25 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

ส่วย สินบน สินน้ำใจ ภัยร้ายขวางชาติเจริญ

สารพัดเรื่อง ส่วย ๆ ที่คนไทยได้แต่ยิ้มมุมปาก และรอดูการลงดาบว่าจะฟาดถึงตัวจริง หรือเก็บได้แค่ตัวเล็กตัวน้อย  ไม่ว่าจะเป็น “ส่วยรถบรรทุก” ใช้สติกเกอร์เป็นสัญลักษณ์ มองผิวเผินเหมือนติดเล่น ๆ แต่กลับกลายเป็นสติกเกอร์ขำขันที่มีมูลค่าหลักพันหลักหมื่น เพื่อปูทางรอดสำหรับลักลอบบรรทุก    น้ำหนักเกิน

“ส่วยบ่อนออนไลน์” ถูกเปิดเผย พร้อมวลีเด็ด “เป้รักผู้การเท่าไหร่ เป้เขียนมา” เรื่องคาวฉาวโฉ่สะเทือนวงการตำรวจ ฉุดดึงภาพลักษณ์ประเทศให้ตกต่ำ เพราะมีนายตำรวจระดับ   ผู้การจังหวัดถูกกล่าวหาในคดีนี้ เป็นรูปแบบของการเรียกรับเงินจากธุรกิจพนันผิดกฎหมาย มูลค่ารวม 140 ล้านบาท

“เจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่นเรียกรับสินบน” จากข่าวการจับกุมปลัดอำเภอในจังหวัดกระบี่ โดยมีพฤติการณ์เรียกรับเงิน จำนวน 100,000 บาท เพื่อแลกกับการต่อใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมประเภท 2 (ให้บริการห้องพักและห้องอาหาร) ตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 ซึ่งมีค่าธรรมเนียมใบอนุญาตโรงแรม จำนวน 20,000 บาท ช่องว่างของดุลพินิจที่เรียกเงินเข้ากระเป๋าเจ้าหน้าที่รัฐที่มีพฤติการณ์ “โกง” ได้ปีละหลายล้านบาท สะท้อนความเสื่อมถอยของระบบราชการ

“แฉ เจ้าหน้าที่เขตโยธาเรียกรับสินบน ขออนุญาตก่อสร้าง” เรื่องร้อนฉ่าของ กทม. ที่พบเจ้าหน้าที่ฝ่ายโยธา ของสำนักงานเขตแห่งหนึ่ง ไปเรียกรับผลประโยชน์ค่าใบอนุญาตก่อสร้าง จากขั้นตอนตามปกติ 50,000 บาท แต่เรียกรับสินบนเพิ่มเป็น 300,000 บาท  เรื่องที่เกิดขึ้นมีภาพถ่ายพร้อมหลักฐานการเรียกเงินสินบน 

“ตม.เอื้อจีนเทา” สะท้อนความเสื่อมถอยในแวดวงเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เปิดช่องให้กลุ่มคนจากต่างชาติแสวงหาประโยชน์ รวมกลุ่มเป็นอั้งยี่ซ่องโจรกระทำผิดกฎหมาย โดยมีเจ้าหน้าหน้าที่รัฐเป็นผู้เปิดทางอำนวยความสะดวก เสมือนเรียกโจรเข้าบ้านตัวเอง เพียงเพราะหวังประโยชน์ส่วนตน

นี่เป็นเพียงบางส่วน ที่คงไม่ใช่เคสแรก และคงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนในพื้นที่ ที่ต้องตกอยู่ใน     ชะตากรรมจำใจ จำทน จำยอม หรือต้องปิดตาข้างเดียวแสร้งไม่รู้ไม่เห็น อีกทั้งผู้ประกอบการนิติบุคคลหลายรายต่างปิดหูปิดตายอมเดินตามเกมส์นำธนบัตรแลกกับความสะดวก ด้วยเล็งเห็นว่าจะเป็นวิธีการที่ช่วยให้การทำธุรกิจเดินหน้าไปได้ไวมากขึ้น จนกลายเป็นวัฒนธรรมฝังรากลึก ที่มีทั้งคน “ยอมให้” และคน “อยากรับ”

