มลพิษทางอากาศอย่างฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาสำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และมลพิษเหล่านี้ไม่ได้เกิดสิ่งที่ไกลตัวอย่างโรงงานอุตสาหกรรม หรือการเผาทางการเกษตรเท่านั้น แต่ยังมาจากการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงกิจกรรมที่จะส่งผู้ล่วงลับเป็นครั้งสุดท้ายอย่างการเผาศพ ซึ่งปัจจุบันถือว่าเตาเผาศพเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่ต้องถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม ทั้งวัดและชุมชนจึงเริ่มมีความตื่นตัวในเรื่องของเตาเผาศพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ปัญหาเรื่องเขม่าควันและมลพิษจากการเผาศพเป็นประเด็นที่มีการร้องเรียนอยู่เป็นระยะ เนื่องจากผู้คนในสังคมไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ การจัดพิธีศพจึงทำโดยการเผาเป็นหลัก ปัจจุบันทั่วประเทศไทยมีเตาเผาศพประมาณ 25,000 เตา* บางวัดยังใช้เตาเผาที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือเตาเผามาตรฐานระดับที่ 1 เป็นห้องเผาที่ใช้ถ่าน ไม้ และฟืน เป็นเชื้อเพลง ไม่มีการควบคุมอุณหภูมิ และมีประสิทธิภาพในการควบคุมมลพิษต่ำ ก่อให้เกิดกลิ่น ควัน ฝุ่นละออง PM2.5 ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และขี้เถ้าจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงซึ่งมาจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์หรืออุณหภูมิไม่สูงพอ การเผาศพหนึ่งครั้งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 113 กิโลกรัม** เทียบเท่าได้กับการขับขี่รถยนต์เป็นระยะทางกว่า 800 กิโลเมตร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชุมชนในบริเวณใกล้เคียง
วัดห้วยหินฝนเป็นวัดในชุมชนที่ใช้เมรุหลังเดิมมานานหลายสิบปี นอกจากปัญหาควันและกลิ่นจากระบบการเผาด้วยฝืนแล้ว ปัญหาโครงสร้างที่ทรุดโทรมของเมรุที่ส่งผลต่อการใช้งานก็เริ่มยากที่จะแก้ไข ดร.พระศรีสัจญาณมุนี เจ้าอาวาสวัดห้วยหินฝน ได้กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้ทางวัดพยายามที่จะซ่อมแซมอยู่ตลอด โดยเฉพาะยอดเมรุที่ผุพังจนทำให้ควันจากการเผาลอยต่ำลงมาถึงพื้นถึงชุมชน ยิ่งในวันที่มีลม ชาวบ้านจะต้องรับมือทั้งกลิ่นและควันเป็นเวลาหลายชั่วโมง แต่ก็ได้แค่แก้ปัญหาไปเรื่อย ๆ เพราะต้องใช้งบประมาณเยอะมาก ต่อให้วัดจัดทอดผ้าป่าก็คงจะใช้เวลา 3 – 4 ปีกว่าจะได้ปัจจัยมา การที่ทาง กรุงศรี ออโต้ ได้ยื่นมือเข้ามาสนับสนุนการสร้างเมรุใหม่ ผ่านพิธีทอดกฐินของ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ในปีนี้ นอกจากทางวัดและชุมชนจะได้เมรุใหม่มาทดแทนหลังเดิมที่ผุพังแล้ว ยังได้เปลี่ยนเตาเผาให้เป็นระบบไฟฟ้า ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของสำนักสงฆ์ที่ต้องการจะลดการก่อมลพิษจากการเผาศพ และลดผลกระทบต่อคนในชุมชนได้อีกด้วย”
นางพราวนภา ทับทอง ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลวังทอง อำเภอภักดีชุมพล จังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า “เมรุเดิมที่วัดนอกจากจะทรุดตัวแล้ว ปล่องยังตัน ทำให้ควันลอยลงข้างล่าง สร้างมลพิษและกลิ่นให้กับชาวบ้านในพื้นที่รอบข้างเป็นอย่างมาก เตารูปแบบเดิมใช้เวลาเผานานประมาณ 3-4 ชั่วโมง และต้องพักเตาอีก 10 ชั่วโมงถึงจะใช้ได้อีกครั้ง ทุกวันนี้ทางวัดต้องลดจำนวนการเผาศพลง หากวัดได้เปลี่ยนมาใช้เตาไฟฟ้า ที่ใช้เวลาเผาแค่ 1 ชั่วโมง และใช้งานได้ต่อเนื่องไม่ต้องพักเตา ก็จะช่วยลดเรื่องมลพิษและกลิ่น ช่วยเบาแรงสัปเหร่อ ไม่มีเศษขี้เถ้า รู้สึกดีใจที่วัดจะได้รับการซ่อมแซมเมรุใหม่ในครั้งนี้”
