พีระพันธุ์ ลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานี เยี่ยมชมสถานีไฟฟ้าแรงสูงอุดรธานี 3 ของ กฟผ. ซึ่งเป็นสถานีรับไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า IPP พลังน้ำจาก สปป.ลาว ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ช่วยลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติที่มีราคาผันผวน และเข้ารับฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาของผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวภาพหลังถูกชาวบ้านร้องเรียน
(3 ธันวาคม 2566) ที่ผ่านมา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะผู้บริหารจากกระทรวงพลังงาน ได้เยี่ยมชมสถานีไฟฟ้าแรงสูงอุดรธานี 3 ของ กฟผ. ตั้งอยู่ที่บ้านหนองแก ตำบลหนองนาคำ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งสถานีไฟฟ้าแรงสูงนี้ เป็นโครงการระบบส่งที่รับไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า IPP พลังน้ำจากเขื่อนน้ำงึม 2 เขื่อนน้ำเงี้ยบ 1 และเขื่อนน้ำเทิน 1 จาก สปป.ลาว มีกำลังการผลิตรวม 1,516 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการนี้ก่อสร้างเสร็จเมื่อปี 2559 ด้วยมูลค่าก่อสร้าง 859 ล้านบาท ซึ่งการนำเข้าไฟฟ้าจาก สปป.ลาว จะช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า เป็นพลังงานสะอาดและสามารถลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติที่มีราคาผันผวนในระดับสูงอยู่ในปัจจุบันได้ ซึ่งในส่วนของจังหวัดอุดรธานี เป็นจังหวัดที่มีการใช้ปริมาณไฟฟ้าสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จากนั้น ได้เดินทางไปยังโรงไฟฟ้าของบริษัท เรืองสิริวรรณ จำกัด ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าประเภทก๊าซชีวภาพจากหญ้าเนเปียร์ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 0.90 เมกะวัตต์ เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2561 ที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าดังกล่าว ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนถึงมลภาวะทางกลิ่นและฝุ่น ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เขต 4 ร่วมกับสำนักงานพลังงานจังหวัดอุดรธานี สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 9 (อุดรธานี) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ได้เข้าร่วมตรวจสอบการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าและได้สั่งให้มีการแก้ไขปรับปรุงให้ได้มาตรฐานและไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนรอบโรงไฟฟ้า
“สถานีไฟฟ้าแรงสูง 3 จังหวัดอุดรธานี ที่ได้เยี่ยมชมในวันนี้ นับว่าเป็นโครงการที่ดี เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าที่กำลังเป็นประเด็นปัญหาในปัจจุบัน เพราะต้นทุนไฟฟ้าพลังงานจาก สปป.ลาว มีราคาค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับราคาก๊าซธรรมชาตินำเข้าในปัจจุบันที่มีราคาผันผวนในระดับที่สูง
แต่กระทรวงพลังงานก็พยายามบริหารจัดการทั้งโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าและโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติให้เกิดความเป็นธรรม ไปพร้อมกับการจัดหาแหล่งพลังงานที่มีต้นทุนต่ำ สร้างความมั่นคงเพื่อสร้าง
ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่เป็นธรรม เหมาะสม และยั่งยืน ทั้งนี้
ผมก็ได้แสดงความห่วงใยถึงภาระหนี้ที่ กฟผ. แบกรับอยู่ ณ ปัจจุบัน พร้อมจะช่วยแก้ปัญหา รวมทั้งขอให้ กฟผ. ชี้แจงเหตุผลให้ประชาชนรับทราบถึงความจำเป็นในการรับซื้อไฟฟ้าจากลาว ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดและมีต้นทุนที่ต่ำ
ส่วนการเลือกดูงานที่โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพของบริษัท เรืองสิริวรรณ จำกัด นั้น เพราะผมได้รับรายงานว่าโรงไฟฟ้าดังกล่าวได้สร้างมลภาวะทางกลิ่นและฝุ่น ส่งผลกระทบกับประชาชนรอบโรงไฟฟ้า ซึ่งจากการรับฟังผู้ประกอบการได้รายงานแนวทางการแก้ไขปัญหา ก็คาดการณ์ได้ว่าจะสามารถดำเนินการแก้ไขได้โดยเร็ว แต่ผมก็ได้กำชับทั้งผู้ประกอบการและส่วนราชการในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่นี้รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ด้วย โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพนี้ แม้จะเป็นโครงการที่ดี สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านที่ปลูกหญ้าเนเปียร์ป้อนให้โรงไฟฟ้า และลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ แต่โรงไฟฟ้าก็ต้องมีมาตรฐาน ไม่สร้างมลภาวะให้กับประชาชนรอบโรงไฟฟ้าด้วย” นายพีระพันธุ์ กล่าว
More Stories
SSP ติดปีก! รุกขยายพอร์ตโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ
ราช กรุ๊ป – เอไอเอฟ กรุ๊ป – โรนิตรอน จับมือศึกษาและพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจน – กรีนแอมโมเนีย จากพลังงานสะอาดใน สปป.ลาว
“พลังงาน”ชูต้นแบบสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