ชวนองค์กรไม่แสวงหากำไร-หน่วยงานรัฐ ส่งใบสมัครภายใน 10 เม.ย. นี้
GPSC – กลุ่มอุตฯ พลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. เปิดรับสมัครองค์กรรัฐ และองค์กรเพื่อสังคม เข้าร่วมโครงการ “คนมีไฟ” ปีที่ 2 ส่งมอบแหล่งผลิตพลังงานสะอาดจากโซลาร์ ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน นำไปพัฒนาชุมชนรอบข้าง ยื่นสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 10 เม.ย. 2567 ขยายผลความร่วมมือ สู่ 500 กิโลวัตต์ ใน 5 ปี กระตุ้นทุกภาคส่วน มุ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
นางปริญดา มาอิ่มใจ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารองค์กร บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า GPSC ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดโครงการ “คนมีไฟ” ปีที่ 2 ซึ่งเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องหลังจากประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการปีแรกในปีที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนการเข้าถึงนวัตกรรมพลังงานสะอาด ส่งมอบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบออนกริต (On-Grid) ให้กับหน่วยงานภาครัฐ ที่ดำเนินงานด้านการศึกษา สาธารณสุข และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงองค์กรที่ไม่ได้สังกัดหน่วยงานของรัฐและไม่แสวงหาผลกำไร ที่ได้รับการคัดเลือก เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า นำไปสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน ตามแผนดำเนินโครงการในระยะ 5 ปี (2566- 2570) โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา โครงการฯ ได้ติดตั้งแล้วรวม 100 กิโลวัตต์ และเมื่อจบโครงการในปี 2570 จำนวนการติดตั้งรวมทั้งสิ้น 500 กิโลวัตต์ คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 20 ล้านบาท สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ราว 6,900 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
สำหรับโครงการ “คนมีไฟ” ปีที่ 2 เปิดรับสมัครหน่วยงานเข้ารับคัดเลือก โดยต้องเป็นหน่วยงานด้านการศึกษา หน่วยงานด้านสาธารณสุข หน่วยงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือหน่วยงานที่ไม่แสวงหาผลกำไร โดยมีขนาดการติดตั้งไม่เกิน 30 กิโลวัตต์ต่อแห่ง ผู้ผ่านการคัดเลือกต้องจัดทำโครงการนำค่าใช้จ่ายไฟฟ้าที่ลดลงต่อเดือนไปใช้พัฒนาชุมชนโดยรอบอย่างยั่งยืน หน่วยงานหรือองค์กรใดที่ผ่านเกณฑ์ข้างต้น สามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ผ่านช่อทางดังต่อไปนี้ Email: gpsc.csr@gmail.com หรือ Tel/Line-id: 097-150-5161 ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 10 เมษายน 2567 นี้ โดยจะทำการคัดเลือกและประกาศผลภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 หลังจากนั้นจะมีการลงพื้นที่สำรวจหน่วยงานที่ได้รับการคัดเลือก และคาดว่าจะสามารถติดตั้งแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2567
จากความสำเร็จในการดำเนินการโครงการในปีที่ 1 มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 42 องค์กร และได้รับการคัดเลือกจำนวน 5 องค์กร ประกอบด้วย 1.อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 30 กิโลวัตต์ 2.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครสวรรค์ 30 กิโลวัตต์ 3.โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน เขตสุขภาพที่ 8 จ.อุดรธานี 20 กิโลวัตต์ 4.สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ 20 กิโลวัตต์ และ 5. วิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี จ.ตรัง 6 กิโลวัตต์ ขนาดติดตั้งรวมประมาณ 106 กิโลวัตต์
โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือที่จะนำไปสู่การพัฒนาพลังงานสะอาดระดับชุมชน ในการพัฒนาพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่สามารถลดต้นทุนค่าพลังงาน โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานแห่งอนาคต เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านพลังงานในทุกภาคส่วน นับเป็นโมเดลความร่วมมือในการอนุรักษ์พลังงาน มุ่งสู่การเดินหน้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการรับผิดชอบ และร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
More Stories
STYLE Bangkok 2025 ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจการค้าโลก สร้างมูลค่าการค้ากว่า 1.4 พันล้านบาท
GCAP GOLD จับตา “ทรัมป์” รีดภาษีรอบใหม่ ลุ้นราคาทองสร้าง New High รอบใหม่ที่ระดับราคา 51,200 บาท
หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย “เรียกความเชื่อมั่น เดินหน้าเศรษฐกิจไทยหลังเหตุแผ่นดินไหว”