เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดตัวโครงการ “Climate Change Adaptation พม. พร้อมรับ ปรับตัว ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ“ โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และผู้บริหารกระทรวง พม. เข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม. สะพานขาว กทม.
นายวราวุธ กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก เป็นวิกฤตการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและมวลมนุษยชาติอย่างรุนแรง เห็นได้จากปรากฎการณ์ต่างๆ เช่น โลกร้อน น้ำท่วม ไฟป่า ภัยแล้ง มลพิษทางอากาศ ซึ่งมีความถี่และความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ประเทศไทยเป็นประเทศลำดับต้นๆของโลก ที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบ ตามรายงานธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะผลักให้คนอีก 130 ล้านคน กลายเป็นคนยากจนในอีก 10 ปีข้างหน้า เนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แต่เดิมรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้น้อย เนื่องจากร้อยละ 75 ของคนยากจนในพื้นที่ชนบทต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีวิต
นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform : TPMAP) มีจำนวนคนยากจนมากถึง 4.4 ล้านคน ซึ่งความยากจนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนจำนวนมากตกอยู่ในสถานะเปราะบาง แม้ว่าการปรับตัวรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นประเด็นที่สำคัญในระดับต้นๆของยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ในการดำเนินการในระดับปฏิบัติยังมีข้อจำกัดในเรื่องของความรู้ความเข้าใจประสบการณ์ในการบ่งชี้ความเปราะบาง และการสนับสนุนเพื่อเตรียมความพร้อมในการวางแผนปรับตัวรับมือภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นายวราวุธ กล่าวต่ออีกว่า กระทรวง พม. ต้องขอขอบคุณกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน)(อบก.) ที่มาร่วมกิจกรรมและมีการจัดเวทีเสวนา ช่วยในการทำให้บทบาทการทำงานของกระทรวง พม. นั้นมีความพร้อมมากขึ้น ในการที่จะรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อๆ ไป เพราะว่าสถานการณ์เรื่องภัยธรรมชาติต่างๆ ใกล้ตัวของเรามากขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์คุณภาพอากาศ อุณหภูมิที่สูงขึ้นในแต่ละปี อย่างเช่นปีนี้คาดการณ์ว่ายอด Heat Index จะสูงขึ้นประมาณ 45-47 องศา ยังไม่รวมถึงสถานการณ์น้ำแล้งและน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นกระทรวง พม. จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมพร้อม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มผู้สูงอายุ และคนพิการ รวมถึงพี่น้องประชาชนโดยทั่วไปนั้น ในการรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น เพราะว่าพี่น้องกลุ่มที่เปราะบางที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษนั้น มักจะได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรกเวลาเกิดสถานการณ์ภัยธรรมชาติต่างๆ ขึ้น รวมถึงแนวทางในการที่จะมาร่วมกันป้องกันไม่ให้ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมันรุนแรงไปมากกว่านี้ รวมถึงการที่จะให้หน่วยงานต่างๆ ภายใต้กระทรวง พม. นั้น ได้เข้าใจถึงการปรับเปลี่ยน การปรับตัวบริบทงานของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่พักอาศัย การซ่อมแซมบ้านเรือนของพี่น้องประชาชน และการดำรงชีพในวิถีชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชนที่จะต้องปรับเปลี่ยน และจะต้องได้รับผลกระทบอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้น เวลาพูดถึงการปรับตัว เราพูดถึงการปรับตัวของมนุษย์ และกลุ่มคนที่กระทรวง พม. ต้องดูแล คือกลุ่มเปราะบางเป็นกลุ่มแรก ที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
นายวราวุธ กล่าวต่อไปอีกว่า วันนี้คนรุ่น Gen Y , Gen Z รวมถึง Gen Alpha เมื่อมองไปในอนาคต พวกเขายังมองไม่เห็นความหวัง เขายังเห็นแต่ปัญหาที่จะเกิดขึ้น น้ำจะท่วมประเทศไทยไหม Polar Ice จะละลายถึงขนาดไหน คุณภาพอากาศจะดีขึ้นหรือไม่ สถานการณ์เอลนีโญ ลานีญา จะทวีความรุนแรงขึ้นไหม ต่างๆ เหล่านี้ เป็นตัวที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่อยากมีครอบครัว และไม่อยากที่จะมีลูกในอนาคต เพราะว่าเมื่อมีลูกมาแล้ว จะทำให้เขากำลังจะเผชิญกับภัยอันตรายหรือว่าสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ จึงเป็นเหตุทำให้ไม่อยากมีลูก ตนเชื่อมั่นว่าถ้าเราสามารถคืนความสมบูรณ์ให้กับธรรมชาติ ปัญหาเรื่อง Climate Change เราจะสามารถลดความรุนแรงลงได้ เมื่อเห็นความหวังที่จะดีขึ้น อาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่คิดอยากจะมีครอบครัว และอยากจะมีลูก เพราะว่าประเทศไทยเราไม่ได้มีปัญหาในเรื่องการเจริญพันธุ์ แต่เรามีปัญหาในเรื่องที่คนรุ่นใหม่ไม่อยากมีครอบครัว และไม่อยากมีลูก
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า เราจะนำเอาองค์ความรู้ของทั้ง 2 กระทรวง คือ กระทรวง พม. และองค์ความรู้ของกระทรวทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในมิติเรื่อง Climate Change เข้ามาผนวกกัน เพราะว่าภายใต้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนว่า SDGs ทั้ง 17 ข้อ การที่จะมีสังคมเมืองอย่างยั่งยืน การที่จะลดความเหลื่อมล้ำต่างๆ นั้น มันเป็นปัญหาที่ต้องเรียนว่าเกี่ยวเนื่องกันและเชื่อมโยงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กิจกรรมนี้ การนำเอาองค์ความรู้จากกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม มาขยายความให้กับเพื่อนๆ ข้าราชการของกระทรวง พม. ได้ทราบ ในการที่จะนำเอาองค์ความรู้เหล่านั้นไปปรับและประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทงานของกระทรวง พม. ไม่ว่าจะเป็นกิจการของเด็กเล็ก ของพี่น้องคนพิการ ผู้สูงอายุ รวมถึงสถาบันครอบครัวด้วย
#ช่วย24ชั่วโมง #พม24ชม #ข่าวพม #esshelpme #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #ศรส #พม #ClimateChangeAdaptation #การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
More Stories
“วราวุธ” เผย ศรส.พิษณุโลก ช่วยเด็กหญิง 12 ปี ถูกแม่แท้ๆ พาไปขายบริการ หาเงินขัดหนี้รายวัน
คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม ลงพื้นที่ศึกษาดูงานโครงการเคหะชุมชนคลองจั่น
“ประเสริฐ” สั่งการ สคส. ตรวจสอบข่าว ห้างดังถูกแฮกข้อมูลส่วนบุคคล 5 ล้านราย