ภารกิจครั้งใหม่เพื่อมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการผ่านการศึกษา
มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดตัวโครงการทุนสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มุ่งมั่นสนับสนุนการศึกษาแก่คนพิการเพื่อผลิตบัณฑิตกลุ่มวิชาชีพครู หวังยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการในสังคมไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดี สร้างอาชีพ และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมร่วมกับ บริษัท ซีเนริโอ จำกัด ชวนผู้ใจบุญ ชมละครเวทีรอบการกุศล “แฟนฉัน เดอะมิวสิคัล” ในวันเสาร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566
จัดแสดง ณ เมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ รายได้ร่วมสมทบทุนเข้าโครงการทุนสถาบันราชสุดา
สถาบันราชสุดา หรือเดิมทีมีชื่อว่า วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ถือเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำแห่งแรกในประเทศไทย เป็นสถาบันที่ให้การสนับสนุนทางด้านการศึกษา การวิจัย การบริการวิชาการ และศูนย์กลางเครือข่าย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในประชาคมอาเซียน โดยเปิดทำการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 นับเป็นเวลากว่า 32 ปีแล้วที่สถาบันแห่งนี้ให้การศึกษาและยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการไทยกว่าหลายพันคน และในปี พ.ศ. 2566 นี้ วิทยาลัยราชสุดาและคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้ทำการควบรวมกัน เพื่อร่วมกันทำภารกิจส่งเสริมการศึกษาและสร้างพื้นที่สำหรับคนพิการให้เกิดสังคมแห่งการให้ที่ไม่ทอดทิ้งกัน
ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า “เหตุผลสำคัญของการควบรวมวิทยาลัยราชสุดาและคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นโครงการสถาบันราชสุดาแห่งนี้ เพื่อร่วมกันทำภารกิจสำหรับคนพิการให้เกิดสังคมแห่งการให้ที่ไม่ทอดทิ้งกัน สนับสนุนให้เป็นสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาบุคลากรกลุ่มวิชาชีพครูที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการสอนคนพิการที่มีคุณภาพให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในสังคมไทย และ
หวังกระจายครูสอนคนพิการไปยังสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อถ่ายทอดความรู้ ส่งเสริมศักยภาพให้คนพิการมีอาชีพที่มั่นคง พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน สืบเนื่องจากการควบรวมกันนี้ มูลนิธิรามาธิบดีฯ จึงได้มีโอกาสเป็นสะพานบุญแห่งการให้เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายจำเป็นต่าง ๆ ของสถาบันราชสุดา เพื่อให้สถาบันนำไปสานต่อภารกิจต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป”
สถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดสอนทั้งหมด 6 หลักสูตร แบ่งเป็น
ระดับปริญญาตรี เปิดสำหรับนักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน และนักศึกษาที่มีการได้ยิน
- หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาหูหนวกศึกษา วิชาเอกการออกแบบเชิงพาณิชย์
- หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาหูหนวกศึกษา วิชาเอกล่ามภาษามือไทย
- หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาของคนหูหนวก
ระดับปริญญาโท และเอก เปิดสำหรับนักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการเห็น นักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว นักศึกษาทั่วไป
- หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
- หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ
- หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
ด้าน อ.นพ.สมเกียรติ ลีละศิธร ผู้อำนวยการ สถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยว่า “กลุ่มนักศึกษาหลักของสถาบันราชสุดาคือกลุ่มคนพิการทางการได้ยิน รวมถึงคนทั่วไปที่สนใจเข้ามาเรียนร่วมในหลักสูตร
ศิลปศาสตร์และศึกษาศาสตร์ ที่เมื่อจบไปแล้วสามารถเป็นครูสอนคนพิการ หรือประกอบอาชีพอื่น ๆ ได้ตามศักยภาพ
