นอกจากการไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อมในเรื่องต่างๆ แล้วนั้น การจัดการกับปัญหา “ขยะ” ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งในการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับโลกของเรา เพราะจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย และทำให้ปัญหาขยะกลายเป็นปัญหาที่ทุกประเทศต่างให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ศูนย์การค้า เดอะ สตรีท รัชดา เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่มองเห็นความสำคัญของการจัดการปัญหาขยะ และได้มุ่งมั่นในการจัดการปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยจิตสำนึกที่ว่า เดอะ สตรีท รัชดา เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง จึงมีปริมาณขยะจากร้านค้า ร้านอาหารและกิจกรรมต่างๆ ในศูนย์การค้ามากกว่าปกติ
นายพงษ์ศักดิ์ นันตวรรณกุล กรรมการผู้จัดการ ศูนย์การค้า เดอะ สตรีท รัชดา กล่าวว่า “ที่ผ่านมาศูนย์การค้าฯ ได้ตระหนักถึงหน้าที่ในการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี มีการรองรับและมีการดำเนินการจัดการขยะมาโดยตลอด ก่อนหน้านี้ได้เคยจัดกิจกรรมเก็บขยะในพื้นที่โดยรอบและนำมาคัดแยกประเภทขยะมาแล้ว ต่อมาได้เข้าร่วมโครงการ Care the Whale ซึ่งเป็นโครงการร่วมภาคสังคม ภาคธุรกิจ ภาครัฐ ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่จะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในย่านรัชดา เพื่อลดภาวะโลกร้อนและสร้างคุณภาพชีวิตที่สมดุล มีแนวคิดและแนวปฏิบัติตรงกันกับภารกิจที่ศูนย์การค้าฯ ดำเนินการอยู่ นั่นคือความตระหนักและมองเห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ในการเพิ่มขยะรีไซเคิล ลดขยะทั่วไป และนำขยะย่อยสลายไปใช้ประโยชน์ต่อ (Zero Waste) เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน และกระตุ้นการสร้างจิตสำนึกของคนในสังคมต่อเรื่องนี้ ต้องมีการร่วมมือกันจากหลายภาคส่วน จะทำให้สิ่งที่ดำเนินการอยู่นั้น เห็นผลเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน และรวดเร็วกว่าการลงมือทำแต่เพียงลำพัง”
เพราะขยะคือประเด็นทางสิ่งแวดล้อมที่หลายองค์กรทั่วโลกให้ความสนใจ และมีเป้าหมายร่วมกันในการลดผลกระทบจากปัญหาขยะ การจัดการขยะจึงเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน การคัดแยกขยะนอกจากจะทำให้ปริมาณขยะที่ต้องกำจัดทิ้งลดลงแล้ว ยังเป็นอีกวิธีการหนึ่งในการช่วยลดปัญหาโลกร้อนด้วย ศูนย์การค้าฯ จึงเริ่มจากการให้ความรู้ร้านค้าผู้เช่า ผู้มาใช้บริการ ตลอดจนประชาชนที่พำนักอาศัยหรือทำงานในพื้นที่โดยรอบ ให้รู้จักการทิ้งขยะอย่างถูกวิธี ด้วยการคัดแยกขยะประเภทต่างๆ เพราะนอกจากจะสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับศูนย์การค้าฯ ได้แล้วนั้น ในอนาคตยังมองไปถึงการขยายผลไปสู่เป้าหมาย Zero Waste to landfill ในย่านถนนรัชดาภิเษกอีกด้วย พร้อมกันนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการทำงานการจัดการขยะอย่างชัดเจน โดยพนักงานแต่ละฝ่ายจะมีส่วนร่วม ที่ไม่เพียงแค่จัดการขยะภายในศูนย์การค้าฯ เท่านั้น แต่ยังมีการขยายวงออกไปสู่ชุมชนโดยรอบ และยังมีการต่อยอดโครงการกับหน่วยงานอื่นๆ อีกถึง 8 โครงการ ด้วยกัน ได้แก่
- โครงการแยกก่อนทิ้ง ไม่เทรวม (เก็บขยะตั้งแต่ต้นทาง) ร่วมมือกับสำนักงานเขตดินแดง จัดส่งนักวิชาการสุขาภิบาลปฏิบัติการ อบรมให้ความรู้เรื่องสุขาภิบาลอาหารและการคัดแยกขยะให้ร้านค้า รณรงค์ให้คัดแยกขยะตามร้านค้า รับขยะตั้งแต่ต้นทาง เน้นเศษอาหารและขยะกำพร้า (ขยะที่ขายไม่ได้) ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ถึงปัจจุบัน สามารถคัดแยกขยะได้น้ำหนักรวม 14,250 กก.
