26 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

สสส. ชวน กำลังพล 1,300 นาย สังกัด สป.กลาโหม รุก สร้างสิ่งแวดล้อมเอื้อสุขภาพดี

พร้อมพัฒนา 5 นวัตกรรมสุขภาพ หนุน เป็นต้นแบบองค์กรแห่งความสุขรองปลัด สป. กลาโหม” เตรียมขยายผล 3 เหล่าทัพ คนต้นแบบผู้นำสุขภาพ ภายในปี 68

เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2567 ที่ศาลาว่าการกลาโหม เขตพระนคร กรุงเทพฯ พล.อ.ธนภัทร ณิยกูล รองปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า จากผลการตรวจสุขภาพ ปี 2563-2565 พบแนวโน้มป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุส่วนใหญ่มาจากภาวะเนือยนิ่ง มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการทำงานบริหาร หรืองานประจำสำนักงาน บางส่วนสูบบุหรี่ และรับประทานอาหารไม่ถูกหลักตามโภชนาการ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม จึงเห็นถึงความสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาวะ เพื่อความอยู่ดีมีสุขของกำลังพลที่มีกว่า 1,300 คน ตามนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตและการสวัสดิการด้านกำลังพล ปี 2566 จึงได้เร่งสานพลัง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พัฒนาโครงการ “สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมแห่งความสุข” มุ่งเน้นการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรค NCDs ในระยะยาว

“โครงการมียุทธศาสตร์การสร้างเสริมสุขภาวะ 2 ยุทธศาสตร์ 1.การสร้างเสริมสุขภาวะและความอยู่ดีมีสุขกำลังพล สมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน นำไปสู่การกำหนดเป็นนโยบายแก่หน่วยงานสังกัด 23 หน่วย 2.การสร้างเสริมสุขภาวะกำลังพลเพื่อสนับสนุนการพัฒนาสุขภาวะ มุ่งเป้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพลดเสี่ยง NCDs ลง 50% โดยเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางสุขภาพ เพื่อให้กำลังพลสามารถดูแลตนเองได้ เกิดความรอบรู้ด้านสุขภาวะ นำไปสู่การเป็นแกนนำสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนรวม ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมการทำงานที่เอื้อต่อสุขภาพดี สร้างความสมดุลระหว่างชีวิตครอบครัวกับการทำงาน สู่การยกระดับสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมแห่งความสุข พัฒนาเป็น “กระทรวงกลาโหมแห่งความสุข” ครอบคลุมทั้ง 3 เหล่าทัพ ภายในปี 2568” พล.อ.ธนภัทร กล่าว

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาวะกลุ่มองค์กร ตั้งแต่ปี 2547 สานพลัง 80 ภาคีองค์กรสุขภาวะ กว่า 80 องค์กร พัฒนานวัตกรรมองค์กรแห่งความสุข (Happy Workplace) นำชุดความรู้ สื่อ และเครื่องมือสร้างเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ ปรับทัศนคติ เปลี่ยนพฤติกรรมคนในองค์กร ลดเสี่ยง NCDs ครอบคลุมการรู้เท่าทันทางสุขภาพ 7 ประเด็นที่สำคัญ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ บุหรี่ อุบัติเหตุ สุขภาพจิต มลพิษทางสิ่งแวดล้อม อาหาร และกิจกรรมทางกาย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้ สามารถเสริมสร้างศักยภาพองค์กรแห่งความสุขที่ตระหนักต่อการสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กรกว่า 10,000 แห่ง

“สสส. เห็นความสำคัญของคนทำงานในกองทัพ ในฐานะทุนสำคัญทางสังคมที่สำคัญของประเทศ ที่เชื่อมโยงงานสร้างเสริมสุขภาพสู่วิถีชีวิตทุกคน สามารถส่งต่อความรู้ด้านสุขภาพได้ สสส. ได้พัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมการเรียนรู้ด้านสุขภาพที่สอดคล้องกับบริบทของสำนักงานปลัดกลาโหม 5 นวัตกรรม 1.เว็บแอปพลิเคชันระบบฐานข้อมูลสุขภาพกำลังพล 2.หลักสูตรทหารฟิตเท่ ชุดความรู้สุขภาพรูปแบบ E-learning 3.หลักสูตรต้นแบบและเทคนิคการปรับเปลี่ยนสุขภาพแบบองค์รวมโดยการมีส่วนร่วมของผู้ป่วย NCDs 4.โรงเรียนเตรียมเกษียณสุข 5.กิจกรรมลดพุง ลดโรค ทั้งหมดนี้ ถือเป็นแนวทางการป้องกันการเกิดโรค NCDs ของ สสส. โดยเฉพาะกลุ่มวัยแรงงาน สอดคล้องกับเป้าหมายของสหประชาชาติ ที่มุ่งลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรค NCDs ลง 1 ใน 3 ภายในปี 2573

Skip to content