รับดีมานด์ตลาดสุขภาพพุ่ง ปักธงดันรายได้ต่างประเทศเติบโต 20% ต่อเนื่องทุกปี
‘บมจ. บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค หรือ BLC’ ประกาศแผนกลยุทธ์บุกต่างประเทศ ขยายธุรกิจสู่ประเทศกลุ่มเป้าหมาย จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ตะวันออกกลาง และ CLMV ที่มีศักยภาพเติบโตสูง จับมือพันธมิตรทางการค้ารุกทุกช่องทางการจัดจำหน่าย ชูนวัตกรรมสมุนไพรไทย (Thai Herbal Innovation) จากศูนย์วิจัย BLC ปั้นผลิตภัณฑ์ไฮมาร์จิ้นส่งนอก รับดีมานด์สมุนไพรพุ่ง ตั้งเป้ารายได้จากต่างประเทศเติบโต 20% ต่อเนื่องทุกปี
ภก.สุวิทย์ งามภูพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) หรือ BLC เปิดเผยว่า บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตสู่ระดับ 1,500 ล้านบาทภายในปี 2566 พร้อมวางเป้าหมายทำอัตรากำไรสุทธิที่ 12% เติบโตจากช่วง 3 ปีย้อนหลัง (2563-2565) ที่มีอัตรากำไรสุทธิ 1.3% 4.7% และ 10.0% ตามลำดับ และได้วางเป้าหมายรายได้จากการส่งออกเติบโต 20% ต่อเนื่องทุกปี จากการเพิ่มขึ้นของรายได้และกำไรขั้นต้น การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีอัตรากำไรสูง การบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น ประกอบกับการรักษาระดับต้นทุนทางการเงินให้อยู่ในระดับคงที่ รวมทั้งการขยายตลาดต่างประเทศที่มีศักยภาพเติบโตสูง โดยเฉพาะประเทศจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว สหภาพเมียนมาร์ เวียดนาม และแถบตะวันออกกลาง
ทั้งนี้ ภาพรวมอุตสาหกรรมหลังจากสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลให้ประชาชนทั่วโลกมีแนวโน้มในการดูแลและป้องกันสุขภาพมากขึ้น โดย Euromonitor ประเมินการเติบโตของตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเฉลี่ย 5.7% ในช่วงปี 2021-2025 และ Market Research Future (MRFR) คาดการณ์ว่าตลาดยาสมุนไพรทั่วโลกจะมีมูลค่าถึง 356 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2030 ที่ 10.9% (CAGR) ในปี 2021 มูลค่าค้าปลีกสินค้าสมุนไพรในตลาดโลก (Retail Value RSP) มีมูลค่ารวมมากกว่า 1.7 ล้านล้านบาท โดยประเทศไทยมีมูลค่าค้าปลีกสินค้าสมุนไพรสูงเป็นอันดับที่ 8 ของโลก รองจากจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี อิตาลี และไต้หวัน ทั้งนี้ สินค้าสมุนไพรไทยมีตั้งแต่กลุ่ม อาหารเสริม จนถึงกลุ่มความงามและสุขภาพ ซึ่งได้รับความนิยมในตลาด Asia Pacific และมีอัตราการเติบโตโดยประมาณการมากกว่า 9% ต่อปี จากรายงานของ Euromonitor
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้วางกลยุทธ์สร้างการเติบโตผ่านการขยายตลาดสู่ต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการให้ความสำคัญด้านความยั่งยืน และส่งเสริมคุณค่าด้านเศรษฐกิจสมุนไพรไทย ยกระดับระดับด้วยการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมสมุนไพรไทย (Thai Herbal Innovation) สร้างการยอมรับ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดระดับสากล ผ่าน 2 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 1) ขยายตลาดสู่กลุ่มประเทศเป้าหมายที่มีศักยภาพเติบโตสูง ผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพ สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทุกกลุ่ม โดยประเทศในภูมิภาคอาเซียนมี GDP รวม 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของโลก จากการมีประชากรรวมกว่า 680 ล้านคน และเป็นประชากรคนรุ่นใหม่ที่มีอายุเฉลี่ยต่ำกว่า 30 ปี มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความต้องการทางด้านสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้น โดยคุณภาพของสินค้าไทยเป็นที่ยอมรับ จึงมีความน่าสนใจที่จะขยายตลาดไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ประกอบกับเทรนด์การรักสุขภาพเพิ่มขึ้นในทุกประเทศ ทำให้ศักยภาพการค้าภายในภูมิภาคสูงขึ้น นอกจากนี้การมีอาณาเขตของประเทศที่ติดต่อกัน จะเอื้อต่อการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางต่างๆ ส่งผลให้การบริหารต้นทุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นการจัดจำหน่ายผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพ เจาะกลุ่มตลาดสุขภาพ (Consumer and Personal Health Care) ทั้งวัยทำงานและผู้สูงวัย โดยร่วมมือกับพันธมิตรทางการค้าชั้นนำในแต่ละประเทศ ที่มีช่องทางการจัดจำหน่ายครอบคลุมทั้งโรงพยาบาลรัฐบาล โรงพยาบาลเอกชน คลินิก ร้านขายยา ร้านค้าปลีก และตลาดออนไลน์ 2) สร้างนวัตกรรมสมุนไพรไทย (Thai Herbal Innovation) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระดับสากล มุ่งผลักดันผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยในตลาดต่างประเทศ ด้วยการวางแผนการตลาดเชิงรุกเพื่อการส่งออก การคัดเลือกสมุนไพรที่โดดเด่น 5 รายการ ได้แก่ พริก ไพล กระชายดำ ใบบัวบก และว่านหางจระเข้ เพื่อนำเสนอคุณลักษณะเด่นทางด้านนวัตกรรม คุณภาพสินค้า การผลิตที่มีมาตรฐานระดับสากล ตลอดจนการยอมรับจากบุคลากรทางการแพทย์ทำให้มีการนำใช้ผลิตภัณฑ์อย่างแพร่หลายทั้งในโรงพยาบาล ร้านขายยา คลินิกแพทย์ และร้านค้าปลีกสมัยใหม่
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์หลักที่ BLC ส่งออกมีความโดดเด่นจากการเป็นผลิตภัณฑ์จากนวัตกรรมสมุนไพร (Herbal Innovation) มีศักยภาพเติบโตสูง และมีอัตราการทำกำไรที่สูง สามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ มีการพัฒนาสูตรตำรับโดยทีมวิจัยและพัฒนา จากศูนย์วิจัยของ BLC ซึ่งให้ความสำคัญตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ การควบคุณภาพของสารสกัด ทำให้ได้สารสกัดสมุนไพรที่สามารถควบคุมปริมาณสารสำคัญให้คงที่และเป็นมาตรฐาน (Standardization) มีคุณภาพที่เป็นเอกลักษณ์ (Unique quality) อีกทั้งยังสามารถออกใบวิเคราะห์ (Certificate of Analysis) ของการผลิตแต่ละครั้ง ตลอดจนการผลิตในโรงงานที่มีมาตรฐานการผลิตเช่นเดียวกันกับการผลิตยาแผนปัจจุบัน (GMP/PICs) นอกจากนี้ BLC ยังให้ความสำคัญของการศึกษาด้านประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานของสมุนไพรให้ได้มาตรฐานระดับสากลเป็นที่ยอมรับจากวงการแพทย์และผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
“ปัจจุบันการเจ็บป่วยของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กระแสการใส่ใจสุขภาพและความต้องการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการยอมรับผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพของประเทศไทยในภูมิภาค ASEAN และการยอมรับกระบวนการผลิตยาในประเทศไทยที่มีมาตรฐานระดับสากล เป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนศักยภาพการเติบโตให้แก่บริษัทฯ ในการขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศ รวมถึงการเติบโตของร้านยาสมัยใหม่ในภูมิภาคส่งผลให้ดีมานด์ของยาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเทศเวียดนาม ซึ่งจะช่วยหนุนให้ภาคการส่งออกผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพของประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะทำให้บริษัทฯ บรรลุเป้าหมายรายได้เติบโตตามแผนงานที่วางเอาไว้” ภก.สุวิทย์ กล่าว
More Stories
วีเอชดี ส่ง เมอริช คอฟฟี่ ชิงตลาดกาแฟสุขภาพ 3.4 หมื่นลบ.
BDMS Wellness Clinic คว้ารางวัล CEO of the Year 2024 จาก Bangkok Post
SOLUX Clinic เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ ตอกย้ำความสวยที่มีระดับ (พรีเมียม)