นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เผยภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตในช่วงครึ่งแรกปี 2566 ระหว่าง มกราคม – มิถุนายน มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 300,005 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.78 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2565 โดยจำแนกเป็น เบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ 86,802 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.93 และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป 213,203 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.82 โดยมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ร้อยละ 82 คาด ภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตปี 2566 จะมีเบี้ยประกันภัยรับรวมประมาณ 612,500 – 623,500 ล้านบาท เติบโตอยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 0 ถึง 2
สำหรับเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ ประกอบด้วย
1.) เบี้ยประกันภัยรับปีแรก 56,456 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.44
2.) เบี้ยประกันภัยจ่ายครั้งเดียว 30,346 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 0.03
หากจำแนกเบี้ยประกันภัยรับรวมแยกตามช่องทางการจำหน่ายจะปรากฏ ดังนี้
- การขายผ่านช่องทางตัวแทนประกันชีวิต (Agency) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 152,506 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.23 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50.83
- การขายผ่านช่องทางธนาคาร (Bancassurance) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 117,482 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.43 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39.16
- การขายผ่านช่องทางนายหน้าประกันชีวิต (Broker) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 16,642 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.17 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.55
- การขายผ่านช่องทางการตลาดแบบตรง (Direct marketing) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 6,859 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 2.02 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.29
- การขายผ่านช่องทางดิจิทัล (Digital) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 482 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น
ร้อยละ 25.64 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.16 - การขายผ่านช่องทางอื่น (Others) เช่น การขาย Worksite, การขายผ่านการออกบูธ, การขายผ่านร้านค้าสะดวกซื้อ เป็นต้น มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 6,035 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.23 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.01
สำหรับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมในช่วงครึ่งแรก ปี 2566 และมีอัตราการเติบโตมากขึ้น ได้แก่ สัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพและคุ้มครองโรคร้ายแรง ที่เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.34 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.01 ซึ่งหลัก ๆ มาจากการที่ประชาชนเริ่มให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น อันเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี จึงทำให้สัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพและคุ้มครองโรคร้ายแรงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ประชาชนให้ความสนใจ รวมถึงแบบประกันบำนาญ ที่เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.84 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.71 ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากสังคมสูงวัย (Aged Society) และมาจากค่านิยมของการแต่งงานช้า มีบุตรน้อยลง ทำให้คนทั่วไปเริ่มตระหนักถึงการออมเงินไว้สำหรับดูแลตัวเองในช่วงหลังเกษียณมากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงเป็นปัจจัยเร่งสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจรวมถึงแต่ละบริษัทประกันชีวิต จะต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และสามารถตอบโจทย์บนความต้องการและไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคลมากยิ่งขึ้น
ขณะที่ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit- Linked +Universal Life) เติบโตลดลงร้อยละ 13.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 17,201 ล้านบาท และมีสัดส่วนเมื่อเทียบเบี้ยรับรวมทั้งหมดร้อยละ 5.73 ซึ่งมาจากความไม่แน่นอนของทิศทางเศรษฐกิจโลกและภายในประเทศ รวมถึงความผันผวนของอัตราผลตอบแทนและภาวะอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถรับความผันผวนจากการลงทุน จึงทำให้ชะลอการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุนออกไปก่อน
สำหรับทิศทางภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 มีปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้ภาคธุรกิจประกันชีวิตมีอัตราการเติบโตเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี โดยคาดการณ์ว่าภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตปี 2566 จะมีเบี้ยประกันภัยรับรวมประมาณ 612,500 – 623,500 ล้านบาท เติบโตอยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 0 ถึง 2 ด้วยอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ประมาณร้อยละ 81 ถึง 82
