แพทย์ รพ. วิมุต เตือน รีบพบแพทย์ก่อนเป็นอันตรายจากภาวะแทรกซ้อน
ในช่วงเวลาที่ชีวิตเต็มไปด้วยความเครียดจากเรื่องต่าง ๆ ใครต่อใครก็มักจะมองหาของหวานก่อนเป็นอย่างแรก เพราะนอกจากจะอร่อยแล้วยังช่วยให้ความเครียดหายไปชั่วคราว ทว่านานวันเข้า การกินของหวานกลับไม่ลดความเครียดเหมือน แต่ก่อน ทั้งยังทำให้รู้สึกอ่อนเพลียและคอแห้งกว่าปกติ ซึ่งนั่นอาจเป็นอาการของ ‘โรคเบาหวาน’ และหากไม่ได้พบแพทย์เพื่อตรวจเช็กร่างกายและควบคุมระดับน้ำตาลให้เป็นปกติ ก็อาจเกิดอาการแทรกซ้อนตามมามากมาย โดยวันนี้ นพ. ชาญวัฒน์ ชวนตันติกมล อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ ศูนย์เบาหวาน ต่อมไร้ท่อ และควบคุมน้ำหนัก รพ.วิมุต จะมาเล่าถึงอันตรายของโรคเบาหวาน สัญญาณบอกโรคที่หลายคนไม่รู้ พร้อมแนะนำวิธีป้องกันและแนวทางการรักษา เพื่อให้เรามีระดับน้ำตาลที่ปกติและดูแลสุขภาพให้แข็งแรงในระยะยาว
อ่อนเพลีย ปัสสาวะบ่อย สัญญาณเตือน ‘โรคเบาหวาน’
‘โรคเบาหวาน’ มีสาเหตุมาจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินปกติเนื่องจากขาดฮอร์โมนอินซูลินในการเปลี่ยนน้ำตาลไปเป็นพลังงานให้แก่ร่างกาย และเมื่อระดับน้ำตาลสูงมากขึ้นถึงระดับหนึ่ง อาจมีน้ำตาลปนออกมากับปัสสาวะ และอาจทำให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายทำงานผิดปกติ โดยโรคเบาหวานสามารถแบ่งได้ 6 ชนิด ได้แก่ เบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ ซึ่งพบเป็นส่วนน้อยในคนไทย, เบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งพบได้บ่อยในคนไทยและมักเกิดจากพฤติกรรมและกรรมพันธุ์, เบาหวานผสมระหว่างชนิดที่ 1 และ 2, เบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือฮอร์โมน การเป็นโรคตับอ่อน หรือการได้รับยาบางชนิด, เบาหวานขณะตั้งครรภ์ และเบาหวานที่ตรวจแล้วไม่สามารถแยกชนิดได้ ด้าน นพ. ชาญวัฒน์ ชวนตันติกมล อธิบายเกี่ยวกับอาการที่อาจเข้าข่ายโรคเบาหวานว่า “อาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ได้แก่ น้ำหนักลดไม่มีสาเหตุ อ่อนเพลีย เหนื่อยหอบ ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย รู้สึกชาบริเวณปลายนิ้วมือนิ้วเท้า แผลหายช้ากว่าปกติ คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งถ้ามีอาการเหล่านี้ ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กร่างกาย”
ญาติเป็นเบาหวาน-น้ำหนักเกิน-ความดันสูง ระวังเสี่ยงเบาหวาน
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานมีหลายประการ ได้แก่ การที่อายุมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่ออายุ 35 ขึ้นไป การมีดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่าหรือเท่ากับ 23 มีรอบเอวต่อความสูงมากกว่า 0.5 ความดันโลหิตสูง คนในครอบครัวเป็นเบาหวาน มีค่าน้ำตาลในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 100 เป็นต้น โดยแพทย์เผยว่า โรคเบาหวานเกิดขึ้นได้จากทั้งกรรมพันธุ์และพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละคน “คนไทยส่วนใหญ่มีความเชื่อผิด ๆ ว่าต้องเป็นคนน้ำหนักเยอะเท่านั้นถึงจะเป็นโรคเบาหวาน แต่จริง ๆ คนที่มีรูปร่างผอมก็เสี่ยงเป็นเบาหวานได้ เพราะโรคนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับน้ำหนักเพียงอย่างเดียว แต่มีปัจจัยอื่นร่วมด้วย ทั้งการกินอาหารที่เน้นแป้ง น้ำตาล ไขมัน ขาดการออกกำลังกาย พักผ่อนน้อย หรือยาที่ใช้ประจำ” นพ. ชาญวัฒน์ ชวนตันติกมล อธิบาย
สำหรับวิธีการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานจะเริ่มจากการวินิฉัยจากประวัติ ทำการตรวจร่างกายและส่งไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการเพื่อประเมินจากค่าน้ำตาลในกระแสเลือด หากพบว่าเป็นโรคเบาหวาน แพทย์จะทำการรักษาให้เหมาะสมกับแต่ละคน โดยเน้นไปที่การควบคุมอาหารและน้ำหนัก การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงการจ่ายยาร่วมด้วย
‘โรคเบาหวาน’ เป็นแล้วคุมให้ดีก่อนเสี่ยงแทรกซ้อน
การเป็นโรคเบาหวานนอกจากจะก่อให้เกิดความผิดปกติในร่างกายแล้ว ยังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้แก่ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ทำให้เวียนหัว หน้ามืด ใจสั่น หรือเป็นลม ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงชนิดเฉียบพลัน จะมีอาการหอบเหนื่อย คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง กินได้น้อยลง และภาวะน้ำตาลในเลือดสูงชนิดเรื้อรัง ทำให้ตาพร่ามัว อัมพาต ไตวาย หัวใจขาดเลือด หากรุนแรงมากอาจทำให้หัวใจวายได้ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจึงต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
วิธีการป้องกันและรักษา ‘โรคเบาหวาน’
โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาให้หายขาดได้ยาก แต่เราควบคุมให้ไม่เกิดอาการที่รุนแรงหรือโรคแทรกซ้อนได้ โดย นพ. ชาญวัฒน์ ชวนตันติกมล แนะนำวิธีป้องกันและควบคุมโรคเบาหวานว่า “วิธีดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน คือ เลี่ยงของหวานหรืออาหารมัน ๆ จำพวกของทอด ปิ้งย่าง หมั่นรับประทานอาหารที่มีกากใยสูงและไขมันต่ำ อีกเรื่องที่สำคัญคือการออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่”
“โรคเบาหวานจริง ๆ แล้วล้วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเป็นส่วนใหญ่ เราจึงสามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการเลือกกินของมีประโยชน์ ส่วนคนที่เป็นโรคเบาหวาน การควบคุมโรคก็ไม่ใช่เรื่องยาก ที่สำคัญคือการมาตรวจร่างกายเป็นประจำเพื่อให้รู้เท่าทันโรค ติดตามอาการและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อให้ร่างกายเรากลับมาแข็งแรง พร้อมใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ในทุกวัน” นพ. ชาญวัฒน์ ชวนตันติกมล กล่าวทิ้งท้าย
More Stories
วีเอชดี ส่ง เมอริช คอฟฟี่ ชิงตลาดกาแฟสุขภาพ 3.4 หมื่นลบ.
BDMS Wellness Clinic คว้ารางวัล CEO of the Year 2024 จาก Bangkok Post
SOLUX Clinic เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ ตอกย้ำความสวยที่มีระดับ (พรีเมียม)