26 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

“อมตะ วีเอ็น”ส่งสัญญาณลงทุนในเวียดนามยังแรงไม่หยุด ยอดเช่าพื้นที่2นิคมฯโตต่อเนื่องมั่นใจปี’66เดินได้ตามเป้า

“อมตะ วีเอ็น” ส่งสัญญาณรับข่าวดีต่อเนื่อง นักลงทุนทั้งภายในและต่างชาติยังคงแห่ปักหมุดการลงทุนที่เวียดนามไม่แผ่ว    ส่งผลให้ล่าสุดนิคมฯอมตะซิตี้ฮาลองลงนามเช่าที่ดินกับ บ. Renli Vietnam ส่วนนิคมฯอมตะซิตี้ ลอง ถั่น เตรียมเซ็นสัญญาเช่า หลังบริษัท Kingfa และบริษัท Wave Crest ได้รับใบอนุญาตการลงทุนจากรัฐบาลท้องถิ่น มั่นใจปี 2566 ยอดเช่าพื้นที่จะได้ตามเป้าหมาย
ที่วางไว้  ย้ำการลงทุนที่เวียดนามยังมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

นางสมหะทัย พานิชชีวะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ วีเอ็น  จำกัด (มหาชน)   หรือ AMATAV ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนาม เปิดเผยว่า  แนวโน้มการลงทุนเวียดนามทั้งการลงทุนจากภายในและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI)ยังคงมีอัตราการเติบโตสูงต่อเนื่องจึงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ยอดการเช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของ  อมตะ วีเอ็น ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ฮาลอง  จังหวัดกว่างนิ๋ง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ และนิคมอมตะ ซิตี้ ลองถั่น จ.ดองไน  พื้นที่ภาคใต้โดยยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงคาดว่ายอดการเช่าที่ดินของพื้นที่นิคมฯ  อมตะ วีเอ็น ปี 2566 จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 120 เฮกตาร์ ( 750 ไร่)

ทั้งนี้ล่าสุดอมตะ วีเอ็นได้บรรลุข้อตกลงการลงนามในสัญญาเช่าที่ดินระหว่าง   นิคมฯอมตะซิตี้ ฮาลอง กับ บริษัท Renli Vietnam Industry Co., Ltd. ซึ่งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกและมีความเชี่ยวชาญในการตีโลหะขึ้นรูป   จำนวน 2.9 เฮกตาร์( 18.125 ไร่) โดยมี Mr. Nguyen Van Nhan ผู้อำนวยการทั่วไป นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ฮาลอง และ Mr. Chang Tsung Cheng  ผู้อำนวยการทั่วไป บริษัท Renli เป็นผู้ลงนาม โดยได้รับเกียรติจาก Mr.Quang Yen ประธานคณะกรรมการประชาชนเมืองกว่างนิ๋ง ร่วมเป็นสักขีพยาน  ซึ่งบริษัท Renli มีแผนในการก่อสร้างโรงงานด้วย มูลค่าการลงทุนกว่า 15 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดจะเริ่มการก่อสร้างได้ในช่วงปลายปี 2566  สามารถจ้างงานในพื้นที่ได้กว่า 600 ตำแหน่ง

“นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ฮาลองเป็นพื้นที่ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยคาดว่าจะบรรลุข้อตกลงในการลงทุนใหม่ๆเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีเม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ กว่า 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อลงทุนบนพื้นที่นิคมฯ ที่มีการพัฒนาแล้ว กว่า 80 เฮกตาร์( 500 ไร่) เนื่องจากเป็นพื้นที่เป้าหมายของนักลงทุนที่ต้องการเข้ามาประกอบการในจังหวัดกว่างนิ๋ง” นางสมหะทัยกล่าว

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ลองถั่น จ.ดองไน   ขณะนี้นักลงทุน ต่างประเทศ  2 ราย ประกอบด้วย Kingfa Science and Technology (Vietnam)  หรือ Kingfa ผู้ผลิตพลาสติกคอมปาวด์ (compounds) ในประเทศจีนที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก และ บริษัท Wave Crest ผู้ผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์และสายไฟฟ้าสำหรับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์จากประเทศญี่ปุ่น ได้ให้ความสนใจเข้ามาขอเช่าพื้นที่เพื่อพัฒนาโรงงานในนิคมฯ  โดยได้รับใบรับรองการลงทะเบียนการลงทุนจาก Mr. Nguyen Tri Phuong รองประธานคณะกรรมการประชาชน สำนักงานคณะกรรมการบริหารสวนอุตสาหกรรมจังหวัดดองไน (DIZA)เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะมีการลงนามในข้อตกลง เพื่อขอการเช่าพื้นที่ เพื่อพัฒนาโครงการต่อไป

โดยบริษัท Kingfa มีแผนลงทุนกว่า 80 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อพัฒนาศูนย์งานวิจัยเทคโนโลยีขั้นสูงและผลิตวัสดุให้กับกลุ่มบริษัทชั้นนำในประเทศจีน   ส่วนบริษัท Wave Crest Vietnam Co., Ltd.  มีแผนตั้งโรงงานผลิตแวงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยมูลค่าลงทุนกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการลงทุนของทั้ง 2 บริษัทจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการมีส่วนร่วมในการยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี โดยคาดว่าจะมีอัตราการจ้างงานกว่า 1,000 ตำแหน่ง ในอนาคต

“การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มอมตะทั้งสองแห่ง ในจังหวัดดองไนและกว่างนิ๋ง กำลังเป็นพื้นที่ลงทุนที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ของชุมชนในท้องถิ่นประเทศเวียดนามได้เป็นอย่างดี ด้วยข้อได้เปรียบในหลายด้าน ทั้งในทำเลที่ตั้ง แรงจูงใจสิทธิประโยชน์ในการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล และบริการด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง อมตะในฐานะหนึ่งในผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมชั้นนำในภูมิภาค ยังคงได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติย่างต่อเนื่องในการเป็นฐานการผลิตที่สำคัญแห่งหนึ่งของเวียดนาม”นางสมหทัยกล่าว

สำหรับพื้นที่รองรับการลงทุนของ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ลอง ถั่น  จ.ดองไน มีพื้นที่ 410  เฮกตาร์ และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ฮาลอง  จังหวัดกว่างนิ๋ง มีพื้นที่ได้รับใบอนุญาตในการพัฒนาที่ดินไปแล้ว 714 เฮกตาร์    ซึ่งนิคมฯทั้งสองแห่ง มีเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อมลพิษ และนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการยกระดับภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของผลิตภัณฑ์

Skip to content