CSR.
2 เมษายน 2564 – บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด (BLCP) ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1, ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก และเทศบาลเมืองมาบตาพุด จัดกิจกรรมปลูกหญ้าทะเล แปลงที่ 1 จำนวน 2 ไร่ ภายใต้โครงการศึกษาวิจัยปลูกหญ้าทะเลเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรบริเวณเกาะสะเก็ด ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง โดยมีนายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นประธานในพิธีฯ
ทรัพยากรหญ้าทะเลถือเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญของสิ่งมีชีวิตในทะเล และมีส่วนช่วยลดการกัดเซาะชายฝั่ง เนื่องจากหญ้าทะเลมีรากคอยยึดพื้นดิน แต่เนื่องจากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาบริเวณรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ได้มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมากโดยเฉพาะการพัฒนาบริเวณชายฝั่งทะเล เพื่อประโยชน์ทางด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การสร้างที่อยู่อาศัยแหล่งชุมชนอื่น ๆ โดยมีการมุ่งใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างฟุ่มเฟือยขาดการระมัดระวัง จึงก่อให้เกิดความเสียหายเสื่อมโทรม ส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของถิ่นที่อยู่อาศัย แหล่งหากิน และที่หลบภัยของสิ่งมีชีวิตในทะเลและชายฝั่งเป็นอันมาก โดยเฉพาะแหล่งอาหารของสัตว์ทะเล อาทิ หญ้าทะเลที่ได้รับผลกระทบอย่างมากเช่นกันเมื่อเปรียบกับระบบนิเวศอื่น
BLCP เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาสภาพแวดล้อมโดยรอบโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีจึงได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลโดยการทดลองปลูกเสริมเป็น พื้นที่ 2 ไร่ จำนวน 3,200 กอ บริเวณรอบเกาะสะเก็ดซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 35 ไร่ เพราะจากการสำรวจการแพร่กระจายของหญ้าทะเล โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ในปี 2547 และ 2551 ไม่พบหญ้าทะเลบริเวณเกาะสะเก็ดเลย ดังนั้นการปลูกเสริมหญ้าทะเลจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล เนื่องจากหญ้าทะเลช่วยทำหน้าที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย อนุบาลตัวอ่อน แหล่งหากิน และแหล่งหลบภัยของสัตว์ทะเลนานาชนิด โดยเฉพาะปูม้า ปลา กุ้งและหอย เป็นต้น ตลอดจนช่วยลดการกัดเซาะชายฝั่งด้วยเนื่องจากมีรากคอยยึดพื้นดิน
นายยุทธนา เจริญวงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด กล่าวว่า ระบบนิเวศทางทะเลเป็นระบบที่เกื้อกูลวิถีชีวิตของชาวประมงที่อาศัยจับสัตว์น้ำเป็นอาชีพ การอนุรักษ์แนวปะการัง หญ้าทะเล สาหร่ายทะเล ตลอดจนสรรพสิ่งในท้องทะเลทั้งมวลล้วนก่อให้เกิดระบบนิเวศที่มีความสัมพันธ์อย่างสลับซับซ้อน ความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งหนึ่งเกื้อกูลให้สิ่งหนึ่งดำรงอยู่ได้ BLCP จึงขอเป็นหนึ่งกำลังที่สำคัญในการสร้างสมดุลให้ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งให้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนตลอดไป
BLCP ร่วมสร้างสังคมน่าอยู่ เคียงคู่ชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
More Stories
“ซึ้งใจมาหาถึงบ้าน” คาราวาน “ผ้าห่มผืนเขียว” เดินทางข้ามหุบเขา มอบไออุ่นถึงมือพี่น้องชาวพิษณุโลก
เอสซีจี เดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในอาเซียน มอบทุนอีก 3 ประเทศ
คาร์กิลล์ สานต่อ ‘โครงการเกษตรอาหารกลางวัน’ สร้างความยั่งยืนทางอาหารให้เยาวชนไทย ตอกย้ำการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารโลก