ข่าวประกัน
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ร่วมเป็นสักขีพยาน ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง การบูรณาการส่งเสริมความรู้และสิทธิประโยชน์ ด้านการประกันภัย ระหว่าง สำนักงาน คปภ. ภาค 2 ภาค 4 และ ภาค 7 สำนักงาน คปภ. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดอ่างทอง จังหวัดชัยนาท จังหวัดลพบุรี และจังหวัดสระบุรี และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดอ่างทอง จังหวัดชัยนาท จังหวัดลพบุรี และจังหวัดสระบุรี พร้อมเป็นประธานเปิดการเสวนาเรื่อง “คปภ. ห่วงใย สร้างเกราะประกันภัยให้ SMEs” ณ โรงแรมคลาสสิค คามิโอ อยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ และสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยเชิงรุกให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ หรือ SMEs ใช้เป็นข้อมูลในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของธุรกิจของตนเองหรือบุคคล ซึ่ง SMEs เป็นอีกหนึ่งกลุ่มเป้าหมายที่มีความสำคัญในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมของประเทศ โดยมีนายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ คปภ. สายกฎหมายและคดี นางสาวสุภัทรา ดวงงา เจ้าของร้านชาบูอินดี้ และนายเชิดชัย อนุสนธิ์พัฒน์ เจ้าของห้างทองเยาวราชอยุธยา (1999) ร่วมเสวนา และมีนางสาวณิชชา ฉัตรไชยเดช เป็นพิธีกร ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ มีผู้ประกอบการในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียงเข้าร่วมงาน จำนวน 100 คน โดยได้รับเกียรติจากนายพรพจน์ บัณฑิตยานุรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้การต้อนรับและได้กล่าวขอบคุณ สำนักงาน คปภ. ที่เลือกจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นพื้นที่เป้าหมายในการให้ความรู้ด้านการประกันภัยและลงพื้นที่รับฟังข้อมูลจาก SMEs โดยตรง อันจะเป็นประโยชน์ต่อการนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารจัดการความเสี่ยงภัยให้ SMEs ในพื้นที่ ดังนั้น เวทีการเสวนาในครั้งนี้ จึงมีความสำคัญและมีคุณค่ายิ่ง ที่เลขาธิการฯ นำทีมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงาน คปภ. ลงพื้นที่ด้วยตัวเอง พร้อมทั้ง ขอให้ SMEs เร่งนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงภัย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและเพิ่มความมั่นคงให้กับธุรกิจของตนเองยิ่งขึ้น
เลขาธิการ คปภ. กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดเสวนา ในตอนหนึ่งว่า สำนักงาน คปภ. มีความมุ่งมั่นในการให้ความรู้ด้านการประกันภัยกับ SMEs มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2564 เป็นการลงพื้นที่ครั้งแรก ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่เริ่มคลี่คลาย โดยสำนักงาน คปภ. พร้อมส่งเสริมและขับเคลื่อนให้ภาคธุรกิจประกันภัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการ ของ SMEs ในรูปแบบของกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs Package ซึ่งเป็นกรมธรรม์ที่รวมความคุ้มครองหลักที่ครบวงจรและหลากหลาย ซึ่งจะช่วย SMEs ลดภาระค่าใช้จ่ายในหลายมิติ อาทิเช่น การประกันอัคคีภัย ให้ความคุ้มครองแก่ทรัพย์สินเมื่อสถานประกอบการเกิดเหตุเพลิงไหม้ ภัยพิบัติ น้ำท่วม นอกจากค่าใช้จ่าย ในการซ่อมแซมตัวอาคารและปรับปรุงภายในอาคารแล้ว มีการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก จะให้ความคุ้มครองค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จากกรณีที่ไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ตามระยะเวลาและรายได้ที่ขาดหายไปในระหว่างที่กำลังซ่อมแซม การประกันภัยโจรกรรม การประกันภัยสำหรับเงินภายในสถานที่เอาประกันภัย การประกันภัยสำหรับกระจก ให้ความคุ้มครองความสูญเสียหรือ ความเสียหายต่อทรัพย์สินดังกล่าว การประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ให้ความคุ้มครองกรณีที่ผู้ประกอบการ มีความรับผิดต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่บุคคลอื่น และการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ให้ความคุ้มครองความสูญเสียหรือความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และอนามัย เนื่องจากอุบัติเหตุ เป็นต้น กรมธรรม์ดังกล่าวที่ SMEs ทำไว้จะเข้ามาบริหารจัดการความเสี่ยงในจุดนี้ทันที นอกจากนี้ ยังมีกรมธรรม์อีกประเภทหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการในยุคปัจจุบันอย่างมาก คือ ประกันภัยไซเบอร์เชิงพาณิชย์ เป็นประกันภัยความเสี่ยงที่ธุรกิจ องค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ อาจเกิดความสูญเสียหรือความเสียหายขึ้นจากการถูกโจรกรรม หรือกรรโชกทรัพย์หรือคุกคามหรือละเมิดด้านความปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์ แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดในการทำประกันภัย คือ SMEs จะต้องมีความเข้าใจว่าธุรกิจของตนเองมีความเสี่ยงในเรื่องใดบ้าง เพื่อที่จะสามารถเลือกการประกันภัยที่เหมาะสมกับความเสี่ยงภัยที่ธุรกิจของตนที่จะต้องเผชิญ นอกจากนี้ นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่สำนักงาน คปภ. ภาค สำนักงาน คปภ. จังหวัด และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย หลายจังหวัด ทำ MOU เพื่อบูรณการความร่วมมือสร้างวัคซีนให้กับระบบเศรษฐกิจในระดับพื้นที่
