นายพิชา สิริโยธิน ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายปลายปีเช่นนี้ นับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับการวางแผนภาษีของประชาชนผู้มีเงินได้ รวมถึงหลายๆ ภาคธุรกิจทางการเงินต่างก็ให้ความสำคัญนำเสนอสินค้าที่ใช้ในการลดหย่อนภาษีให้ประชาชนได้เลือกสรรอย่างเหมาะสมกับวิถีชีวิตและการลงทุนของแต่ละบุคคล ซึ่งธุรกิจประกันชีวิตเป็นหนึ่งในเครื่องมือบริหารความเสี่ยงของชีวิตและสุขภาพ ตลอดจนการเงิน การลงทุน รวมถึงเป็นเครื่องมือชดเชยรายได้ในยามชรา ผ่านผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตหลายประเภท อาทิ ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา ประกันชีวิตควบการลงทุน ประกันภัยสุขภาพ ประกันชีวิตแบบบำนาญ ประกอบกับการที่ภาครัฐได้เล็งเห็นความสำคัญของการออมเงิน ระยะยาวเพื่อการสร้างความมั่นคงให้กับอนาคต อีกทั้งยังช่วยลดภาระให้ตนเองและครอบครัวรวมถึงสังคม
โดยกรมสรรพกรกำหนดให้สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่ทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทยที่มีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป หากมีการจ่ายเงินคืนระหว่างสัญญา เงินคืนที่ได้รับจะต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ย ประกันชีวิตรายปี และสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่ชำระดังกล่าวมาลดหย่อนภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท และสำหรับผู้มีเงินได้ที่มีประกันภัยสุขภาพสามารถนำเบี้ยที่ชำระแล้วมาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วจะต้องไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนผู้ที่มี ประกันชีวิตแบบบำนาญสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่ชำระแล้วไปลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยทั้งนี้เงินลดหย่อนภาษีดังกล่าวเมื่อรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่มีประกันภัยสุขภาพของบิดามารดา สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าบิดามารดาของผู้มีเงินได้ จะต้องมีเงินได้พึงประเมินใน ปีภาษีที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
อย่างไรก็ตาม ขอเน้นย้ำทุกท่านว่าอย่าลืมว่าสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเป็นเพียงผลประโยชน์เพิ่มเติมเท่านั้น เพราะจุดเริ่มต้นของการมีประกันชีวิต ประกันภัยสุขภาพ หรือประกันชีวิตแบบบำนาญ คือเรื่องความคุ้มครองและบริหารความเสี่ยงเป็นหลักสำคัญ นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่มีการทำประกันดังกล่าวข้างต้นไว้แล้วอย่าลืมแจ้งความประสงค์และให้ความยินยอม (consent) แก่บริษัทประกันชีวิตเพื่อนำส่งข้อมูลการชำระเบี้ยประกันชีวิต
ให้กรมสรรพากรตามแนวทางที่กรมสรรพากรกำหนด เพราะไม่เช่นนั้นผู้เอาประกันภัยจะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันชีวิตของกรมธรรม์นั้นได้ กรณีผู้ที่มีกรมธรรม์หลายฉบับ ก็ต้องให้ความยินยอม (consent) ทุกฉบับที่ผู้เอาประกันภัยจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันชีวิตไทย กล่าว
More Stories
ทิพยประกันภัย ชวนถอดรหัสความสำเร็จ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำครบวงจรแห่งแรกของไทย พลิกฟื้นปากพนัง สู่อู่ข้าวอู่น้ำเมืองคอน
กรุงไทย–แอกซ่า ประกันชีวิต คว้ารางวัล “ขวัญใจมหาชน” ในโครงการ “ตลาดทุนไทย ร่วมส่งพลังความรู้ สู่ประชาชน เฟสที่ 2”
กรุงเทพประกันชีวิต ส่งต่อความ “ใส่ใจ” ให้เยาวชนไทย เดินหน้าโครงการ CSR “สานฝันจากพี่สู่น้อง” ปี 2567