ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ยังคงเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา และยังเป็นเรื่องที่หลายภาคส่วนให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่ทำการเกษตร พื้นที่ป่าไม้ที่มีการเผาป่า และพื้นที่เมือง และสำหรับประเทศไทยแม้จะมีการเพิ่มระดับความเข้มงวดปรับค่ามาตรฐานของPM 2.5 โดยปรับค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เป็น 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากเดิม 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีเป็น 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากเดิม 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ปริมาณฝุ่นพิษ PM 2.5 ยังคงเกินค่ามาตรฐานและกระทบต่อการดำเนินชีวิตและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ได้มีโอกาสร่วมประชุมสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” จัดโดยศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ (Hub of Talents on Air Pollution and Climate) ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้ให้ความเห็นว่า “ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นปัญหาที่มีมานาน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ มีผลกระทบทั้งในเรื่องสุขภาพและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ของประเทศ ดังนั้นเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาต้องอาศัยการทำงานร่วมกัน พร้อมกับมีมาตรการที่เข้มงวดทั้งในการจัดการเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ให้มีการเผาพื้นที่เกษตร ซึ่งการแก้ไขปัญหานี้ต้องขยายไปถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและเมียนมา
ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อย่างยั่งยืนและเกิดผลสำเร็จที่มีประสิทธิภาพนักวิจัยได้มีการเก็บข้อมูลทั้ง แหล่งกำเนิดในการเกิดมลพิษและที่มาของฝุ่น ทั้งฝุ่นที่เกิดจากการจราจร การเกษตร ไฟป่า และฝุ่นที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาวและเมียนมา อีกทั้งยังมีการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมในการวิเคราะห์ข้อมูลเรื่องฝุ่นในประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหา ในขณะเดียวกันนอกจากการเร่งแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ต้องทำความเข้าใจถึงพฤติกรรมต่างๆทั้งการทำเกษตรซึ่งเป็นอาชีพของประชาชน การเก็บเกี่ยวพืชผล สภาวะภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ทิศทางลม รวมถึงความชื้นสัมพันธ์ ความหนาแน่นของจุดความร้อน ตามการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินที่มีผลในการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน จังหวัดในภาคเหนือของไทยจะได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อย่างหนักที่สุด ทั้งจากการเผาพื้นที่ในการทำเกษตรและพื้นที่ป่า หรือไฟป่าที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ทั้งหมด
ดังนั้น หนึ่งในทางออกสำหรับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 คือ การให้ความรู้แก่ชาวบ้านถึงผลกระทบในการเผาพื้นที่การเกษตร จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่จะต้องมีการเผาในการเริ่มต้นพื้นที่เกษตรใหม่ ด้วยการขับเคลื่อนให้เปลี่ยนแปลงการปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง อาทิ กาแฟ แมคคาเดเมีย อะโวคาโด รวมถึงมีการจัดระเบียบการเข้าออกพื้นที่ป่า ควบคุมการเก็บของป่าและการใช้ประโยชน์ โดยมีการกำหนดขอบเขตอย่างชัดเจน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดไฟป่า อีกทั้งมีการเฝ้าระวังไฟป่าที่เป็นผลให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ตามมา นอกจากนี้ยังมีการนำโดรนและแอปพลิเคชั่น เช่น FrieDเข้ามาใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลอีกด้วย รวมทั้งการดำเนินการใช้มาตรฐานทางกฎหมาย และการจัดการที่ดินที่เข้มงวด
ด้าน วิลาวรรณ น้อยภา ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวถึงการจัดการกับฝุ่น PM 2.5 จากหมอกควันข้ามแดน ว่า “ควรจะมีการแลกเปลี่ยนกลไกการพัฒนาความร่วมมือ ไทย-ลาว-เมียนมาร์ ถึงการแก้ปัญหาหมอกควัน ซึ่งอยู่ในช่วงการเก็บข้อมูลต่างๆ โดยจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการทำงานบูรณาการร่วมกับกระทรวงต่างๆ อาทิ กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปฏิบัติการจัดการลดหมอกควันข้ามแดนประเทศไทย และจำเป็นต้องแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศ ให้สอดคล้องกับนโยบายของแต่ละประเทศ และมองว่าไทยยินดีที่จะให้ความร่วมมือในการจัดประชุมเชิงปฎิบัติการและการฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มีให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้ ในการลดปัญหาฝุ่น หมอกควัน ควรใช้หลักการป้องกัน เพื่อให้ทำการเกษตรปลอดการเผาและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การควบคุม ผ่านการจัดระเบียบ วางแผน แจ้งการเผา รวมถึงกำหนดเขตห้ามเผา, การใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุ พัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าและเศรษฐกิจหมุนเวียน การลดการเผา โดยมีการกำหนดกลไก กติกาต่างๆ โดยทุกอย่างต้องวางเป้าหมายให้ชัดเจน และปฏิบัติเคร่งครัด พร้อมวัดผลได้รวมถึงมีมาตรการส่งเสริมเรื่องอาชีพสำหรับเกษตรกรเพื่อลดการเผาพื้นที่เกษตร รวมทั้งการสร้างเครือข่ายภาคประชาชนในการเฝ้าระวังการเผาในพื้นที่ต่างๆ
เพื่อเปลี่ยนให้ฟ้าที่เคยถูกปกคลุมด้วยฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จนส่งผลกระทบกับชีวิตมาเป็นเวลานาน ให้กลับมามีอากาศที่บริสุทธิ์ ต้องมีความเข้าใจในแหล่งที่มาของฝุ่น หมอกควัน พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำเกษตร การเฝ้าระวังไฟป่าผ่านการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและเครือข่ายภาคประชาชนเข้ามาช่วย โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมมือเพื่อสร้างอากาศใหม่ที่ไร้ฝุ่น หมอกควัน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับสังคมไทยต่อไป
More Stories
รฟฟ.บีแอลซีพี ร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำกว่า 1.6 ล้านตัว ต่อเนื่องเป็นปีที่ 22 สานต่อ ESG หนุน SDGs
OR ตอกย้ำแนวคิดสังคมสะอาด มอบรางวัลโครงการ “แยก แลก ยิ้ม School Camp ประจำปี 2567”
เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์ ร่วมบรรยายในงานประชุม The 58th