นับตั้งแต่เปิดสถาบันราชสุดาแห่งนี้ได้ผลิตบัณฑิตไปแล้วกว่า 692 ราย ปัจจุบันมีจำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 และ 3 ทั้งสิ้น 153 ราย แบ่งเป็น นักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน จำนวน 84 ราย นักศึกษาที่มีการได้ยิน 69 ราย และคาดว่าจะมีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในปี 2567 จำนวน 54 ราย
ในส่วนของระดับบัณฑิตศึกษา แบ่งเป็นระดับปริญญาโท 49 คน คาดว่าจะเสร็จการศึกษาปี 2566 จำนวน 7 ราย และระดับปริญญาเอก 24 ราย จะสำเร็จการศึกษาปี 2566 จำนวน 8 ราย โดยระดับนี้มีนักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการเห็น นักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว รวมถึงนักศึกษาทั่วไป
ปัจจุบันมีคนพิการจำนวนมากที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งสาเหตุเหล่านั้นมีทั้งความไม่พร้อมของสถานศึกษาในการรองรับคนพิการ, สภาพแวดล้อมในครอบครัว, ปัจจัยด้านการเดินทาง รวมถึงสถานะทางการเงิน ปัญหาเหล่านี้จึงยิ่งก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นในสังคมไทย การมีอยู่ของสถาบันราชสุดาจึงถือเป็นเรื่องสำคัญในฐานะสถาบันการศึกษาที่จะช่วยสร้างโอกาสให้คนพิการได้เข้าถึงการศึกษา ผ่านการผลิตบัณฑิต และบัณฑิตเหล่านั้นไปส่งต่อความรู้ให้แก่คนพิการทางการได้ยินต่อไป”
นางสาวพรรณสิรี คุณากรไพบูลย์ศิริ ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดีฯ กล่าวเสริมว่า “การระดมทุนในครั้งนี้ นับเป็นการให้ที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างแน่นอน เพราะการศึกษานั้นเป็นรากฐานสำคัญของทุกคน ไม่แบ่งแยกด้วยสภาพร่างกาย เพศ อายุ ดังนั้น มูลนิธิรามาธิบดีฯ จึงมีความภูมิใจและดีใจเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอด พันธกิจของสถาบันราชสุดาไปยังสังคมวงกว้าง และเป็นสะพานแห่งการให้ที่รับน้ำใจของผู้ที่อยากช่วยให้คนพิการได้มีโอกาสทางการศึกษา อันจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการต่อไปในอนาคต และสร้างสรรค์สังคมที่พวกเราทุกคนสามารถได้ใช้ศักยภาพและความสามารถของตนเองได้อย่างเต็มที่”
“ในการเปิดตัว โครงการทุนสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ครั้งนี้ มูลนิธิรามาธิบดีฯ ได้ร่วมมือกับบริษัท ซีเนริโอ จำกัด ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของการ “ให้” โอกาสทางการศึกษาแก่คนพิการในสังคมไทยจัดรอบการแสดงละครเวทีการกุศล “แฟนฉัน เดอะมิวสิคัล” ขึ้นในวันเสาร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2566 เวลา 19:30 น. โดยรายได้จากการจำหน่ายบัตรของรอบนี้จะถูกสมทบทุนให้แก่โครงการทุนสถาบันราชสุดา เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการต่อไป
อีกทั้งยังได้เชิญชวนตัวแทนนักศึกษาของสถาบันราชสุดามาร่วมชมการแสดงในรอบนี้อีกด้วย” นางสาวพรรณสิรี กล่าวทิ้งท้าย
โครงการทุนสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี นับเป็นภารกิจครั้งใหม่ของมูลนิธิรามาธิบดีฯ เพื่อช่วยสร้างพื้นที่แห่งโอกาสทางการศึกษาให้คนพิการ รวมถึงพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านคนพิการ และการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพและพัฒนาศักยภาพของคนพิการนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการในประเทศไทย เพราะการมอบการศึกษาคือหนทางที่จะช่วยสร้างสังคมที่ทุกคนมีคุณค่า ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมกันในสังคม
และเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ในโอกาสนี้จึงขอเชิญชวนประชาชนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินสมทบทุนให้กับโครงการทุนสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ที่ มูลนิธิรามาธิบดีฯwww.ramafoundation.or.th
#คำว่าให้ไม่สิ้นสุด
#ความสุขจากการให้ไม่สิ้นสุด
More Stories
แอสเซทไวส์ ร่วมกับ สนง.เขตบางเขน เปิดตัว “ศูนย์การเรียนรู้สู่ Net Zero+” แห่งแรก
ซีพี แอ็กซ์ตร้า ขับเคลื่อนอาหารยั่งยืน ผ่านโครงการ “อาหารดีพี่ให้น้อง”
EXIM BANK สนับสนุนของขวัญวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568