ซึ่งปัจจัยบวกที่จะสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ คือ ประชาชนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันชีวิตและสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพหรือโรคร้ายแรงมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะมาจากแนวโน้มค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้น ยังมาจากความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ เช่น Covid-19 และมาจากภาคธุรกิจที่ออกนโยบายและมีการบังคับใช้แบบมาตรฐานใหม่ของสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพ (New Health Standard) ที่มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้ประชาชนสามารถเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์และเลือกความคุ้มครองได้ตามที่ต้องการได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ประชาชนเริ่มตระหนักในการทำประกันชีวิตแบบบำนาญ (Pension) มากขึ้น จากการที่ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัย
รวมถึงที่ทางภาครัฐให้การสนับสนุนเรื่องมาตรการลดหย่อนภาษีของประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันบำนาญ และมีมาตรการผ่อนคลายการกำกับดูแลให้เป็น Principle-Base มากขึ้น โดยกรอบแนวปฏิบัติสามารถปรับได้ตามความเหมาะสมกับสภาวะตลาดในปัจจุบัน เพื่อให้ภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตยังสามารถเติบโตได้แม้ว่าจะอยู่ในสภาวะวิกฤต นอกจากนี้ภาคธุรกิจได้มีการส่งเสริมให้บริษัทประกันชีวิตมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและขีดความสามารถทางการแข่งขันให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตามธุรกิจประกันชีวิตยังคงต้องติดตามปัจจัยท้าทายต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด อาทิ ความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลต่อระดับอัตราดอกเบี้ย (Yield Curve) ที่ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีทิศทางที่ปรับสูงขึ้นแต่ยังต้องมีความระมัดระวังในการเลือกลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภท สงครามการค้าและความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อหรืออำนาจซื้อของประชาชน ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองทั้งในและต่างประเทศที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่สามารถสร้างผลกระทบและมีผลต่อเสถียรภาพของระบบการประกันชีวิตและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นอกจากนี้ยังรวมถึงการเริ่มใช้กฎระเบียบและมาตรฐานสากลใหม่ เช่น มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 17 (TFRS 17) การปฏิบัติตามกฎหมายป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีของสหรัฐอเมริกา (FATCA) มาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ (CRS) และการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ที่ส่งผลให้แต่ละบริษัทประกันชีวิตจะต้องปรับการดำเนินงานให้สอดคล้องกับหลักการใหม่ดังกล่าว ซึ่งต้องใช้ทั้งงบประมาณ เวลา และบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจ
ดังนั้น สมาคมประกันชีวิตไทยจึงมีแผนดำเนินงานเพื่อเตรียมพร้อมรับมือต่อปัจจัยท้าทายรอบด้าน โดยนำแนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน (ESG) เพื่อประกอบการพิจารณาลงทุนและดำเนินงาน ซึ่งให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และการกำกับดูแล (Governance) มาประยุกต์ใช้เพื่อธุรกิจประกันชีวิตไทยมีความยั่งยืน การส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตรูปแบบใหม่ รวมถึงการสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้พัฒนากระบวนการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการนำเสนอขาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและยกระดับในการสร้างความพึงพอใจและความเชื่อมั่นของผู้เอาประกันภัยให้มากขึ้น การสร้างองค์ความรู้เรื่องการป้องกันและรู้เท่าทันเทคโนโลยีให้แก่ประชาชน รวมถึงการดำเนินงานเชิงรุกในการขอปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้เป็นปัจจุบัน ผลักดันระบบการจัดสอบความรู้ ระบบออกใบอนุญาตในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์และระบบอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อให้บริษัทสมาชิกและบุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ธุรกิจมีการเติบโตอย่างยั่งยืน มีการแข่งขันอย่างเสรี ภายใต้ธรรมาภิบาลและการดูแลของหน่วยงานกำกับ
ที่สำคัญ สมาคมประกันชีวิตไทยมีนโยบายที่มุ่งให้แต่ละบริษัทประกันชีวิตจะต้องมีการดำเนินธุรกิจด้วยการบริหารจัดการความเสี่ยงรอบด้าน ทั้งก่อนและหลังการรับประกันภัย และมีฐานะทางการเงินที่มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนตามความเสี่ยง (CAR Ratio) สูงกว่าระดับเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามเกณฑ์ที่กำหนด (Supervisory CAR) เพียงพอต่อการปฏิบัติตามภาระผูกพันของกรมธรรม์ประกันภัยทุกกรมธรรม์ที่ออกให้แก่ผู้เอาประกันภัย และพร้อมที่จะให้ความคุ้มครองแก่ผู้เอาประกันภัยจนกว่าจะครบกำหนดสัญญา ดังจะเห็นได้จาก ใน ไตรมาสที่ 1/2566 จากข้อมูลบนเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. ภาคธุรกิจประกันชีวิตมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนตามความเสี่ยง อยู่ที่ร้อยละ 385 ซึ่งสูงกว่าอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนที่ใช้ในการกำกับ (Supervisory CAR) จึงขอให้ผู้เอาประกันภัยทุกท่านเชื่อมั่นว่าธุรกิจประกันชีวิตมีความมั่นคง แข็งแกร่ง และยึดมั่นคำสัญญาตามข้อผูกพันในกรมธรรม์ประกันชีวิตทุกกรมธรรม์ที่ออกให้แก่ผู้เอาประกันภัย นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวในตอนท้าย
More Stories
คปภ. ลงพื้นที่ Road Show ให้ความรู้ด้านการประกันภัยและการฉ้อฉลประกันภัย
สมาคมประกันวินาศภัยไทย จัดพิธีทำบุญเนื่องในวันครบรอบ 57 ปี
OCEAN LIFE ไทยสมุทร ขยายแนวคิด HEALTHIVERSE