สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จับมือภาคีด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของประเทศไทย ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเวทีเสวนาการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย “PA Forum : EP.1 – Active Environment for All ขับเคลื่อนแนวคิดพื้นที่สุขภาวะที่ทุกคนมีส่วนร่วม
นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า วันนี้พฤติกรรมเนือยนิ่งแผ่กระจายไปทั่ว เหตุเกิดเพราะสังคมก้มหน้า ไม่ว่าจะเด็ก วัยรุ่น หรือคนแก่ ส่งผลเสียต่อสุขภาพ หลักฐานเชิงประจักษ์ 15 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตและเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการสวนหัวใจเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ขณะที่ผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองเองก็เพิ่มถึง 3 เท่า สิ่งที่ สสส. ดำเนินการก็คือการเชื่อมโยงความร่วมมือทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ประชาสังคม และประชาชน โดยข้อมูลจากสหประชาชาติระบุว่ากลุ่มโรค NCDs ซึ่งเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง, ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค และไม่แพร่กระจายจากคนสู่คน แต่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตนั้น เป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในประเทศไทย (ตั้งแต่อายุ 30-70 ปี) สูงถึงร้อยละ 74 สสส. จึงให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในแง่การลดความเสี่ยงของการเกิดโรค สอดคล้องกับแนวทาง SDGs ของสหประชาชาติ ที่ให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมให้กับประชากรทุกกลุ่มในการมีกิจกรรมทางกาย
“ที่ผ่านมาคนหาเช้ากินค่ำอาจจะไม่เคยได้รับรู้ถึงเรื่องพื้นที่สุขภาวะและการดูแลสุขภาพด้วยการขยับร่างกาย นี่จึงถือเป็นเรื่องท้าทาย เราต้องสานเชิงนโยบายให้มากขึ้น เชื่อมโยงองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน อาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นมาร่วมในการจัดการ และใช้พลังของทุกภาคส่วนเพื่อเร่งให้เกิดการขยายพื้นที่สุขภาวะให้เร็วขึ้น พร้อมกับเรียนรู้ไปด้วยกัน สสส.ต้องพึ่งพาทุกภาคส่วนที่จะมาเชื่อมโยงสอดประสานเพื่อร่วมสร้างสรรค์พื้นที่สุขภาวะเข้าด้วยกัน เพื่อแก้ไขพฤติกรรมเนือยนิ่ง”
ขณะที่ ดร.นายแพทย์ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า กิจกรรมทางกายถือเป็น 1 ใน 3 เรื่องที่ให้ความสำคัญ ต้องการส่งเสริมให้คนไทยมี Health Active Lifestyle ผนวกแนวคิดขององค์การอนามัยโลกที่ได้ขับเคลื่อน Global Action on Physical Activity การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย การทำงานเพื่อตอบโจทย์การมีสุขภาพที่ดีของประชาชนทุกระดับ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม จึงต้องมีการทำงานในเชิงพื้นที่เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้น และสานต่อองค์ความรู้ด้านสุขภาพวะ โดยจะต้องเป็นพื้นที่สุขภาวะที่รองรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรมไปพร้อมกันด้วย
“เดิมเราเคยมีพื้นที่ปลอดบุหรี่ เขตห้ามขายสุรา พอมาเรื่องอาหารต้องดูว่าทำอย่างไรให้มีพื้นที่ปลูกผักได้ ทุกอย่างจึงต้องมีพื้นที่เป็นตัวกำหนด ดังนั้นการที่เราจะขยับร่างกายอย่างมีความสุขได้ จึงไม่ใช่แค่มีความรู้ แต่ต้องมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อด้วย ซึ่งจะต่อเนื่องมาถึงเรื่องของเศรษฐกิจรวมถึงปัจจัยแวดล้อมที่ผลต่อสุขภาพ ที่สำคัญคือความร่วมมือจากท้องถิ่น ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดองค์ประกอบของพื้นที่ว่าจะเป็นสวน สาธารณะ หรือย่านชุมชน ซึ่งจะต้องกำหนดให้ชัดเจน เนื่องจากมีผลต่อการกำหนดนโยบายต่างๆ และเพื่อแก้ปัญหาการพัฒนาพื้นที่แล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ อย่างพื้นที่ย่านตลาดน้อย นอกจากจะทำเส้นทางเดินที่ปลอดภัยเพื่อให้สามารถเดินเชื่อมโยงจุดต่างๆ ในชุมชนได้แล้ว จะต้องมีมิติทางวัฒนธรรม การท่องเที่ยวมาเกี่ยวโยงด้วย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ และชุมชน โดยประโยชน์ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกคือคนที่อยู่ในย่านนั้น เช่นเดียวกับที่ระยองและเชียงราย ที่คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการออกแบบ แสดงความคิดเห็น คนในพื้นที่ได้ประโยชน์ คนมาเที่ยวเองก็ได้ประโยชน์ไปด้วย”
ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. กล่าวต่อว่า ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ได้ทำการสำรวจพบว่ากรุงเทพฯ มีระยะทางเฉลี่ยในการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวที่ใกล้ที่สุดประมาณ 4.5 กิโลเมตร โดยต้องใช้เวลาถึง 60 นาที การจะทำให้พื้นที่สุขภาวะกระจายตัวให้ทั่วถึงประชากรทุกระดับ สสส.จึงทำหน้าที่ในการเชื่อมประสานเครือข่ายเพื่อพัฒนากระบวนการความร่วมมือ พัฒนาองค์ความรู้และการจัดการพื้นที่ พร้อมทั้งผลักดันนโยบายในระดับ ประเทศ
“กทม.เองก็มีแนวนโยบายสวน 15 นาที ทำสวนให้คนเข้าถึงได้ง่ายและทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนไปในตัว นี่คือสิ่งที่เราอยากเห็นซึ่งจะทำให้คนทุกระดับสามารถเข้าถึงได้ง่าย นอกเหนือจากการสร้างสวนสาธารณะขนาดใหญ่ สสส. และภาคีเครือข่ายร่วมกันพัฒนาและผลักดันให้เกิดพื้นที่สุขภาวะในระยะที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างสวนขนาดเล็ก (Pocket Park) ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ในระยะ 400-800 เมตร ใช้เวลาในการเดินทางเข้าถึงไม่เกิน 15 นาที เพื่อจูงใจและกระตุ้นให้คนไทยลุกขึ้นมาขยับร่างกายให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้คนไทยหลุดพ้นจากการเป็นโรคในกลุ่มโรค NCDs และลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทั้งยังเป็นการส่งเสริมสุขภาพจิตของประชากรเมือง ส่งเสริมระบบนิเวศน์เมือง ส่งเสริมการเรียนรู้ และความสัมพันธ์ทางสังคม และส่งเสริมเศรษฐกิจของย่านไปพร้อมกัน”
More Stories
วีเอชดี ส่ง เมอริช คอฟฟี่ ชิงตลาดกาแฟสุขภาพ 3.4 หมื่นลบ.
BDMS Wellness Clinic คว้ารางวัล CEO of the Year 2024 จาก Bangkok Post
SOLUX Clinic เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ ตอกย้ำความสวยที่มีระดับ (พรีเมียม)