“ดุลพินิจ” ช่องโหว่ของปัญหาส่วย สินบนเมืองไทย

          หากจะมองดูว่า เพราะเหตุใดปัญหาสินบนถึงรอดตา และยังคงเป็นช่องโหว่ที่เจ้าหน้าที่รัฐผู้ไม่เคยตระหนักถึงธรรมาภิบาล จึงได้มีจังหวะ และโอกาสเรียกรับสินบนอยู่บ่อยครั้ง ก็สามารถเคาะต้นเหตุของปัญหาได้จากคำว่า “ดุลพินิจ” คำสั้น ๆ ที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติปีละหลายพันล้าน ทั้งยังเป็นปมปัญหาที่สกัดกั้นความเจริญก้าวหน้าของการพัฒนาชาติบ้านเมือง ประหนึ่งมีฝีพายที่พยายามพายไปข้างหน้า แต่ก็มีคนอีกครึ่งลำเรือที่หย่อนเท้าต้านแรง ถ่วงความเจริญให้ไปต่อได้ยากลำบาก เพียงเพราะสนใจแต่ “เงิน” ที่จะเข้ากระเป๋าตัวเองเดือนละเท่าไหร่

“อำนาจดุลพินิจ” จึงเรียกได้ว่า เป็น “อำนาจ” ที่กฎหมายให้แก่ฝ่ายปกครอง โดยเปิดช่องให้              ฝ่ายปกครองตัดสินใจได้อย่างอิสระที่จะเลือกกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนด นั่น หมายความว่า มีหลายกิจกรรมที่เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจในการพิจารณาได้ว่า “ยินยอมให้ผ่าน” หรือ “ไม่ยินยอมให้ผ่าน” ตามความเหมาะสม ซึ่งพบว่า มีงานบริการภาครัฐที่เกี่ยวพันกับดุลพินิจ เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ และประชาชนจำนวนมาก อาทิ ด้านการลงทุน ยกตัวอย่างเช่น การขอรับสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมการลงทุน การช่วยประสานงานและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ การขออนุญาตก่อสร้างอาคารการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การขออนุญาตประกอบกิจการ การต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการ เป็นต้น ด้านการค้า ยกตัวอย่างเช่น การขอบัตรผู้นำเข้า – ส่งออกสินค้า การขอใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พิธีการศุลกากร (เช่น นำเข้า – ส่งออก) เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้ ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับดุลพินิจเจ้าหน้าที่รัฐทั้งสิ้น จึงไม่แปลกที่สิ่งนี้จะกลายเป็น “จุดอ่อน” และสั่งสมจนกลายเป็นวัฒนธรรมการจ่ายแลกความสะดวกสบาย และแน่นอนว่าปัญหาเจ้าพนักงานของรัฐใช้ดุลพินิจโดยมิชอบเพื่อแสวงหาประโยชน์หรือเรียกรับค่าตอบแทนหรือสินบนมิใช่ส่งผลกระทบภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศและส่งผลต่อค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศเป็นอย่างมาก เพราะปลาที่เน่าเพียงไม่กี่ตัว สามารถฉุดดึงประเทศให้ตกลงมาได้อย่างร้ายกาจ และดูเหมือนว่ากระบวนการยุติธรรมจะสอยลงมาได้แต่ปลาซิวปลาสร้อย           ไม่สามารถสาวถึงตัวการใหญ่ได้ จึงไม่สามารถล้างบางวงการส่วย สินบนเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างสะอาดเอี่ยม

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็ไม่หยุดยั้งกับความพยายามต่อสู้กับปัญหาส่วยและสินบนอย่างจริงจัง เพราะยังมีกลุ่มองค์กรอิสระ ตลอดจนสื่อมวลชน และประชาชนที่ทำหน้าที่ร่วมขับเคลื่อนแก้ปัญหาสินบนในประเทศ อย่างเช่น สำนักงาน ป.ป.ช. ที่ให้ความสำคัญในการป้องปรามช่องโหว่จากดุลพินิจ โดยมอบหมายให้ คณะอนุกรรมการศึกษาการควบคุมการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐในการปฏิบัติงานที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เพื่อจัดทำออกมาเป็นมาตรการป้องกันการทุจริต รวมถึงได้จัดให้มีการปรับปรุง การปฏิบัติราชการเพื่อป้องกัน หรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ที่ได้เสนอข้อเสนอแนะการควบคุมการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐในการปฏิบัติงานที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในรูปแบบของหลักเกณฑ์ ประกาศ หรือคู่มือ เพื่อเป็นแนวทางการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐที่ชอบด้วยกฎหมาย และให้เจ้าหน้าที่ยึดถือเป็นหลักในการใช้ดุลพินิจและควรมีหลักฐานหรือเอกสารยืนยันว่ามีการใช้ดุลพินิจอย่างไร นอกจากนี้ จะต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐในการอนุมัติ อนุญาต โดยเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบ ตามสื่อในช่องทางต่าง ๆ ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย และเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและแสดงความคิดเห็นได้

สอดคล้องกับทฤษฎีของศาสตราจารย์โรเบิร์ต คลิตการ์ด (Robert Kitgaard) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันที่มีผลงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องคอร์รัปชันซึ่งเป็นที่ยอมรับ ได้เสนอกรอบแนวคิดเกี่ยวกับปัญหาการทุจริตในรูปแบบของสมการที่เรียกว่า “สมการคอร์รัปชัน” ว่า

C                 =        M                 +                  D              –             A

   (Corruption)              (Monopoly)                      (Discretion)           (Accountability)

     การทุจริต                  การผูกขาด                        การใช้ดุลพินิจ          กลไกความรับผิดชอบ

 

เป็นสมการที่แสดงให้เห็นว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันนั้นจะเพิ่มขึ้นหากระบบเศรษฐกิจที่มีการผูกขาดและการใช้ดุลยพินิจสูง ในทางตรงกันข้าม ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันจะลดลงหากสังคมมีกลไกความรับผิด        รับซอบที่ดี

จึงเห็นได้ว่า กลไกการใช้ดุลพินิจจะดำเนินไปได้อย่างโปร่งใสหากประกอบไปด้วยกลไกความรับผิดชอบ นอกจากนี้ เพื่อให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพ ทาง ป.ป.ช. ยังเล็งเห็นว่า การลดใช้ดุลพินิจโดยนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาควบคุมกระบวนพิจารณาอนุญาตดูจะเห็นผลลัพธ์ที่ดีมากกว่า จึงได้มีการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการบริการประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการใช้อำนาจดุลพินิจของเจ้าพนักงานรัฐโดยมิชอบ เป็นการทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการนำเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมาใช้ในกระบวนการอนุมัติ อนุญาต เป็นต้น เพื่อลดช่องทางหรือโอกาสในการติดต่อระหว่างผู้รับบริการและเจ้าหน้าที่ผู้อนุญาตโดยตรง  ซึ่งจะช่วยให้การอนุมัติ อนุญาต เป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และรวดเร็วยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต กับทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) พัฒนาระบบเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ สำหรับใช้ในการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต ตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน รวมถึงการจัดทำแนวทางและคู่มือในการใช้ดุลพินิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้หน่วยงานของรัฐ            ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ดุลพินิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐที่มอบอำนาจและภารกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกหน่วยงาน กำหนดแนวทางและจัดทำคู่มือในการใช้ดุลพินิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการอนุมัติ อนุญาต เพื่อให้มีมาตรฐานในการใช้ดุลพินิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

หรือกระทั่งหน่วยงานกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นหน่วยงานที่มีความเสี่ยงในเรื่องการเรียกรับสินบน ก็ยังได้เห็นทีท่าเอาจริงเอาจัง ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ออกมาแสดงความไม่พอใจหลังพบข่าวเจ้าหน้าที่เรียกรับสินบนการขอใบอนุญาตก่อสร้าง พร้อมยอมรับว่าในกระบวนการทำงานของ กทม.มีส่วนที่ต้องใช้ดุลพินิจอยู่หลายส่วนงาน ซึ่งก็เป็นช่องโหว่ให้เจ้าหน้าที่ที่จ้องกระทำผิดออกมากระทำการทุจริตได้โดยง่าย จึงออกมาตรการสำคัญ วางกรอบแนวทางไว้เพื่อป้องกันการทุจริตในกระบวนการทำงานของกรุงเทพมหานคร ได้แก่

  1. จริงจังกับการห้ามเรียกเก็บส่วย และปรับบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืน ทั้งในระดับผู้บริหารและระดับปฏิบัติการ โดยผ่านการตรวจสอบจากทั้งโครงการสร้างการตรวจสอบภายในของ กทม. และการรับฟัง การร้องเรียนและการแจ้งปัญหาของประชาชน
  2. พัฒนาระบบติดตามการดำเนินการและขออนุญาต (Tracking System) เพื่อให้การขออนุญาตต่าง ๆ โปร่งใส กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการรวม 45 วัน ผลักดันการยื่นเอกสารในรูปแบบจุดเดียวจบ หรือ One Stop Service
  3. นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าพนักงาน เช่น การนำระบบเข้ามา ช่วยคำนวณข้อกำหนดของการก่อสร้าง หรือการนำระบบมาพิจารณาการขออนุญาตตรวจสอบแบบแปลน การก่อสร้าง เป็นต้น
  4. ลดการติดต่อกันโดยตรงระหว่างผู้ขออนุญาตและข้าราชการ เปลี่ยนเป็นการติดต่อกันผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเก็บหลักฐานการติดต่อ และลดความเป็นไปได้ในการทุจริต

ท้ายที่สุด มาตรการต่าง ๆ อาจเข้ามาช่วยลดปัญหาส่วย สินบนได้เพียงระดับหนึ่ง แต่อีกทางหนึ่งที่จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังต้องขึ้นอยู่กับกระบวนการยุติธรรม ที่ต้องมีบทลงโทษที่หนัก      และรวดเร็ว ไม่ใช่เพียงแค่สั่งย้ายแล้วหายเงียบไป ผ่านเวลาไปเนิ่นนานจนผู้คนลืมเลือน เรื่องถึงกลับมา       ถูกกล่าวถึงอีกครั้งว่าเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาล เพราะช่วงเวลาหลายปีที่เว้นวรรคไป ล้วนเต็มไปด้วยคำถาม ว่ามีกระบวนการใต้น้ำเคลียร์ทางให้ใครรอดหรือไม่ แน่นอนว่ามันไม่ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และอย่าลืมว่า ทุกปัญหาส่วย อยู่ภายใต้สายตาของนานาประเทศที่จับตามอง

เรื่องนี้จึงเป็นบททดสอบผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำของหน่วยงานภาครัฐ ไปจนถึงผู้นำประเทศ ว่าจะกล้าออกโรงสู้กับปัญหาส่วย สินบน ที่รู้ๆกันอยู่ว่ามีกลุ่มอิทธิพลคนมียศมีศักดิ์ซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังได้หรือไม่ หรือจะทำได้แค่เล่นละครปาหี่แสร้งว่าเอาจริงเอาจัง แต่เบื้องหลังกลับช่วยกันปกปิด และยังปล่อยให้เป็นปัญหาเรื้อรังทำลายชาติบ้านเมือง…

Skip to content