เลขาธิการ คปภ. กล่าวอีกว่า ก่อนถึงวันจัดงานเสวนา 1 วัน ตนและคณะผู้บริหารของสำนักงาน คปภ. ได้ลงพื้นที่สำรวจ SMEs แหล่งท่องเที่ยว และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พบว่า เริ่มมีนักท่องเที่ยวมาเยือนเมืองกรุงเก่าแบบไปเช้า-เย็นกลับ เพื่อชมโบราณสถาน ชิมของอร่อย กันคึกคักขึ้น ส่งผลทำให้ SMEs ในพื้นที่เริ่มกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ด้วยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นเมืองหลวงเก่าแก่ของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรม ความรุ่งเรืองของอดีตที่ยิ่งใหญ่ของเมืองและเรียงรายด้วยวัดวาอารามที่ศักดิ์สิทธิ์ ศิลปวัฒนธรรม ขนบประเพณีที่เป็นรากเหง้ามาจากกรุงเก่า ตลอดจน ความงดงามทั้งด้านบรรยากาศและโบราณสถานที่โอบล้อมด้วยลำน้ำที่สดชื่นรอบริมฝั่ง และการใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย พอเพียง จึงทำให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กลายเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวที่น่าสัมผัสเสน่ห์กลิ่นอาย ซึ่งในแต่ละปีจังหวัดได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีการประกอบธุรกิจ SMEs ในพื้นที่อย่างหลากหลาย เช่น ธุรกิจแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชน ร้านอาหาร ร้านขนมของฝาก ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก เป็นต้น การประกอบอาชีพของประชาชนมีการทำเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็น ข้าวนาปี มันสำปะหลัง อ้อย มะม่วง และทำปศุสัตว์ โดยมีสัตว์เศรษฐกิจ เช่น ไก่ สุกร โค และสัตว์น้ำจืด เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน คปภ. จึงเล็งเห็นความสำคัญในการนำระบบประกันภัยเข้ามาเป็นตัวช่วยในการบริหารจัดการความเสี่ยงภัยต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ ซึ่งจะช่วยเหลือ SMEs เกษตรกร รวมถึงประชาชนทั่วไป บริหารความเสี่ยงภัยหากเกิดเหตุการณ์ใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการสร้างความรู้และความเข้าใจที่ดีของ SMEs ในมุมมองของการทำประกันภัย เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประกันภัยว่ามีทั้งประเภท ที่กฎหมายบังคับให้ต้องทำ และประเภทสมัครใจ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้เหมาะสมกับความเสี่ยง รวมถึงความเข้าใจเกี่ยวกับเงื่อนไขต่าง ๆ ของกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อเป็นการยกระดับการประกอบธุรกิจ ให้มีความมั่นคง ยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งสำนักงาน คปภ. มีความพร้อมที่นำระบบประกันภัยมาสร้างเกราะคุ้มกันให้กับผู้ประกอบการและประชาชน
“การประกันภัยเป็นเรื่องใกล้ตัว และแทรกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบอาชีพ รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวัน ของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ที่มีสายป่านไม่ยาวมาก หากเลือกใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สำนักงาน คปภ. มีภารกิจสำคัญในการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัย ตลอดจนช่วยให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยได้ ในขณะเดียวกันถ้าหากทำประกันภัยแล้วไม่ได้รับความเป็นธรรม สำนักงาน คปภ. ก็มีหน่วยงานคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย โดยมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ทั้งที่สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก และสำนักงาน คปภ. ภาค ( 9 ภาค)/จังหวัด (69 จังหวัดทั่วประเทศ) โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ทั้งนี้ หากมี ข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลด้านประกันภัยเพิ่มเติม ได้ที่สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
More Stories
OCEAN LIFE ไทยสมุทรประกันชีวิต จัดกิจกรรม “OCEAN LIFE Songkran Festival 2025
เมืองไทยประกันชีวิต ออกแคมเปญ “ShieldLife” ช่วยรับมือความเสี่ยงให้ “เบาใจ” ได้มากขึ้น
คปภ. ประสานภาคธุรกิจ เร่งประเมินความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว