บีไอจีรับใบรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Products: CFP) ในผลิตภัณฑ์ก๊าซไฮโดรเจนจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. โดยการผลิตไฮโดรเจนจากบีไอจีปลดปล่อยคาร์บอนลดลง 95% เทียบเท่าการผลิตบลูไฮโดรเจน ช่วยสนับสนุนและให้ความมั่นใจกับภาคอุตสาหกรรมไทยที่ใช้ไฮโดรเจนจากบีไอจี อีกทั้งช่วยเพิ่มขีดความสามารถและการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลกที่ให้ความสำคัญกับการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โดยเมื่อปีที่ผ่านมา บีไอจีได้รับใบรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) จากการผลิตก๊าซอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ ด้วยนวัตกรรมโรงแยกอากาศที่ใช้ความเย็นจากกระบวนการ LNG Regasification เป็นรายแรกของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าในการผลิตก๊าซอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงานไฟฟ้า คิดเป็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าลดลงได้กว่า 100,000 ตัน/ต่อปี และในปีนี้ บีไอจีได้รับการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ในส่วนของก๊าซไฮโดรเจน โดยไฮโดรเจนจากกระบวนการผลิตของบีไอจีปล่อยคาร์บอนเพียง 875 กรัม/ไฮโดรเจน 1 กิโลกรัม ในขณะที่ไฮโดรเจนจากกระบวนการผลิตปกติปล่อยคาร์บอนสูงถึง 13,000 – 13,500 กรัม/ไฮโดรเจน 1 กิโลกรัม ทั้งนี้ ไฮโดรเจนจากบีไอจีจึงมีการปลดปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าถึง 95% จากกระบวนการผลิตไฮโดรเจนปกติ ซึ่งเทียบเท่าบลูไฮโดรเจน (Blue Hydrogen)
คุณปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บีไอจี กล่าวว่า “ไฮโดรเจนจากบีไอจีปลดปล่อยคาร์บอนเทียบเท่าบลูไฮโดรเจน ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของบีไอจีที่ชูนวัตกรรมขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมด้วย Climate Technology ร่วมมือลดปัญหาภาวะโลกร้อน บีไอจีได้พัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตก๊าซลดการปล่อยคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง โดยการได้รับการรับรองจากอบก. ครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งการลงมือปฎิบัติจริงของบีไอจีเพื่อเดินหน้ามุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero ให้ได้เร็วกว่าเป้าหมายที่ประเทศวางไว้ในปี ค.ศ. 2065”
ทั้งนี้ บีไอจียังมุ่งเน้นการใช้ไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำที่ถือว่าเป็นพลังงานทางเลือกที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเมื่อเทียบกับการใช้เชื้อเพลิงอื่น ๆ โดยในภาคยานยนต์ มีการก่อตั้งสถานีเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนแห่งแรกในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกับกลุ่ม ปตท. และ โตโยต้า เพื่อรองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงและนำมาให้บริการในรูปแบบแอร์พอร์ทลีมูซีนรับส่งระหว่างสนามบินอู่ตะเภา สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารในพื้นที่พัทยา – ชลบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง บีไอจีพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการร่วมขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและมุ่งสู่เป้าหมายการลดการปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศุนย์ หรือ Net Zero ร่วมกัน
More Stories
รฟฟ.บีแอลซีพี ร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำกว่า 1.6 ล้านตัว ต่อเนื่องเป็นปีที่ 22 สานต่อ ESG หนุน SDGs
OR ตอกย้ำแนวคิดสังคมสะอาด มอบรางวัลโครงการ “แยก แลก ยิ้ม School Camp ประจำปี 2567”
เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์ ร่วมบรรยายในงานประชุม The 58th