การพยายามเหยียบเรือสองแคมก็อาจทำให้ไม่ได้รับความสำคัญจากทั้งสองฝ่าย ขณะที่ไทยไม่ได้มีอำนาจต่อรองหรือมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ความมั่นคงหรือเชิงเศรษฐกิจมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ และ บทบาทของไทยในอาเซียนที่ลดน้อยถอยลงเรื่อย ๆ การที่ไทยจะสร้างอำนาจต่อรองกับมหาอำนาจ โดยอาศัยความร่วมมือในอาเซียนจึงเป็นไปได้ยากมากขึ้นเรื่อย ๆ

“ผมคิดว่าภายใต้ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นระหว่างมหาอำนาจ การกำหนดท่าทีและนโยบายความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนและรอบคอบมากขึ้น ผมเสนอว่า 1) ไทยต้องใช้ยุทธศาสตร์เชิงรุก พัฒนาความสัมพันธ์กับมหาอำนาจโดยบรรจุวาระที่สนับสนุนให้ไทยเป็นเมืองหลวงโลก 4 ด้าน คือ อาหาร การท่องเที่ยว สุขสภาพ (wellness) และการอภิบาลคนชรา 2) ผลักดันไทยเป็นดุมล้ออาเซียน อาเซียนเป็นดุมล้อโลก ต่อรองกับมหาอำนาจในแบบทวิภาคี 3) ให้มหาอำนาจถ่วงดุลหรือแข่งขันกันเองระหว่างมหาอำนาจ เพื่อนำเสนอความร่วมมือที่ไทยจะได้รับประโยชน์สูงสุด เช่น เปิดให้แข่งขันยื่นข้อเสนอในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น 4) แสวงหาโอกาสจากความขัดแย้ง เช่น ส่งเสริมการลงทุนจากอุตสาหกรรมที่ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนอันเนื่องมาจากผลกระทบของสงครามการค้า 5) รองรับความเสี่ยงจากความขัดแย้ง กระจายความเสี่ยงด้านต่าง ๆ เช่น ลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดจีนหรือสหรัฐฯ มากเกินไป

ดร.แดน กล่าวทิ้งท้ายว่า โลกกำลังเปลี่ยนสู่โลกหลายขั้วอำนาจและขั้วอำนาจใหม่และระเบียบโลกใหม่จะเข้ามาท้าทายมหาอำนาจและระเบียบโลกเดิม ความตึงเครียดและขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ จะทำให้การกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายต่างประเทศและท่าทีความสัมพันธ์กับมหาอำนาจ เป็นเรื่องที่ต้องรอบคอบและระมัดระวังมากขึ้น หากไม่ต้องการแหลกลาญภายใต้เท้าของพญาช้างสารที่กำลังต่อสู้กัน

Skip to content