26 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

ออมสิน จัดงาน GSB Forum 2023 ประสบความสำเร็จ แขกร่วมงานคับคั่ง

ชู CSV สร้างคุณค่าร่วม รวมพลังการให้พร้อมพัฒนา มุ่งลดความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน 

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องฉัตราบอลรูม โรมแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ  ที่ผ่านมา ธนาคารออมสินจัดสัมมนา GSB Forum 2023 หัวข้อ ESG : Social Pillar Driven “สังคมยั่งยืน เพื่อโลกที่ยั่งยืน” เปิดเวทีถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนมุมมอง ประสบการณ์การดำเนินกิจการสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยกรอบแนวคิด ESG : Environment-Social-Governance ที่ธนาคารมุ่งเน้นแกนหลักด้านสังคม (Social) โดย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเปิดการสัมมนาผ่านวีทีอาร์ ใจความว่า เรื่องความยั่งยืนเป็นความท้าทายสำคัญที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นทุกมิติ โดยได้สร้างกลไกสนับสนุนทั้งด้านกฎระเบียบ มาตรการทางการเงินการคลัง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุน เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน แม้บทสรุปของความยั่งยืนยังไม่อาจวัดผลได้ในปัจจุบัน แต่ด้วย Ecosystem ที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกัน ย่อมส่งผลเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจได้ในอนาคต

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “How Does Social Bank Work on the Journey toward Sustainability?” ว่า ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ ธนาคารออมสินกำหนดกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ Dual Mission โดยทำธุรกิจธนาคารสร้างผลกำไรมาสนับสนุนการทำภารกิจเพื่อสังคม มุ่งเป้าหมายช่วยแก้ปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ข้อ 1 และ 10 ทั้งนี้ ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี ธนาคารเพื่อสังคมได้จัดทำโครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมแล้วกว่า 63 โครงการ ช่วยเหลือประชาชนได้กว่า 17 ล้านคน โดยสนับสนุนการให้สินเชื่อช่วยเสริมสภาพคล่องด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมแก่ลูกค้ารายย่อยกว่า 8.5 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ได้รับโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนในระบบเป็นครั้งแรก จำนวนกว่า 3.2 ล้านคน

ผลสำเร็จดังกล่าว เกิดขึ้นได้ด้วยการกำหนดเป็นนโยบาย Social Mission Integration โดยบูรณาการแนวคิดเพื่อสังคมในกระบวนการดำเนินงานที่สำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยเหลือสังคม (Product) การจัดทำโครงการโดยคำนึงถึงประโยชน์ของสังคม (Project) และการปรับกระบวนการดำเนินงานที่ตอบโจทย์ของสังคม (Process) ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการสร้างคุณค่าร่วมของธุรกิจและสังคม คือ CSV : Creating Shared Value โดย Michael Porter และ Mark Kramer โดยธนาคารเตรียมเดินหน้าสร้างการเติบโตทางธุรกิจที่สามารถสร้างคุณค่าต่อสังคมอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยการจัดสรรงบประมาณและการลงทุนในกิจกรรมทางธุรกิจของธนาคาร อาทิ การแก้ปัญหาหนี้ลูกค้ารายย่อยอย่างยั่งยืน การขยายผลโครงการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม โดยธนาคารออมสินคาดหวังที่จะสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้หน่วยงานทุกภาคส่วน ดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงความสมดุลของการพัฒนาที่ครบทั้ง 3 แกน ทั้งด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ด้านมิติการพัฒนาสังคมให้เข้มแข็งโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และด้านการส่งเสริมธรรมาภิบาลที่ดีซึ่งเป็นรากฐานของการเติบโตอย่างยั่งยืนที่แท้จริง

ภายในงานสัมมนา ยังได้รับเกียรติจากบุคคลสำคัญและผู้ทรงคุณวุฒิหลายหน่วยงาน มาร่วมแสดงปาฐกถาและความคิดเห็นต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในแกนด้านสังคม อาทิ

 

Prof. Dr. AKM Saiful Majid ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Grameen Bank ประเทศบังกลาเทศ กล่าวปาฐกถากรณีตัวอย่าง “ธนาคารหมู่บ้าน” ต้นแบบธนาคารเพื่อสังคมและผู้ยากไร้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจนโด่งดังไปทั่วโลก จากการตั้ง Grameen Bank ดำเนินธุรกิจโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างผลกำไรสูงสุด เพื่อประโยชน์ของคนยากจนโดยช่วยให้คนจนมีสิทธิเข้าถึงสินเชื่อ และดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีตัวชี้วัดความสำเร็จ เช่น การถือครองที่ดิน รายได้ และการจ้างงาน โดยที่ผ่านมาสามารถช่วยเหลือผู้ยากไร้จำนวนกว่า 10 ล้านคนให้หลุดพ้นจากวงจรความยากจน สมาชิกมากกว่า 2 ใน 3 (ประมาณ 10.2 ล้านคน) หลุดพ้นจากวงจรความยากจน

