25 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

ปี 67 กรมเชื้อเพลิงฯ รุกสร้างความมั่นคงพลังงานต่อเนื่อง

พร้อมเปิดประมูลรอบ 25 เผยรายได้ปิโตรเลียมปี 66 สูงกว่า 1 แสนล้านบาท

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ สรุปสถานการณ์การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของประเทศไทยปี 2566 เปิดรายได้จากปิโตรเลียมส่งเข้ารัฐมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท พร้อมกางแผนงานเชิงรุกปี 2567 เร่งรัด การผลิตก๊าซธรรมชาติให้เป็นไปตามแผน คาดแหล่งเอราวัณสามารถผลิตได้ 800 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในเดือนเมษายนนี้ พร้อมเตรียมเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงบนบก (ครั้งที่ 25) อีก 9 แปลง

นายวรากร พรหโมบล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยถึงภาพรวมสถานการณ์การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมภายใต้ระบบสัมปทาน รวมจำนวน 34 สัมปทาน 47 แปลงสำรวจ แบ่งเป็นสัมปทานปิโตรเลียมบนบก 14 สัมปทาน 16 แปลงสำรวจ และสัมปทานปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทยจำนวน 20 สัมปทาน 31 แปลงสำรวจ และมีการดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) จำนวน 5 สัญญา 5 แปลงสำรวจ ในทะเลอ่าวไทย รวมทั้งมีการดำเนินการในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJDA) จำนวน 2 แปลง

สถานการณ์การผลิตปิโตรเลียมในปีที่ผ่านมา (ม.ค.-ธ.ค.2566) ไทยผลิตปิโตรเลียมเฉลี่ยวันละประมาณ 560,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยก๊าซธรรมชาติ ผลิตได้เฉลี่ยวันละประมาณ 2,400 ล้านลูกบาศก์ฟุต ต่อวัน หรือ 420,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน คอนเดนเสท ผลิตได้เฉลี่ยวันละ 75,000 บาร์เรลต่อวัน หรือ 68,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน และน้ำมันดิบผลิตได้เฉลี่ยวันละ 70,000 บาร์เรลต่อวัน โดยภาพรวมการจัดหาและการใช้ปิโตรเลียมในประเทศ มีการจัดหาได้วันละ 1.99 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยผลิตในประเทศได้ 5.6 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือสัดส่วน 28% และที่เหลือยังต้องนำเข้าคิดเป็นสัดส่วน 72% ส่วนการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐจากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ในปี 2566 กรมฯ สามารถจัดเก็บรายได้จากค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ส่วนแบ่งกำไรของรัฐ เงินผลประโยชน์ ตอบแทนพิเศษ รายได้จากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย และอื่น ๆ รวมมูลค่า 76,270 ล้านบาท และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง มูลค่า 44,165 ล้านบาท

“จากข้อมูลการจัดหาปิโตรเลียมในปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าประเทศยังต้องนำเข้าปิโตรเลียมมากกว่า 50% เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการใช้พลังงานภายในประเทศได้ โดยกรมเชื้อเพลิงฯ ได้บริหารจัดการ การจัดหาก๊าซธรรมชาติ ทั้งจากแหล่งในประเทศ พื้นที่พัฒนาร่วมไทย – มาเลเซีย และประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งนอกจากความมุ่งมั่นในการจัดหาพลังงานแล้ว กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยังเป็นหน่วยงานที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศจากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอีกด้วย โดยในปี 2566 ที่ผ่านมาพบว่า มีรายได้เข้าประเทศ กว่า 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ส่งรายได้เข้าแผ่นดินสูงในอันดับต้นๆ” อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกล่าว

สำหรับในปี 2567 กรมฯ ได้เตรียมแผนงานเชิงรุกในการจัดหาพลังงานเพื่อสร้างความมั่นคง ทางพลังงานอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศ โดยเร่งรัดการลงทุนของผู้รับสัญญาในแปลง G1/61 เพื่อให้เพิ่มกำลังการผลิตให้เป็นไปตามเป้าในปริมาณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในเดือนเมษายน 2567 รวมทั้ง ยังมีการประสานผู้รับสัมปทาน และผู้รับสัญญาให้แหล่งอื่นๆ ให้ผลิตตามความสามารถของแหล่ง ตลอดจนจัดหาก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย และการส่งเสริมและประสานความร่วมมือในการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจากนั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังมีภารกิจสำคัญในการจัดหาพลังงานจากแหล่งใหม่ ในประเทศเพิ่มเติม ด้วยการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงบนบก (ครั้งที่ 25) จำนวน 9 แปลง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาการออกประกาศเชิญชวนการเปิดให้ยื่นขอสิทธิฯ โดยพื้นที่แปลงสำรวจบนบกจำนวน 9 แปลง อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 แปลง และอีก 2 แปลงอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง รวมขนาดพื้นที่ 33,444.64 ตารางกิโลเมตร และคาดว่าจะสำรวจพบปิโตรเลียม ทั้งก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันดิบ นายวรากร กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยังมีภารกิจสำคัญในเรื่องการกํากับดูแล การพัฒนาเทคโนโลยี การดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCS/CCUS) เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยในปีนี้ กรมฯ จะเดินหน้าการจัดทําร่างกฎหมายโดยกำหนด หลักเกณฑ์ และแนวทาง ในการกำกับดูแลการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCS ในชั้นหินทางธรณีวิทยาของประเทศ ภายใต้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514
นอกจากนี้ กรมฯ จะหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการจูงใจในการสนับสนุน การลงทุนในด้าน CCUS ในอนาคต มีการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีทั้งความร่วมมือภายในประเทศ ได้แก่ การสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่บุคลากรของกระทรวงพลังงาน และ ภาคเอกชนที่สนใจ และความร่วมมือกับต่างประเทศ ได้แก่ ความร่วมมือด้านพลังงาน ไทย-ญี่ปุ่น และ ไทย-สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

 

You may have missed

Skip to content