- โครงการธนาคารขยะ จัดให้ร้านค้าภายในศูนย์การค้าฯ นำขยะ 4 ประเภทคือ กระดาษ ขวดพลาสติก ขวดแก้ว อลูมิเนียม มาแลกเป็นคะแนนสะสมและนำไปใช้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าของทางร้านค้า เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน โดยมีร้านค้านำขยะมาแลกแล้ว 25,084 คะแนน และนำคะแนนมาแลกเป็นค่าไฟฟ้าแล้ว 9,148 คะแนน ในอนาคตจะเพิ่มประเภทขยะที่จะรับแลกอีก คือเศษอาหารและน้ำมันทอดอาหาร
- โครงการเก็บกลับ-รีไซเคิล ร่วมกับบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด รับวัสดุรีไซเคิลจากโครงการธนาคารขยะ เริ่มโครงการมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการส่งมอบวัสดุรีไซเคิลไปแล้ว 15,569 กก.
- โครงการวน ร่วมกับบริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) ตั้งจุดรับบริจาคพลาสติกชนิดอ่อน ที่สะอาดและแห้ง
- โครงการขวดแก้วล่องหน ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) จัดตั้งจุดรับขวดแก้วเพื่อแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ของโอสถสภา พร้อมทั้งสมทบผลิตภัณฑ์มูลค่าตามปริมาณขยะที่ได้รับคือ 1 บาท ต่อขยะขวดแก้ว 1 กก. สนับสนุนเข้าโครงการ Care the Whale
- โครงการเหลือ-ขอ ร่วมกับมูลนิธินกขมิ้น เปิดรับวัสดุเหลือใช้ที่ยังสามารถใช้งานได้ ส่งต่อโครงการเหลือ-ขอ ของมูลนิธินกขมิ้น ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ถึงปัจจุบัน ได้รวบรวมวัสดุเหลือใช้ส่งมอบไปแล้ว 9,560 กก.
- โครงการแยกก่อนทิ้ง ไม่เทรวม (เก็บขยะชุมชน) เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการแยกก่อนทิ้ง ขยายการจัดเก็บขยะเศษอาหารของชุมชนรอบข้างศูนย์การค้าฯ มุ่งเน้นให้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมรับผิดชอบบริหารจัดการขยะ ตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ถึงปัจจุบัน ได้ขยะชุมชนรวม 2,609 กก.
- โครงการขยะกำพร้า ร่วมกับ บริษัทเอ็น15 เทคโนโลยี จำกัด เปิดรับขยะกำพร้าจากบุคคลทั่วไป ร้านค้า ลูกค้า และชุมชนรอบข้างศูนย์การค้าฯ เพื่อส่งต่อขยะกำพร้าไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงาน ตั้งแต่เริ่มโครงการในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ถึงปัจจุบัน ได้ส่งมอบขยะกำพร้าไปแล้ว 49,140 กก. และในอนาคตยังมีแผนจะรับบริจาคขยะอันตราย ขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงรับบริจาคยาที่ยังไม่หมดอายุเพื่อส่งต่อ รพ. ที่ห่างไกลด้วย
“เริ่มแรกที่ศูนย์การค้าฯ ทำโครงการเกี่ยวกับขยะเรายังไม่ได้ทำอะไรใหญ่โต แต่ทำเพราะมองเห็นว่ามีความสำคัญและต้องกำจัดปัญหานี้ให้ได้ เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ มีโครงการ Care the Whale ขึ้นมา และได้เชิญชวนให้เข้าร่วมโครงการในฐานะผู้ประกอบการที่ตั้งอยู่บนถนนรัชดาภิเษก เรื่องนี้ได้จุดประกายให้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาขยะมากขึ้น และทำให้อยากทำอะไรที่ต่อยอดในเรื่องนี้ไปอีกเรื่อยๆ อยากจะฝากถึงธุรกิจอื่นๆ หากมีโอกาสก็อยากให้เริ่มลงมือทำ หากทุกธุรกิจร่วมมือร่วมใจกันจัดการปัญหาขยะอย่างจริงจัง ก็จะทำให้ปริมาณขยะลดน้อยลงได้ในที่สุด” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ ศูนย์การค้า เดอะ สตรีท รัชดา ยังได้รับใบประกาศเกียรติคุณ โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme LESS) ในงาน “Climate Care Forum 2023” Time To REDUCE ลด-เพื่อ-โลก ซึ่งจัดขึ้นโดย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ร่วมกับ องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เนื่องในการเป็นสมาชิก Climate Care Platform องค์กรที่ดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่องเป็นต้นแบบให้กับองค์กรอื่น โดยศูนย์การค้าฯ ได้ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกรวมแล้วกว่า 255,118 kgCO2e
More Stories
บีทีเอส กรุ๊ปฯ ได้รับรางวัลเกียรติคุณ “Sustainability Disclosure Award 2024 ต่อเนื่องปีที่ 6
BAM จัดงาน “ BAM Save The Sea #2 (25th Anniversary) ”
ไทยออยล์ คว้ารางวัลเกียรติคุณ การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6