26 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 35

พัฒนาความมั่นคงด้านอาชีพ สู่การเป็นเศรษฐีอย่างยั่งยืน โครงการศูนย์พัฒนาปศุสัตว์ตามพระราชดำริ จ.เลย

          ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 35  จัดกิจกรรมพาคณะครูอาจารย์ และผู้สนใจลงพื้นที่ ณ โครงการศูนย์พัฒนาปศุสัตว์ตามพระราชดำริ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ศูนย์เรียนรู้ที่ทำการศึกษาวิจัยจัดตั้งฐานการผลิต เพื่อส่งเสริมและกระจายพันธุ์สัตว์ปีกสร้างพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ไทย มอบให้แก่โรงเรียนและเกษตรกรยากจนในจังหวัดเลยและใกล้เคียง  ช่วยให้นักเรียนในโรงเรียนได้รับความรู้และทักษะด้านการเลี้ยงสัตว์ สามารถนำความรู้ไปต่อยอดทำเป็นอาชีพเสริม ดำเนินกิจกรรมในลักษณะกลุ่มเกษตรกรสร้างความเข้มแข็งทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างโรงเรียนและชุมชน สร้างอาชีพ มีรายได้เสริม มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  โดยคณะครูอาจารย์และผู้ร่วมกิจกรรม จะได้ศึกษาการผลิตหัวอาหารสัตว์ที่เหมาะสมทั้งต้นทุนและวัตถุดิบ สำหรับไก่พันธุ์เนื้อ และพันธุ์ไข่ เพื่อการบริโภคและจำหน่าย   ศึกษาการเลี้ยงผึ้ง และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากการเลี้ยงผึ้ง อาทิ เครื่องสำอาง อาหารเสริม สบู่  ครีมบำรุงผิว ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน  ซึ่งสามารถนำความรู้มาสร้างอาชีพและพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์สู่ตลาดสากล  สร้างความมั่งคั่งแข็งแรงให้กับชุมชนและเศรษฐกิจชาติได้

นับเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้และมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ครอบคลุมมิติด้านสังคมและเศรษฐกิจ เป้าหมายที่ 1) No Poverty : ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่  เป้าหมายที่ 2) Zero Hunger ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน  เป้าหมายที่  3) Good health and well-being สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย และเป้าหมายที่ 12) Responsible Consumption and Production สร้างหลักประกันให้มีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน   จากเป้าหมายทั้งหมด 17 เป้าหมายของ SDGs

นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “พันธกิจของทิพยประกันภัย คือการสร้างคุณค่าสูงสุดภายใต้หลักธรรมาภิบาลให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ทั้งผู้ถือหุ้น ลูกค้า บุคลากร คู่ค้า และสังคม ซึ่งการจัดโครงการฯ นี้ นับเป็นการเดินทางสู่พันธกิจที่เรามุ่งมั่นสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นต่อสังคม  และเนื่องในโอกาสที่ ทิพยประกันภัย ครบรอบ 72 ปี เรามีความตั้งใจในการสร้างคุณค่าในเรื่องของ “คน”  Human Innovation  สนับสนุนนวัตกรรมการพัฒนาบุคลากร โครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา เป็นการน้อมนำองค์ความรู้ด้านการพัฒนาตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  มาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ ถือว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งของนวัตกรรมในการพัฒนา “คน”  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เยาวชนและการศึกษาของประเทศ  เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้อย่างมีศักยภาพ”

ด้าน รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ผู้ร่วมสนับสนุนโครงการฯ กล่าวว่า “สถานการณ์คุณธรรมเชิงพฤติกรรมที่ปรากฏเกิดขึ้นในประเทศไทยพบว่า คุณธรรมในผู้ใหญ่วัย 25-40 ปี มีประเด็นด้าน “วินัยและความรับผิดชอบ” อีกทั้งพฤติกรรมด้าน “ความพอเพียง” ของกลุ่มผู้ที่อายุเกิน 40 ปี เป็นที่น่ากังวลในเรื่องของหนี้สินครัวเรือนการใช้จ่ายเกินตัว ที่มีผลมาจากทุนนิยม และพบว่าพฤติกรรมด้าน “ความซื่อสัตย์สุจริต” ในกลุ่มเยาวชนเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญในเรื่องของการยอมผิดกติกาเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย”

ดังนั้น การพัฒนาโดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  จึงเป็นการยึดหลักทางสายกลาง ด้วยความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล สร้างภูมิคุ้มกัน ตลอดจนใช้ความรู้ด้วยความรอบคอบระมัดระวัง และมีคุณธรรมเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจและการกระทำ  จะเป็นการสร้างคน สังคม และประเทศชาติให้มีความมั่นคง

นอกจากนี้ คณะผู้ร่วมกิจกรรมยังได้ร่วมพิธี “ธรรมดี ช่วยเพื่อน” มอบแม่โคท้อง 3 ตัว ลูกวัว 1 ตัว รวม 6 ชีวิตให้กับนักเรียนในอำเภอด่านซ้ายที่มีความประพฤติดี มีความกตัญญูและเจ้าหน้าที่ในโครงการศูนย์พัฒนาปศุสัตว์ตามพระราชดำริ และร่วมมอบหนังสือจากโครงการ อ่านพลิกชีวิต ของอมรินทร์กรุ๊ป  มอบทุนการศึกษาจากมูลนิธิธรรมดี ให้กับโรงเรียนภูเรือวิทยาในจังหวัดเลย   ทำกิจกรรม Workshop การถอดบทเรียนนวัตกรรมศาสตร์พระราชา ตามรอยนวัตกรรมของพ่อ ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับสากล ศาสตร์พระราชากับนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด   สอดแทรกคุณธรรม 5 ประการ คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญู  และ The King’s Journey Learn English an Example of an Invention   โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย และการบรรยายถอดรหัสพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ ๙ โดย ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี  รับฟังการบรรยายเรื่อง “คุณธรรมในยุคดิจิทัล”  โดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม เป็นการเตรียมพร้อมเพื่อก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามนโยบาย UNSDG ภายในปี 2030

ทั้งนี้ ครูอาจารย์ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านยังได้รับประกาศนียบัตรว่าได้ผ่านการอบรมจากโครงการฯ ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นหนึ่งในกิจกรรมการพัฒนาตนเองในการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาจากคุรุสภาได้

 

                                                  

 

 

 

 

Skip to content