“เมรุที่วัดห้วยหินฝนทรุดโทรมมากทั้งโครงสร้างและระบบการเผา ชาวบ้านหลายคนมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะถ้าเมรุที่วัดใช้งานไม่ได้และจำเป็นต้องจัดงานศพ จะต้องเดินทางข้ามหมู่บ้านไปกว่า 5 กิโลเมตร สร้างความลำบากในการเดินทาง ถ้าวัดได้ซ่อมแซมเมรุก็จะทำให้ชาวบ้านคลายกังวลในเรื่องการเดินทางและปัญหาควันและกลิ่นที่ทุกคนในชุมชนต้องประสบทุกครั้งที่มีงาน” นายบำรุง จันดา ชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียงวัดห้วยหินฝน กล่าวเสริม
ด้วยแนวคิดในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ‘กรุงศรี ออโต้’ ได้ตระหนักถึงปัญหามลพิษทางอากาศและต้องการที่จะส่งเสริมสภาพความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน จึงได้ระดมบุญจากพนักงานและพันธมิตรทางธุรกิจในพิธีทอดกฐินของ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประจำปี 2566 เพื่อสร้างเมรุใหม่ สำหรับรองรับเตาเผาไฟฟ้าไร้มลพิษแทนที่เตาเผาระบบฟืนแบบเดิม ณ วัดห้วยหินฝน ตำบลวังทอง อำเภอภักดีชุมพล จังหวัดชัยภูมิ เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) ความรับผิดชอบต่อสังคม (Social) และการมีธรรมภิบาล (Governance) สอดคล้องกับนโยบายของ กรุงศรี กรุ๊ป กับเป้าหมาย Krungsri Race to Net Zero เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2573 อีกด้วย
พิธีทอดกฐินธนาคาร ประจำปี 2566 นี้ ‘กรุงศรี ออโต้’ ได้มอบเงินทำบุญจำนวน 2,415,052 บาท จากการร่วมระดมบุญ โดยผู้บริหารและพนักงาน กรุงศรี ออโต้ และ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ทั่วประเทศ ตลอดจนประชาชนทั่วไปผู้มีจิตศรัทธา และแคมเปญส่งเสริมการขาย ‘ได้รถ ได้บุญ’ ของสินเชื่อ ‘กรุงศรี ยูสด์ คาร์’ ที่ร่วมกับพันธมิตรผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้วในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
‘กรุงศรี ออโต้’ ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดพิธีทอดกฐินมาอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงเพื่อให้พนักงานและพันธมิตรได้ทำบุญร่วมกัน แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการประกอบธุรกิจด้วยความใส่ใจในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ผู้ใช้รถในประเทศไทย ผู้ถือหุ้น และสังคมไทย โดยเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดในการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Values) เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
*ที่มากรมควบคุมมลพิษ ประกาศควบคุมมาตรฐานเตาเผาศพเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม
** ที่มา SDG MOVE
More Stories
“ซึ้งใจมาหาถึงบ้าน” คาราวาน “ผ้าห่มผืนเขียว” เดินทางข้ามหุบเขา มอบไออุ่นถึงมือพี่น้องชาวพิษณุโลก
เอสซีจี เดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในอาเซียน มอบทุนอีก 3 ประเทศ
คาร์กิลล์ สานต่อ ‘โครงการเกษตรอาหารกลางวัน’ สร้างความยั่งยืนทางอาหารให้เยาวชนไทย ตอกย้ำการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารโลก