1 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

สังคมเครียดง่ายทำคนไทยหัวใจอ่อนแอ แพทย์ รพ.วิมุต เตือน…โรคหัวใจเป็นเรื่องใกล้ตัว

โรคหัวใจ หนึ่งในโรคยอดฮิตที่เรามักคิดว่าจะเกิดในผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ใครจะรู้ว่าวันนี้ คนไทยอายุประมาณ 30 ปีก็เริ่มป่วยด้วยโรคหัวใจกันแล้ว ซึ่งนอกจากปัจจัยภายในอย่างกรรมพันธุ์และความผิดปกติแต่กำเนิด ปัจจัยภายนอกก็ร้ายไม่แพ้กัน และทำให้คนหนุ่มสาวก็ต้องเริ่มระวังโรคหัวใจกันแล้ว 

ทำความรู้จักโรคหัวใจคืออะไรกันแน่?

“เราสามารถแบ่งโรคหัวใจได้หลายแบบขึ้นกับว่าจะพิจารณาในแง่พยาธิสภาพ การทำงานที่ผิดปกติ หรือตามชนิดของโรค” นพ. ศรัณย์พงศ์ ภิบาลญาติ อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคหัวใจ ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลวิมุต กล่าว “ชนิดที่เจอบ่อย ๆ ได้แก่ โรคหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เกี่ยวข้องกับทางพันธุกรรม(กรรมพันธุ์) โรคลิ้นหัวใจตีบหรือตัน โรคหลอดเลือดแดง ฯลฯ ซึ่งจะเห็นได้ว่าโรคหัวใจมีหลายชนิดและยากที่จะจำแนกให้คนทั่วไปเข้าใจได้ ทางที่ดีคือให้แพทย์เฉพาะทางทำการตรวจวินิจฉัยเพื่อการระบุโรคได้อย่างถูกต้อง”

สถานการณ์โรคหัวใจในประเทศไทยเริ่มน่าเป็นห่วงมากขึ้น ข้อมูลสถิติของโรงพยาบาลวิมุตชี้ว่าโรคหัวใจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทยในทุกปี เฉลี่ยประมาณปีละกว่า 70,000 ราย คิดง่าย ๆ คือ ชั่วโมงละเกือบ 7 รายเลยทีเดียว!

“ผู้ป่วยที่มารับการบริการคลินิกโรคหัวใจที่วิมุตอยู่ในช่วงอายุ 30-65 ปี ส่วนใหญ่ที่ตรวจพบมักเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเรื้อรังและโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมถึงโรคความดันโลหิตสูง รองลงมาเป็นโรคหัวใจล้มเหลวเรื้อรังและโรคลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วรุนแรง” นพ. ศรัณย์พงศ์ ภิบาลญาติ กล่าว “เนื่องจากความซับซ้อนของโรคหัวใจที่กล่าวไปข้างต้น เราจึงควรหมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอ เช่น ถ้ามีอาการใจสั่น ใจเต้นเร็วหรือสะดุด จนเหมือนจะวูบหรือเป็นลม หรือมีอาการเจ็บหน้าอก ก็ควรรีบมาตรวจโดยเร็ว สำหรับคนที่ใส่ Smart watch แล้วพบว่าหัวใจเต้นเร็วกว่า 120 ครั้งต่อนาที แม้ในตอนที่อยู่เฉย ๆ ไม่ได้ออกกำลังกาย ก็ถือว่ามีความผิดปกติและต้องรีบมาพบแพทย์เช่นกัน”

เครียดง่ายเสี่ยงโรคหัวใจจริงหรือ?

“จริง เพราะข้อมูลงานวิจัยชี้ว่า ผู้ที่มีความเครียดมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ไม่ว่าจะเป็นทางตรงจากภาวะความดันโลหิตสูงจนเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือในทางอ้อมคือจากการเกิดโรคอ้วนและการนอนหลับผิดปกติ ซึ่งอาจส่งผลต่อโรคหัวใจ” นพ. ราชรัฐ ปวีณพงศ์ อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคหัวใจ ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลวิมุต กล่าว “โดยเฉพาะโรคหัวใจชนิด Broken heart Syndrome (Takotsubo Cardiomyopathy) ซึ่งสัมพันธ์กับความเครียดโดยตรง เชื่อว่าเกิดจากฮอร์โมน Catecholamine ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้การบีบตัวของหัวใจแย่ลง ต้องรักษาโดยการใช้ยาร่วมกับการแก้ไขสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดนั้น”

สำหรับคนที่เกิดอาการวูบหรือหน้ามืดบ่อย ๆ นั้นมีหลายสาเหตุด้วยกัน แต่สาเหตุที่สำคัญและอันตราย ได้แก่ โรคหัวใจและโรคสมอง “อาการวูบจากโรคหัวใจ ได้แก่ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ฯลฯ ผู้ป่วยมักมีอาการแน่นหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย หรือหัวใจเต้นเร็วก่อนเกิดอาการวูบ ส่วนอาการวูบจากโรคสมอง ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดศีรษะรุนแรง แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด อาเจียน ชักเกร็ง อาจมีปัสสาวะหรืออุจจาระราดร่วมด้วย” นพ. ราชรัฐ ปวีณพงศ์ ให้คำแนะนำ “วิธีปฐมพยาบาลคนมีอาการวูบ หากผู้ป่วยสามารถตอบสนองได้ ให้นอนราบยกขาสูง คลายเสื้อผ้าและเข็มขัดให้หลวม ใช้ยาดมหรือพัดช่วย แต่ถ้าผู้ป่วยไม่ตอบสนองหรือไม่หายใจ ให้รีบทำการปั๊มหัวใจ (CPR) และขอความช่วยเหลือ โทร 1669 ทันที” 

แนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคหัวใจในปัจจุบัน

ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยโรคหัวใจที่ถูกต้องเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งทางโรงพยาบาลวิมุตมีศูนย์หัวใจและหลอดเลือดพร้อมอุปกรณ์เครื่องมือการตรวจที่ทันสมัย อาทิ เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง เครื่องวิ่งสายพาน เครื่องตรวจคราบหินปูนที่หลอดเลือด เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ฯลฯ รวมถึงบริการหัตถการต่าง ๆ ทั้งการสวนหลอดเลือดหัวใจและการใส่บอลลูน การใส่อุปกรณ์ปิดผนังหัวใจ การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ ไปจนถึงการผ่าตัดหัวใจและหลอดเลือดเพื่อการรักษาที่ตรงจุดและมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งทั้งหมดดำเนินงานโดยทีมแพทย์เฉพาะทางและบุคลากรผู้เชี่ยวชาญร่วมกันหลายฝ่าย เพื่อให้ผู้ป่วยมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยและได้รับผลลัพธ์ทางการรักษาที่ดีที่สุด

Skip to content