26 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

FPT คงฟอร์มสวย จบปีงบฯ 66 สร้างรายได้ 17,000 ล้านบาท กำไร 1,861 ล้านบาท

อัตราการเช่าโรงงาน-คลังสินค้าทะยานสู่นิวไฮ 86% ออฟฟิศ-รีเทลแกร่งต่อเนื่องทะลุ 93% บ้านเดี่ยวยังไปได้สวย  เร่งเครื่อง One Platform พร้อมรับมือทุกความท้าทายปี 67

 กรุงเทพฯ  บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ “FPT” ผู้นำอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรรายแรกของประเทศไทย ประกาศผลประกอบการปีงบการเงิน 66 (ต.ค. 65-ก.ย. 66) รับรู้รายได้ 16,810 ล้านบาท กำไร 1,861 ล้านบาท โดยธุรกิจที่อยู่อาศัยเดินหน้าตามเป้าหมายจากกลยุทธ์จับตลาดบ้านเดี่ยวระดับลักชัวรี ด้านโรงงาน-คลังสินค้าให้เช่าเติบโตโดดเด่น อัตราการเช่าพุ่งสู่ 86% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ พร้อมยังครองแชมป์ตลาดด้วยพื้นที่ภายใต้บริหารจัดการกว่า 3.5 ล้านตร.ม. ส่วนกลุ่มพาณิชยกรรมยิ้มรับปัจจัยบวกตามความเชื่อมั่นภาคธุรกิจซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากอัตราการเช่าอาคารสำนักงานและพื้นที่รีเทลที่อยู่ในระดับสูงทะลุ 93% เล็งจ่ายปันผล 0.40 บาทต่อหุ้น

นายธนพล ศิริธนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Country Chief Executive Officer) บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีงบการเงิน 2566 (ตุลาคม 2565-กันยายน 2566 ) บริษัทฯ สามารถขับเคลื่อน 3 ธุรกิจทั้งที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ คงความยืดหยุ่นในการบริหารสอดรับการสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมที่ท้าทาย โดยให้ความสำคัญในการจัดการเงินทุนเพื่อรักษาเสถียรภาพและคงสภาพคล่องทางการเงิน รวมถึงเสริมความพร้อมในการเข้าลงทุนธุรกิจที่มีศักยภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทฯ นอกจากนี้ ได้สร้างความคืบหน้าด้านการรับรู้ของแบรนด์ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ เพื่อเดินสู่เป้าในการเป็น Top 5 อสังหาริมทรัพย์ไทย พร้อมทั้งจ่อเสริมผลิตภัณฑ์และบริการที่แตกต่าง ยกระดับคุณภาพชีวิต ตอบโจทย์ทุกดีมานด์ ผ่านการเป็น Real Estate as a Service Brand

FPT สร้างรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ และมีกระแสรายได้ต่อเนื่องจากค่าเช่าโรงงานและคลังสินค้า อาคารสำนักงาน ธุรกิจโรงแรม และบริการที่เกี่ยวข้อง รวม 16,810 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 463 ล้านบาท หรือ 2.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน และมีกำไร 1,861 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 11% จากรายได้รวม

ผลการดำเนินงานของปีงบการเงิน 2566 กลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย เปิดตัว 8 โครงการใหม่ รวมมูลค่าราว 15,000 ล้านบาท ซึ่งแม้ว่าบริษัทฯ จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยที่กดดันธุรกิจที่อยู่อาศัย ทั้งเงินเฟ้อ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และมาตรการ LTV ที่สิ้นสุดในสิ้นปี 2565 แต่ก็ยังคงความสามารถในการสร้างรายได้ถึง 11,004 ล้านบาท โดยบริษัทฯ เดินหน้าเพิ่มสัดส่วนตลาดบ้านเดี่ยวมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มบ้านลักชัวรีซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้องการและกำลังซื้อสูง พร้อมทั้งพัฒนาโซลูชันการอยู่อาศัยตอบโจทย์การใช้ชีวิต โดยในปี 2566 บริษัทฯ มีโครงการที่ดำเนินการรวม 78 โครงการ มูลค่ากว่า 115,800 ล้านบาท

กลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมและอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรม สามารถสร้างรายได้จากค่าเช่าและค่าบริการ 2,799 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยธุรกิจโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าเติบโตดีจากอานิสงส์การเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์การเมืองโลก และนักลงทุนต่างชาติที่ขยายฐานและย้ายฐานการลงทุนมาประเทศไทย ผนวกกับการ ขยายตัวของธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และโลจิสติกส์ ทำให้ความต้องการพื้นที่โรงงานและคลังสินค้าเพิ่มขึ้นอย่าง

ต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน มีบันทึกจากค่าเช่าจากการลงทุนในประเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม โดยบริษัทฯ มีพื้นที่ภายใต้การ บริหารจัดการกว่า 3.5 ล้านตร.ม. และมีอัตราการเช่ารวมของพอร์ตโฟลิโอในระดับสูงถึง 86% ด้านเมกะโปรเจกต์เมืองอุตสาหกรรมสมัยใหม่ในจังหวัดสมุทรปราการเดินหน้าตามแผน พร้อมเปิดตัวในปีหน้า

ขณะที่กลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมซึ่งให้บริการอาคารสำนักงานให้เช่าเกรดเอและพื้นที่รีเทลสามารถรักษาระดับอัตราการเช่าได้สูงถึง 93% โดยโครงการมิกซ์ยูสสีลมเอจได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีหลังจากเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมีนาคม 2566 โดย ณ สิ้นปีงบการเงิน 2566 อาคารสีลมเอจมีอัตราการเช่าอาคารสำนักงานกว่า 92% ด้านศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์และสีลมเอจมีลูกค้าคึกคัก ขณะเดียวกัน จากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายและการใช้ชีวิตได้กลับสู่ภาวะปกติ ส่งผลบวกต่อการท่องเที่ยวของไทย และเป็นแรงหนุนให้กับธุรกิจโรงแรมของบริษัทฯ ซึ่งสร้างรายได้เติบโตกว่า 72% จากปีก่อน

ทั้งนี้ บริษัทฯ เตรียมจ่ายเงินปันผล 0.40 บาทต่อหุ้น พร้อมขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 และกำหนดจ่ายเงินปันผลวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567

สำหรับปี 2567 บริษัทฯ มองว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว มีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคของภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก รวมถึงภาคการส่งออกที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น กระนั้น ยังต้องจับตาประเด็นที่อาจกระทบกับเศรษฐกิจไทย อย่างความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ที่อาจรุนแรงและยืดเยื้อ อย่างไรก็ดี ด้วยโครงสร้างการดำเนินธุรกิจที่มีความยืดหยุ่นภายใต้การบริหารอย่างมีเอกภาพ (One Platform) FPT จะขับเคลื่อน 3 กลุ่มธุรกิจอย่างรอบคอบ เพื่อผลักดันบริษัทฯ ให้เติบโตอย่างมั่นคงต่อไป

ตารางเปรียบเทียบผลการดำเนินงานด้านการเงิน รอบระยะเวลา 12 เดือน (ตุลาคม 2565 – กันยายน 2566)

ผลการดำเนินงานด้านการเงิน

รอบระยะเวลา 12 เดือน
(ตุลาคม 2565 – กันยายน 2566)

2566
(ล้านบาท)
2565
(ล้านบาท)
เปลี่ยนแปลง
(ล้านบาท)
เปลี่ยนแปลง
(ร้อยละ) Y-o-Y
รายได้รวมสุทธิ 16,810 16,347 463 2.8
– รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ 11,004 11,420 -416 -3.6
– รายได้ค่าเช่าและค่าบริการ 2,799 2,392 407 17.0
– รายได้อื่น ๆ 3,007 2,535 472 18.6
กำไรสุทธิ 1,861 2,465 -604 -24.5

 

ผลการดำเนินงานด้านการเงิน ไตรมาส 4 (กรกฎาคม – กันยายน 2566)

ผลการดำเนินงานด้านการเงิน ไตรมาส 4/2566 (กรกฎาคม – กันยายน)
(ล้านบาท)
รายได้รวมสุทธิ 5,209
– รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ 3,312
– รายได้ค่าเช่าและค่าบริการ 738
– รายได้อื่น ๆ 1,159
กำไรสุทธิ 829

 

 

 

 

 

 

Skip to content