โดยมุ่งเน้นที่พลังงานไฟฟ้าและการเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัลในการประชุม World Economic Forum ณ เมืองดาวอส
- ผู้บริหารระดับสูงของชไนเดอร์ อิเล็คทริค เข้าร่วมการประชุมประจำปีของ World Economic Forum
- ชี้ประโยชน์ชัดเจน หากมีการจัดการปัญหาการปลดปล่อยมลพิษในองค์กรและซัพพลายเชน
กรุงเทพ (ประเทศไทย) – ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ผู้นำระดับโลกด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นด้านการจัดการพลังงานและระบบอัตโนมัติ เร่งผลักดันความจำเป็นในการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่มาปรับใช้มากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นเรื่องลุกลามจนไม่สามารถควบคุมได้
การเร่งแก้ไขเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และราคาพลังงานที่ผันผวน รวมถึงความกดดันจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อให้เร่งจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ ล้วนเป็นปัจจัยผลักดันให้ความยั่งยืนทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและความสามารถในการฟื้นฟูพลังงานกลายเป็นวาระสำคัญขององค์กร รวมถึงนโยบายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้กลายเป็นประเด็นหลักในการประชุมประจำปีของ World Economic Forum ที่จัดขึ้น ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 15-19 มกราคม โดยมีผู้บริหารระดับสูงของชไนเดอร์ อิเล็คทริคหลายคนที่ได้เข้าร่วมงานนี้เช่นกัน
“เนื่องจากการใช้พลังงานทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากถึง 80% ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานจึงเป็นปัจจัยหลักสำคัญที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน” ปีเตอร์ เฮอร์เวค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ชไนเดอร์ อิเล็คทริค กล่าว “ศักยภาพของ AI กำลังดึงความสนใจของทุกคนอยู่ในขณะนี้ แต่ต้องไม่ลืมว่าเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งการผลิตพลังงานทดแทน เครื่องมือดิจิทัลและการใช้พลังงานไฟฟ้า ช่วยลดความต้องการใช้พลังงานได้ ด้วยการทำให้ไซต์งานและการดำเนินงานมีประสิทธิภาพด้านพลังงานมากขึ้น โดยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบันได้อย่างรวดเร็ว เพราะโลกไม่มีเวลารอวิธีการแก้ปัญหาของวันพรุ่งนี้ ในเมื่อสิ่งที่เรามีอยู่ในปัจจุบันสามารถทำอะไรได้มากมาย”
การดำเนินการจากภาคเอกชนที่เป็นบริษัทต่างๆ ในทั่วโลก คือหัวใจสำคัญที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงนับเป็นสิ่งที่น่าส่งเสริมให้โลกธุรกิจให้คำมั่นสัญญาต่อความยั่งยืนและการลดคาร์บอนมากขึ้น โดยในเดือนมกราคม 2024 มีบริษัทมากกว่า 4,200 แห่งทั่วโลกได้กำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งได้รับการตรวจสอบโดยโครงการริเริ่ม Science Based Targets (SBTi) เป็นต้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมเรื่องประสิทธิภาพด้านพลังงานกำลังได้รับการยอมรับมากขึ้น โดยในปีที่ผ่านมา ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ได้ร่วมมือกับสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศในการนำพารัฐบาลและผู้นำจากหลายธุรกิจมารวมตัวกันเพื่อการประชุมใหญ่ในหัวข้อดังกล่าว
