แพทย์ รพ. วิมุต ชี้ PM 2.5 เป็นตัวกระตุ้นสำคัญ แนะเป็นแล้วรีบรักษาก่อนเกิดอันตราย
ปัจจุบันสภาพอากาศมีความแปรปรวนและเต็มไปด้วยมลภาวะ ทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน จนบางครั้งก็ป่วยเป็นไข้หวัดได้ ง่าย ๆ และอาการต่าง ๆ ทั้งไอ จาม และน้ำมูกก็ตามมา โดยหลายคนอาจมีอาการปวดหน่วง ๆ บริเวณศีรษะ ใบหน้า กระบอกตา และโหนกแก้มร่วมด้วย ซึ่งอาจเป็นอาการของ ‘โรคไซนัสอักเสบ’ ที่มีอาการคล้ายไข้หวัดแต่รุนแรงกว่า และถ้าไม่รักษาโดยไวอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ วันนี้ ผศ.พญ.กวินญรัตน์ จิตรอรุณฑ์ แพทย์เฉพาะทางสาขา นาสิกวิทยาและภูมิแพ้ ศูนย์หู คอ จมูก รพ.วิมุต จะมาเล่าถึงความอันตรายของโรคไซนัสอักเสบ พร้อมบอกปัจจัยเสี่ยง เพื่อให้เราสามารถป้องกันและเข้ารับการรักษา ได้ทันก่อนอาการหนักโดยไม่รู้ตัว
‘โรคไซนัสอักเสบ’ คืออะไร
ไซนัส คือ โพรงอากาศที่อยู่ในกะโหลกบริเวณรอบ ๆ จมูกที่ช่วยลดน้ำหนักของกะโหลกไม่ให้หนักเกินไป ซึ่งถ้าเยื่อบุไซนัสถูกกระตุ้นจากฝุ่น เชื้อโรค มลภาวะ สารพิษ หรือปัจจัยอื่น ๆ ก็จะทำให้ไซนัสเกิดการอักเสบได้ โดยผู้ป่วยไซนัสอักเสบมักจะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล น้ำมูกลงคอ ไอ ปวดบริเวณใบหน้าหรือศีรษะ ได้กลิ่นลดลง และในบางคนจะได้กลิ่นเหม็นจากภายในจมูก ด้าน ผศ.พญ.กวินญรัตน์ จิตรอรุณฑ์ อธิบายเพิ่มว่า “คนมักสับสนระหว่างไข้หวัดกับโรคไซนัสอักเสบ เพราะมีอาการคล้ายกัน โดยเฉพาะโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่มักจะเกิดหลังจากเป็นหวัด หรือตอนที่อาการของหวัดเริ่มดีขึ้น แต่อยู่ ๆ ก็อาการหนักขึ้นมา และอาจมีอาการปวดบริเวณใบหน้า ได้กลิ่นผิดปกติจากภายในจมูก น้ำมูกลงคอและน้ำมูกเขียวร่วมด้วย”
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคไซนัสอักเสบ
โรคไซนัสอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ติดเชื้อจากไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อรา มีอาการฟันผุจนเชื้อลุกลามเข้าไปในไซนัส ด้าน ผศ.พญ.กวินญรัตน์ จิตรอรุณฑ์ อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคว่า “ในกรณีไซนัสอักเสบเฉียบพลันมักเกิดจากการติดเชื้อ แล้วมีการอักเสบไปที่บริเวณไซนัส แต่ในกรณีไซนัสอักเสบเรื้อรังจะมีปัจจัยส่งเสริมได้หลายสาเหตุ โดยสาเหตุหลัก ๆ คือ โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ความไม่สมดุลของภูมิคุ้มกันกับสิ่งแวดล้อม และมลภาวะที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน”
‘ไซนัสอักเสบ’ เป็นแล้วรีบรักษาก่อนแทรกซ้อนลามขึ้นตา-สมอง
ภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคไซนัสมักจะเกิดในคนไข้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น โดยเชื้ออาจลุกลามเข้าตา ทำให้ตาบวม ตามัว เห็นภาพซ้อน หรือตาบอดได้ และในกรณีที่ลุกลามขึ้นสมอง ก็จะทำให้ติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมองหรือเป็นฝีเป็นหนองในสมอง ผู้ที่ป่วยเป็นไซนัสอักเสบจึงควรรักษาอาการให้ดีก่อนเป็นอันตรายจากภาวะแทรกซ้อน
แพทย์เตือน PM 2.5 อันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ-เสี่ยงไซนัสอักเสบเรื้อรัง
PM 2.5 เป็นอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็ก ๆ ซึ่งเมื่อเราสูดเข้าไปก็จะมีผลต่อระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง คนที่เจอ PM 2.5 เยอะ ๆ ก็จะทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจอ่อนแอ อักเสบง่าย และกระตุ้นปฏิกิริยาภูมิแพ้ให้รุนแรงขึ้นด้วย เพิ่มโอกาสในการป่วยเป็นไซนัสอักเสบ นอกจากนี้ การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มี PM 2.5 สูง ก็จะทำให้แบคทีเรียที่ไม่ดีเข้าไปสะสมในเยื่อบุไซนัสมากขึ้น ทดแทนแบคทีเรียประจำถิ่นที่อาศัยอยู่ในโพรงไซนัสเดิม ทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจหลั่งสารออกมาต่อต้าน ซึ่งมักจะอันตรายต่อเยื่อบุทางเดินหายใจ ส่งผลให้เกิดการอักเสบ และนำไปสู่อาการไซนัสอักเสบเรื้อรังได้ด้วย โดยแพทย์ รพ.วิมุต แนะนำให้ใส่หน้ากากเพื่อป้องกันฝุ่นละออง และหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในวันที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน
วิธีการดูแลรักษาโรคไซนัสอักเสบ
โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดจากการติดเชื้อ จะสามารถรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อ และให้ยาลดบวมตามความเหมาะสมของแต่ละคน ส่วนไซนัสอักเสบเรื้อรัง จะรักษาได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับอาการ เช่น ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ พ่นยาสเตียรอยด์ กินยาฆ่าเชื้อ และการผ่าตัดไซนัสด้วยกล้องเอนโดสโคป นอกจากนี้ หากรักษาอาการของโรคอื่น ๆ ที่กระตุ้นการอักเสบและติดเชื้อของไซนัส เช่น ฟันผุ โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ก็สามารถช่วยลดอาการที่เกิดขึ้นได้
ผศ.พญ.กวินญรัตน์ จิตรอรุณฑ์ อธิบายวิธีการรักษาเพิ่มเติมว่า “ในกรณีของผู้ป่วยไซนัสอักเสบบางประเภท เช่น ไซนัสอักเสบที่รักษาด้วยยาไม่หาย ไซนัสอักเสบเรื้อรังที่มีภาวะแทรกซ้อน ไซนัสอักเสบจากเชื้อรา ไซนัสอักเสบเรื้อรังแบบที่มีริดสีดวงจมูก แพทย์อาจพิจารณาใช้วิธีการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีสำหรับการผ่าตัดไซนัสที่เรียกว่า Functional Endoscopic Sinus Surgery (FESS) เป็นการผ่าตัดไซนัสโดยใช้กล้องเอนโดสโคป ที่ไม่มีแผลบริเวณใบหน้า ส่วนจะไซนัสไหนบ้าง ผ่ามากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับตัวโรคของแต่ละคน”
“ปัจจุบันเราเจอทั้งมลภาวะและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้อาจเสี่ยงต่อโรคไซนัสอักเสบได้ เราจึงต้องรักษาสุขภาพให้ดี เสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และไม่อยู่ในที่ที่มีฝุ่นเยอะ ๆ หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่ตนแพ้ เพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นการอักเสบของไซนัส และปกป้องระบบทางเดินหายใจของเรา” ผศ.พญ.กวินญรัตน์ จิตรอรุณฑ์ กล่าวทิ้งท้าย
ผู้ที่สนใจต้องการปรึกษาแพทย์โรงพยาบาลวิมุต สามารถติดต่อได้ที่ ชั้น 5 ศูนย์หู คอ จมูก หรือโทรนัดหมาย 02-079-0050 เวลา 08.00-20.00 น. หรือใช้บริการ Telemedicine ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ผ่าน ViMUT App คลิก
More Stories
วีเอชดี ส่ง เมอริช คอฟฟี่ ชิงตลาดกาแฟสุขภาพ 3.4 หมื่นลบ.
BDMS Wellness Clinic คว้ารางวัล CEO of the Year 2024 จาก Bangkok Post
SOLUX Clinic เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ ตอกย้ำความสวยที่มีระดับ (พรีเมียม)