สมาคมสหอุตสาหกรรมพืชกัญชงและกัญชา เข้าพบนายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแสดงความยินดีเข้ารับตำแหน่งใหม่ และปรึกษาหารือเพื่อให้ออกนโยบาย กฎหมาย หรือ พรบ. พืชกัญชงและกัญชาให้ชัดเจน เนื่องจากส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ไม่สามารถดำเนินธุรกิจ ต่อไปได้
วันที่ 9 ตุลาคม 2566 สมาคมสหอุตสาหกรรมพืชกัญชงและกัญชา นำโดย นายทศพร นิลกำแหง นายกสมาคม พร้อมด้วยคณะกรรมการเดินทางเข้าพบ นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแสดงความยินดีเข้ารับตำแหน่งใหม่ และนำเสนออุปสรรคของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม พืชกัญชงและกัญชา โดยเฉพาะสมาคมฯ ซึ่งมีสมาชิกจำนวน 21 บริษัท ทั้งในธุรกิจต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ที่เป็นบริษัทระดับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่
นายทศพร กล่าวว่า ด้วยความไม่ชัดเจนของนโยบายภาครัฐ รวมถึงกฎหมายเกี่ยวกับพืชกัญชงและกัญชา ในปัจจุบันทำให้ภาคอุตสาหกรรมหยุดนิ่ง โดยสมาคมฯ ซึ่งประกอบด้วยบริษัทฯ ที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ ทั้งธุรกิจในส่วนต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้รับผลกระทบโดยตรง รวมถึงความเชื่อของประชาชนบางกลุ่มที่ยังมองว่าพืชกัญชงและกัญชามีโทษมากกว่าประโยชน์ แต่ความจริงแล้วพืชกัญชง คือ พืชเศรษฐกิจสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน เช่น เมล็ด นำไปทำเป็นน้ำมันเพื่อเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง อาหารเสริม ส่วนลำต้นสามารถนำเส้นใยไปทำเป็นเสื้อผ้า รองเท้า และส่วนสำคัญคือ ช่อดอก สามารถนำไปสกัดเพื่อให้ได้สาร CBD ซึ่งมีคุณประโยชน์มากมายต่อสุขภาพอีกทั้งยังสามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการ โดยในปัจจุบันในระบบของ อย. มีผู้ขอใบอนุญาตและได้รับอนุมัติแล้วเป็นจำนวนมาก ทั้งใบอนุญาตเพาะปลูกในระบบส่วนกลางและแอพพลิเคชั่นปลูกกัญซึ่งมีจำนวนรวม 38,144 ราย ใบอนุญาตสกัดทั้งภาครัฐและภาคเอกชนรวม 48 ราย และใบอนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมกัญชงทั้งเครื่องสำอาง อาหาร เครื่องดื่ม อาหารเสริม และผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมกว่า 1,500 ราย ในส่วนของพืชกัญชาที่จะมีสาร THC อยู่ปริมาณมากนั้นสามารถนำมาใช้ใน ทางการแพทย์รักษาผู้ป่วยได้
นายทศพร กล่าวต่อท้ายว่า ทางสมาคมฯต้องการให้รัฐบาลมีนโยบาย และกฎหมายของพืชกัญชงและกัญชาที่ชัดเจน แยกระหว่างพืชกัญชงและพืชกัญชาออกจากกัน โดยออกกฎหมาย ประกาศ หรือ พรบ. ให้ชัดเจน ให้ พืชกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ เพื่อสุขภาพและความงาม ส่วนพืชกัญชาใช้ในทางการแพทย์ มีมาตรการควบคุมการจำหน่าย และให้ความรู้เรื่องผลกระทบกับผู้ใช้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และสตรีมีครรภ์ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ประกอบการในธุรกิจภาคอุตสาหกรรมได้รับรู้ถึงทิศทางในการดำเนินธุรกิจ และต้องการให้ทางรัฐบาลผลักดันสนับสนุนคุณประโยชน์ที่แท้จริงของพืชกัญชง รวมถึงสารสกัด CBD ว่ามีคุณประโยชน์หลากหลายสามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างรายได้ และให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจ และเชื่อมั่นในความปลอดภัยของพืชกัญชงได้อีกด้วย
More Stories
โรงพยาบาลวิมุต สถาบันประสาทวิทยา และ Agnos health ร่วมทดสอบการใช้งาน ‘AN AN Bot’ AI ช่วยตอบคำถามผู้ป่วย
ครั้งแรกของซุปตาร์ตัวพ่อ “ณเดชน์ คูกิมิยะ” กับการก้าวสู่วงการนวัตกรรมความงาม!
แพทย์ รพ.วิมุต แนะเลี่ยงผลิตภัณฑ์แปรรูป หนึ่งปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านม