รายงานใหม่ที่เผยแพร่โดย World Economic Forum เมื่อวันที่ 8 มกราคม พบว่า การดำเนินการด้านการใช้พลังงานด้วยการประหยัดพลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน รวมถึงความร่วมมือที่ช่วยสร้างคุณค่าในเรื่องดังกล่าว สามารถช่วยปลดล็อกต้นทุนด้วยการประหยัดเงินให้กับระบบเศรษฐกิจในวงกว้างได้มากถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งยังช่วยหลีกเลี่ยงให้ไม่ต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมได้อีก 3,000 แห่ง หากสามารถดำเนินการในเรื่องดังกล่าวได้ก่อนปี 2030
นอกจากนี้ การวิจัยที่ดำเนินการโดย ชไนเดอร์ อิเล็คทริค เมื่อเร็วๆ นี้ แสดงให้เห็นว่าการติดตั้งโซลูชันบริหารจัดการพลังงานและอาคารด้วยระบบดิจิทัลให้กับอาคารที่มีอยู่ สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในการปฏิบัติงานได้มาก อีกทั้งให้การคืนทุนได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาไม่ถึงสามปี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพอันมหาศาลจากแค่ส่วนนี้เพียงส่วนเดียว
โอกาสและความท้าทายในการจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Scope 3
ส่วนอื่นๆ ที่ต้องมุ่งเน้น คือการจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากบริษัทต่างๆ ที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมที่จัดอยู่ใน Scope 3 ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามกระบวนการต่างๆ ในห่วงโซ่คุณค่า หรือ value chain ขององค์กรตั้งแต่กระบวนการก่อนการผลิต เริ่มจากการจัดหาวัตถุดิบ (upstream) ไปจนถึงกระบวนการในการจัดส่งจนสินค้าถึงมือผู้บริโภค (downstream) และนับเป็นกระบวนการที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุดขององค์กร มากกว่า 70% สอดคล้องตามข้อมูลจาก UN Global Compact
การปฏิรูปด้านซัพพลายเชนทั่วโลกในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ช่วยผลักดันให้หัวข้อนี้กลายเป็นวาระสำคัญขององค์กร กว่าสองในสามของผู้นำธุรกิจที่เข้าร่วมการสัมภาษณ์เพื่อจัดทำเป็นรายงาน โดยชไนเดอร์ อิเล็คทริค ในปีที่ผ่านมา กล่าวว่าความกดดันด้านกฏระเบียบทำให้ผู้บริหารเหล่านี้ต้องเร่งคิดแผนงานในการลดคาร์บอนร่วมกับพันธมิตรด้านซัพพลายเชน บรรดาผู้ที่เข้าร่วมการสำรวจยังกล่าวว่า ตนกำลังเห็นว่าบรรดานักลงทุนและหน่วยงานด้านการเงินทั้งหลายมีความต้องการข้อมูลด้านการลดคาร์บอนในซัพพลายเชนเพิ่มขึ้น
“องค์กรธุรกิจต่างๆ ที่กำลังให้ความสนใจอย่างจริงจังเกี่ยวกับการลดคาร์บอน ต้องมองไปให้ไกลกว่าเรื่องการดำเนินงานในองค์กรของตัวเอง พร้อมกับต้องจัดการเรื่องนี้ใน value chain ทั้งหมด และต้องตระหนักว่า การผลักดันพร้อมให้การช่วยเหลือซัพพลายเชนและพันธมิตรทางธุรกิจอื่นๆ จะช่วยสร้างประสิทธิภาพด้านพลังงานมากขึ้น ด้วยการใช้พลังงานไฟฟ้าและเทคโนโลยีระบบดิจิทัล รวมถึงการจัดซื้อพลังงานที่สะอาดขึ้น เหล่านี้คือประเด็นสำคัญที่ช่วยแก้โจทย์เรื่องนี้” โอลิเวียร์ บลูม รองประธานบริหาร ฝ่ายบริหารจัดการพลังงาน ชไนเดอร์ อิเล็คทริค กล่าว
More Stories
รฟฟ.บีแอลซีพี ร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำกว่า 1.6 ล้านตัว ต่อเนื่องเป็นปีที่ 22 สานต่อ ESG หนุน SDGs
OR ตอกย้ำแนวคิดสังคมสะอาด มอบรางวัลโครงการ “แยก แลก ยิ้ม School Camp ประจำปี 2567”
เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์ ร่วมบรรยายในงานประชุม The 58th