Mr. Renaud Meyer Resident Representative UNDP Thailand กล่าวว่า มิติที่สำคัญของ ESG คือความเท่าเทียม เป็นการทำให้ทุกคนไม่ว่าจะในฐานะอะไรได้เข้าถึงโอกาสการมีส่วนร่วม ซึ่งในมิติของธุรกิจจะเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพขององค์กร ดังนั้นเวลามองมิติการทำธุรกิจ ผนวกมิติความยั่งยืนจะทำให้องค์กรเดินหน้าไปได้อย่างมั่นคงและแข่งขันได้มากขึ้น และสังคมจะอยู่ได้อย่างกลมกลืม ภายใต้เป้าหมายสำคัญ การพัฒนาที่ยั่งยืน จากความร่วมมือกันและส่งพลังให้ก้าวเดินหน้าได้ อีกทั้งต้องทำงานร่วมกันจึงจะบรรลุเป้าหมายได้ ต้องมาพร้อมกับ “การทำงาน พฤติกรรมในองค์กร ปรับฐานคิด” นี่คือสมการใหม่ของการพัฒนาที่ยั่งยืนทางสังคม

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ความเข้มแข็งของสังคมเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการเติบโตของธุรกิจทั้งหมด แต่ปัจจุบันในประเทศไทยฐานะความร่ำรวยกระจุกตัวเพียงบางกลุ่มคน ขณะที่ความยากจนนั้นกระจายไปทั่วประเทศ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่ธุรกิจเป็นเครื่องมือในการสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งต้องแก้ไขที่จุดนี้ โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มีปรัชญา “ไม่มีใครอยากเป็นคนไม่ดี เพียงแค่เขาไม่มีโอกาสและทางเลือกในการทำในสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น” ดังนั้นมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จึงให้ความสำคัญเรื่องการให้โอกาส และเป็นการให้ที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมและชุมชนในระยะยาว

ด้าน ดร.เอกพล ณ สงขลา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ให้ความเห็นในฐานะองค์กรธุรกิจ มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน (Collaboration) เป็นปัจจัยความสำเร็จการสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเริ่มจากดำเนินการจากจุดเล็กๆ ที่เป็นหน่วยย่อย จะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมเกิดความร่วมมือในวงกว้าง ดังแนวคิดของทฤษฎีผีเสื้อกระพือปีกซึ่งเป็นธีมหลักของการจัดสัมมนาครั้งนี้ โดยบริษัทฯ เน้นส่งเสริมให้ชุมชนสามารถยืนได้ด้วยตนเองผ่านโครงการสำคัญ เช่น โครงการประชารัฐรักสามัคคี เป็นต้น

นอกจากนี้ ช่วงบ่ายของการสัมมนาเป็นการเน้นเนื้อหาเข้มข้นในเรื่องการสร้างคุณค่าร่วมของธุรกิจและสังคม หรือ CSV : Creating Shared Value ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิมากหมายหลายท่าน ที่ได้มาบรรยายให้ความรู้และแชร์ไอเดียแนวคิดที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้นำไปต่อยอดการทำแผนธุรกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านแกนด้านสังคม อาทิ นายปิยะชาติ อิศรภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BRANDi and Companies ในหัวข้อ The New Competitive and Collaborative Advantages : Creating Shared Value (CSV) Ms. Fiona Stewart และคุณขวัญพัฒน์ สุทธิธรรมกิจ จากธนาคารโลก หรือ World Bank ในหัวข้อ Creating Shared Value : Role of Sustainability-Linked Financing ปิดท้ายด้วยการเสวนาในหัวข้อ CSV Success Stories Well Told โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของธนาคารออมสินองค์กรต่างๆ ที่ได้รับประโยชน์เชิงสังคมจากการดำเนินงานของธนาคาร ได้แก่ ผู้แทนจากสถาบันการเงินประชาชน ผู้แทนจากมูลนิธิออทิสติกไทย ผู้แทนนักเรียนจากโครงการธนาคารโรงเรียน และผู้แทนชุมชนในพื้นที่โครงการพัฒนาแบบองค์รวม “ออมสินฮ่วมใจ๋ฮักขุนน่าน” จังหวัดน่าน โดยได้รับเกียรติจาก นางบุญรักษ์ อุดมสิทธิพงศ์ รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เป็นผู้กล่าวปิดท้ายงานสัมมนาด้วยกรณีตัวอย่างความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจธนาคารออมสินที่ยึดหลักการเพื่อช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทย

Skip to content