ภายใต้งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษ ระยะที่ 1
(วันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม 2566) เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องราชเทวีแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมเอเชีย ราชเทวี กรุงเทพมหานคร การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9) ภายใต้งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่าย ทางพิเศษ ระยะที่ 1 โดยมี นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นประธานการประชุม วัตถุประสงค์การจัดประชุมเพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้เสียที่มีต่อโครงการ
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กทพ. ได้ศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ของโครงการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางพิเศษศรีรัช ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9 ซึ่งประสบปัญหาการจราจรอย่างหนักเข้าขั้นวิกฤตทั้งในและนอกช่วงเวลาเร่งด่วน โดยพื้นที่ศึกษาของโครงการครอบคลุมพื้นที่จังหวัดนนทบุรี คือ อำเภอเมืองนนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ได้แก่ เขตบางซื่อ เขตจตุจักร เขตพญาไท เขตดุสิต เขตราชเทวี เขตดินแดง และเขตห้วยขวาง ตลอดระยะเวลาการศึกษาโครงการ ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารของโครงการอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะต่อโครงการ
ทั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่าโครงการมีรูปแบบเป็นทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 ซ้อนทับอยู่บนทางพิเศษศรีรัช มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วานไปจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณถนนพระราม 9 รวมระยะทาง 17 กิโลเมตร มีด่านเก็บค่าผ่านทางระบบ MTC/ETC จำนวน 2 ตำแหน่ง ได้แก่ ด่านเก็บค่าผ่านทางบริเวณประชาชื่น และด่านเก็บค่าผ่านทางบริเวณมักกะสัน มีทางขึ้น-ลง จำนวน 3 ตำแหน่ง ได้แก่ ทางขึ้น-ลงจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วาน ทางขึ้น-ลงบริเวณย่านพหลโยธิน และทางขึ้น-ลงจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณโรงพยาบาลพระราม 9 และตำแหน่งที่มีเฉพาะทางลง จำนวน 1 ตำแหน่ง ได้แก่ ทางลงบริเวณทางแยกต่างระดับมักกะสัน โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างโครงการได้ในปี 2568 และแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในปี 2573 กทพ. มุ่งหวังให้โครงการนี้ ได้มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษอย่างมีประสิทธิภาพ ลดระยะเวลาการเดินทาง และเพิ่มคุณค่าให้กับคุณภาพชีวิต ดังวิสัยทัศน์ของ กทพ. ที่ว่า องค์กรนวัตกรรมเพื่อการเดินทางและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น Innovation for Better Drive and Better Life
More Stories
“วราวุธ” เผย ศรส.พิษณุโลก ช่วยเด็กหญิง 12 ปี ถูกแม่แท้ๆ พาไปขายบริการ หาเงินขัดหนี้รายวัน
คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม ลงพื้นที่ศึกษาดูงานโครงการเคหะชุมชนคลองจั่น
“ประเสริฐ” สั่งการ สคส. ตรวจสอบข่าว ห้างดังถูกแฮกข้อมูลส่วนบุคคล 5 ล้านราย