เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย และผู้บาดเจ็บ 2 ราย ที่จังหวัดชัยภูมิ
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีรถยนต์กระบะตู้ทึบ หมายเลขทะเบียน 3 ฒก 4900 กรุงเทพมหานคร ชนท้ายรถยนต์ใช้เพื่อการเกษตร (อีแต๋น) หมายเลขทะเบียน ฆจ 510 นครราชสีมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ จำนวน 3 ราย เสียชีวิตที่โรงพยาบาลจัตุรัส จำนวน 1 ราย และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลชัยภูมิ จำนวน 1 ราย รวมเสียชีวิต จำนวน 5 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 2 ราย รักษาตัวที่โรงพยาบาลชัยภูมิและโรงพยาบาลจัตุรัส เหตุเกิดบนถนนทางหลวง หมายเลข 201 (ชัยภูมิ-สีคิ้ว) หลักกิโลเมตรที่ 71-72 บริเวณหน้าแผงแตงโม หมู่ 4 ตำบลหนองบัวโคก อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 นั้น เบื้องต้นได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกับสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สำนักงาน คปภ. ภาค 3 (ขอนแก่น) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดชัยภูมิ ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ ตรวจสอบการทำประกันภัย พร้อมทั้งติดตามรายงานความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับครอบครัวของผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งได้ลงพื้นที่ทันที โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า รถยนต์กระบะตู้ทึบ หมายเลขทะเบียน 3 ฒก 4900 กรุงเทพมหานคร ทำประกันภัยรถภาคบังคับไว้กับบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 คุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000-500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน และพบข้อมูลการทำประกันภัยรถภาคสมัครใจ ประเภท 1 ไว้กับบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 โดยกรมธรรม์ให้ความคุ้มครองต่อความเสียหายต่อเสียชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก จำนวน 1,000,000 บาทต่อคน 10,000,000 บาทต่อครั้ง ความเสียหายต่อทรัพย์สินจำนวน 2,500,000 บาทต่อครั้ง ความเสียหายตัวรถยนต์ 370,000 บาทต่อครั้ง และให้ความคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพของผู้ขับขี่จำนวน 100,000 บาท ผู้โดยสารจำนวน 2 คน จำนวน 100,000 บาทต่อคน ค่ารักษาพยาบาล จำนวน 100,000 บาทต่อคน และประกันตัวผู้ขับขี่ จำนวน 200,000 บาทต่อครั้ง
สำหรับรถยนต์ใช้เพื่อการเกษตร (อีแต๋น) หมายเลขทะเบียน ฆจ 510 นครราชสีมา จากการตรวจสอบพบว่าได้ทำประกันภัยรถภาคบังคับไว้กับบริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 19 ธันวาคม 2565 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 19 ธันวาคม 2566 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000-500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน ยังไม่พบข้อมูลการทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ
ในการติดตามค่าสินไหมทดแทนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้นั้น เบื้องต้นในกรณีที่รถยนต์กระบะตู้ทึบ หมายเลขทะเบียน 3 ฒก 4900 กรุงเทพมหานคร (ถ้าเป็นฝ่ายผิด) ทายาทโดยธรรมของผู้ขับขี่ และทายาทโดยธรรมของผู้โดยสารที่เสียชีวิตในรถยนต์ใช้เพื่อการเกษตร (อีแต๋น) ทั้ง 5 ราย จะได้รับค่าสินไหมทดแทนรายละ 500,000 บาท จากการทำประกันภัยรถภาคบังคับ และในส่วนของการประกันภัยรถภาคสมัครใจจะได้รับค่าสินไหมทดแทนรายละ 1,000,000 บาท สำนักงาน คปภ. จังหวัดชัยภูมิ ได้ประสานงานบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) แล้ว ซึ่งบริษัทตกลงจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยที่เสียชีวิตและได้มอบหมายให้พนักงานของบริษัทในพื้นที่ติดต่อทายาทผู้เสียชีวิตเพื่อรวบรวมเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วนและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยเร็ว ทั้งนี้สำนักงาน คปภ.จังหวัดชัยภูมิ ได้ตรวจสอบข้อมูลของทายาทโดยธรรมของผู้เสียชีวิต พบว่าส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดชัยภูมิ จึงได้ประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกและติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรมเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม ผลของคดีการเกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้อยู่ในระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อพิสูจน์ทราบต่อไป
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. จะบูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วยหรือไม่ หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกก็จะช่วยประสานงานให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้
“สำนักงาน คปภ.ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนี้ และพร้อมจะดูแลในด้านประกันภัยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลาและกับทุกคน เพื่อความอุ่นใจ ควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย โดยเฉพาะการประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) การประกันภัยรถภาคสมัครใจ และการประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านประกันภัย ติดต่อหรือแจ้งสายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
More Stories
ทิพยประกันภัย ชวนถอดรหัสความสำเร็จ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำครบวงจรแห่งแรกของไทย พลิกฟื้นปากพนัง สู่อู่ข้าวอู่น้ำเมืองคอน
กรุงไทย–แอกซ่า ประกันชีวิต คว้ารางวัล “ขวัญใจมหาชน” ในโครงการ “ตลาดทุนไทย ร่วมส่งพลังความรู้ สู่ประชาชน เฟสที่ 2”
กรุงเทพประกันชีวิต ส่งต่อความ “ใส่ใจ” ให้เยาวชนไทย เดินหน้าโครงการ CSR “สานฝันจากพี่สู่น้อง” ปี 2567