วางโรดแมปดูแลสุขภาพคนไทยแบบยั่งยืน ภายใต้คอนเซ็ปต์ Healthier Generation ยีนดีทุกวัย
สมิติเวช ตอกย้ำแนวคิด #เราไม่อยากให้ใครป่วย ด้วยการเปิดศูนย์สุขภาพดีส่วนบุคคลสมิติเวช ที่มาพร้อมนวัตกรรมตรวจยีน หนึ่งในปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ชู 3 จุดเด่นของนวัตกรรมตรวจยีน ด้วยมาตรฐานระดับ Medical Grade ลงลึกถึงระดับพันธุกรรม แม่นยำด้วยเทคโนโลยี Whole Genome Sequencing รายงานผลตรวจได้กว่า 20,000 ยีน พร้อมตอบโจทย์คนที่ใส่ใจสุขภาพ เน้นดูแลเชิงป้องกันมากกว่ารักษา ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง ที่พร้อมช่วยออกแบบการป้องกันก่อนเกิดโรคแบบเฉพาะบุคคล (Personalized Healthcare)
นพ.ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม รพ.สมิติเวช และรพ.บีเอ็นเอช กล่าวว่า สมิติเวช ยังคงมุ่งมั่นวิสัยทัศน์ #เราไม่อยากให้ใครป่วย เพื่อตอบโจทย์กระแสรักสุขภาพ (Health Conscious) ที่ยังคงมาแรงต่อเนื่อง ด้วยการนำเสนอโซลูชันในการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันอย่างครบวงจร ต่อยอดโซลูชันเดิมที่ส่งเสริมให้ทุกคนดูแลตัวเองแบบ Self Care ด้วยการกินดี และออกกำลังเหมาะสมตามวัย Early Care ป้องกันการเจ็บป่วยด้วยการตรวจสุขภาพ วิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญและระบบ AI มาจนถึง Risk Care รู้ทันก่อนเกิดโรคด้วยแบบประเมินความเสี่ยงแบบเฉพาะบุคคล ทั้งสุขภาพกายและใจ
ล่าสุด สมิติเวช ยกระดับการดูแลสุขภาพคนไทยไม่ให้ป่วยไปอีกขั้น ด้วยการเปิดศูนย์สุขภาพดีส่วนบุคคลสมิติเวช นำนวัตกรรมตรวจยีน เพื่อป้องกันความเสี่ยงโรคภัยไข้เจ็บที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมาแก้ปัญหาสุขภาพของคนไทย โดยการบูรณาการทีมแพทย์จากหลากหลายสาขามาช่วยวางโรดแมปในการดูแลสุขภาพ ภายใต้แนวคิด Healthier Generation ยีนดีทุกวัย
จุดเด่นของนวัตกรรมตรวจยีนของสมิติเวช คือ ความแม่นยำ 99% เป็นไปตามมาตรฐาน Medical Grade โดยใช้เทคโนโลยี WGS หรือ Whole Genome Sequencing ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้สามารถอ่านข้อมูลจากรหัสพันธุกรรมได้มากกว่า 3,000 ล้านตัวอักษร และรายงานผลตรวจได้กว่า 20,000 ยีน อ่านผลโดยแพทย์เวชพันธุศาสตร์และจีโนมิกส์ ห้องปฏิบัติการที่ตรวจได้มาตรฐานระดับสากล CLIA certification และ CAP accreditation สามารถลดความเสี่ยงได้จริง โดยมีทีมแพทย์ Health Coach หากคนไข้มีความเสี่ยงในระดับกลางถึงสูง ทีมแพทย์เฉพาะทางจะช่วยออกแบบไลฟ์สไตล์ เพื่อหลีกเลี่ยง และลดความเสี่ยงการเกิดโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคอัลไซเมอร์ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ หรือการตรวจโรคทางพันธุกรรมก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อผลลัพธ์ทางการรักษาที่ดีที่สุดในแต่ละบุคคล
“ถามว่า การตรวจสุขภาพยังจำเป็นไหม แน่นอนว่า จำเป็น เพราะเป็นการตรวจหาความเสี่ยงของโรคในปัจจุบัน แต่การตรวจยีนเป็นการช่วยพยากรณ์โรคที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะได้สามารถหาทางป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ ทำให้จากที่ต้องเจ็บตัว เสียเงินก้อนโตเพื่อรักษา เสียโอกาสที่จะประกอบอาชีพ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการเติบโตของประเทศ กลายเป็นว่าไม่ต้องใช้เงินมาก และไม่ต้องเจ็บตัว ก็สามารถป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดโรคในอนาคตได้”
ทั้งนี้ในเบื้องต้น สมิติเวชนำร่องเปิดศูนย์สุขภาพดีส่วนบุคคลสมิติเวช ที่โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท และศรีนครินทร์ก่อน หลังจากนี้ มีแผนจะขยายให้ครอบคลุมโรงพยาบาลสมิติเวชทุกสาขา
“เราเป็นองค์กรแห่งคุณค่า ไม่ใช่องค์กรแห่งความสำเร็จ เราถึงมีวิสัยทัศน์ที่ไม่อยากให้ใครป่วย โดยเราพยายามต่อจิ๊กซอว์ให้วิสัยทัศน์นี้เป็นภาพใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ด้วยบริการที่ครบวงจร เพื่อตอบโจทย์การดูแลสุขภาพคนไทยอีก 90% ที่ยังไม่ป่วย ให้มีสุขภาพที่แข็งแรง เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการโหลดแอป Well by Samitivej เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงเบื้องต้นได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อเช็กลิสต์ความเสี่ยงจากการเกิดโรคทางพันธุกรรม(Family Tree Analysis) ที่ออกแบบโดยทีมแพทย์เฉพาะทางที่เชื่อถือได้ตามมาตรฐานสหรัฐฯ ในกรณีที่ไม่มีความเสี่ยง ก็ถือว่าอุ่นใจ แต่ถ้ามีความเสี่ยง ก็สามารถปรึกษา Health Coach ผ่านแอปได้ฟรี 15 นาทีแรก จากนั้นจึงค่อยมาตรวจยีน เพื่อวางโรดแมปในการดูแลสุขภาพ”
ด้านนายแพทย์ นิธิวัฒน์ กิจศรีอุไร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท เสริมว่า 3 ปัจจัยที่ทำให้คนเราเกิดโรค มาจากยีน สิ่งแวดล้อม และการใช้ชีวิต ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของสมิติเวชที่ว่า #เราไม่อยากให้ใครป่วยนวัตกรรมการตรวจยีน จึงถือเป็นอีกหนึ่งโซลูชันที่จะเข้ามาตอบโจทย์การดูแลสุขภาพคนไทยอย่างยั่งยืน โดยการบูรณาการทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ มายกระดับในการดูแลสุขภาพเชิงรุก ซึ่งนวัตกรรมตรวจยีนสามารถตรวจได้ทั้งในกลุ่มคุณแม่ที่เพิ่งเริ่มตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันโรคทางพันธุกรรมส่งต่อไปยังลูกน้อย หรือสำหรับคนทั่วไปที่อาจจะมียีนที่เป็นอัลไซเมอร์ โรคหัวใจ มาตั้งแต่กำเนิด การมาตรวจยีน จะทำให้สามารถปรับวิถีการใช้ชีวิตได้อย่างเหมาะสม เพื่อชะลอหรือทำให้เราไม่เป็นโรคบางโรคได้
ขณะที่ รศ.ดร.นพ.โอบจุฬ ตราชู อายุรแพทย์และแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชพันธุศาสตร์ ผู้อำนวยการศูนย์พันธุศาสตร์สมิติเวช กล่าวว่า ข้อดีของการนำข้อมูลพันธุกรรม มาประกอบกับไลฟ์สไตล์และสภาพแวดล้อม จะทำให้สามารถวางโรดแมปในการดูแลสุขภาพได้อย่างแม่นยำมากขึ้นว่า ควรกินหรือเลี่ยงอาหารแบบไหน การออกกำลังกายแบบไหนเหมาะหรือไม่เหมาะ
“ยกตัวอย่างเช่น คนไข้ที่ตรวจพบว่ามีไขมันในเลือดสูง มองผิวเผินอาจเป็นกลุ่มโรคทั่วไป แต่ถ้าเราสืบประวัติพบว่า พ่อคนไข้มีประวัติเป็นโรคหัวใจ ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าคนไข้มีความเสี่ยงจะเป็นโรคหัวใจตั้งแต่อายุยังน้อยได้ ดังนั้น ถ้ามีการตรวจยีน จะทำให้แพทย์วิเคราะห์ได้แม่นยำยิ่งขึ้นว่า ภาวะไขมันในเลือดสูงนั้นมาจากพันธุกรรมที่ติดตัวมาแต่กำเนิด หรือ เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อนำมาสู่กระบวนการรักษาที่มีความเข้มข้นต่างกัน เพราะถ้ามาจากพันธุกรรม แพทย์อาจจะแนะนำให้กินยาคุม แต่ถ้าเกิดจากการใช้ชีวิต อาจจะเริ่มจากการปรับพฤติกรรมด้วยการออกกำลังกาย หรือคุมอาหารได้ ซึ่งทั้งหมดก็เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับคนไข้”
ศ.นพ. มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ถึงคนเราจะไม่สามารถปรับแก้รหัสพันธุกรรมได้ แต่ถ้าสามารถรู้ก่อนว่า ต้นทุนความเสี่ยงของตัวเราสูงแค่ไหน ก็จะสามารถหาวิธีลดความเสี่ยงส่วนอื่นที่จะมากระทบ เช่น ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ถ้าเป็นกลุ่มที่มีอาการสมองตีบ หัวใจตีบ กลุ่มนี้ถ้าแพทย์แนะนำให้กินยาจะไม่ค่อยมีปัญหา แต่ในกลุ่มที่มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูง แต่ยังไม่มีอาการ หนึ่งในคำถามที่พบบ่อย คือ ทำไมต้องกินยา กังวลว่าถ้ากินแล้ว ต้องกินยาตลอดชีวิต
“เราพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า 5-10% ของกลุ่มที่มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูง แต่ไม่แสดงอาการ มาจากกรรมพันธุ์ ดังนั้นถ้ากลุ่มนี้ไม่กินยาเพื่อควบคุมแต่เนิ่นๆ มีโอกาสนำไปสู่ภาวะสมองหรือหัวใจตีบแน่นอน หรืออย่างเคสผู้ป่วยมะเร็ง หลายครั้งที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัวจนกว่าจะมีคนในครอบครัวตรวจเจออย่างน้อย 1 คน ว่ามียีนกลายพันธุ์ ในกรณีแบบนี้ ถ้ามีการตรวจยีน เราสามารถตรวจได้ว่าใครมียีนที่กลายพันธุ์และเสี่ยงจะเกิดมะเร็ง โดยที่ยังไม่ได้เป็น เพื่อหาวิธีป้องกัน เพราะมะเร็งหลายชนิดสามารถป้องกันหรือคัดกรอง เพื่อลดความเสี่ยงได้”
ด้าน รศ.ดร.นพ. บุญศรีจันทร์ รัชชกูล แพทย์ชำนาญการด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ และ หัวหน้าหน่วยคลินิกป้องกันการคลอดก่อนกำหนด รพ.สมิติเวช กล่าวว่า 2-5% ของทารกแรกเกิดมีโรคทางพันธุกรรมมาแต่กำเนิด นอกจากนี้โรคทางพันธุกรรมเป็นสาเหตุการตายของเด็กแรกเกิดราว 20% ที่สำคัญโรคทางพันธุกรรมยังถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น จากข้อมูลของสมิติเวชพบว่า คู่สมรส 70% ที่เข้ามาตรวจมีโรคพันธุกรรมอย่างน้อย 1 โรค โรคที่พบบ่อยที่สุดคือ ธาลัสซิเมีย ประมาณ 1 ใน 4 และ หูหนวก 1 ใน 6 ดังนั้นการตรวจยีนและการตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์จึงมีความสำคัญมาก ผลจากการตรวจจะช่วยประเมินความเสี่ยงของการถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรมมายังลูก ทำให้แพทย์พบความบกพร่องทางพันธุกรรมของทารกที่อาจเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์
ปิดท้ายด้วย แพทย์หญิงจิตแข เทพชาตรี แพทย์ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย และ ฟื้นฟูสุขภาพ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท กล่าวว่า
สมัยก่อน เวลาพูดถึงการดูแลสุขภาพ หลายคนจะนึกถึง การกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และการพักผ่อนให้เพียงพอ แต่เมื่อเทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้ามากขึ้น เราค้นพบแล้วว่า การดูแลสุขภาพของแต่ละคนไม่จำเป็นต้องทำเหมือนกัน เช่น ผู้ป่วยที่เสี่ยงว่าจะเป็นอัลไซเมอร์ อาจจะต้องการการดูแลสุขภาพและลดความเสี่ยงที่แตกต่างจากผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงมะเร็ง หรือหัวใจ ดังนั้นการตรวจยีนที่ทำให้เข้าใจความเสี่ยงของโรค จะทำให้วางแผนในการป้องกัน ดูแลสุขภาพได้เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคลมากยิ่งขึ้น
More Stories
วีเอชดี ส่ง เมอริช คอฟฟี่ ชิงตลาดกาแฟสุขภาพ 3.4 หมื่นลบ.
BDMS Wellness Clinic คว้ารางวัล CEO of the Year 2024 จาก Bangkok Post
SOLUX Clinic เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ ตอกย้ำความสวยที่มีระดับ (พรีเมียม)