เปิดสถานการณ์สุขภาพ วินจยย. กลุ่มตัวอย่างในกรุงเทพฯ โรครุม ความดันสูง–ปอดพังจากมลพิษ-สายตาพร่ามัว-เคี้ยวใบกระท่อม-สูบบุหรี่-ดื่มเหล้าจัด สสส.-ม.หอการค้าไทย ชวนวินจยย. สร้างสุขภาวะ พัฒนาวินจยย. ต้นแบบ สร้างมาตรฐานความปลอดภัยในอาชีพ เครือข่ายความรอบรู้สุขภาพ พร้อมสานพลัง ป.ป.ส. ขับเคลื่อนวินสีขาวห่างไกลยาเสพติด
วันที่ 10 มี.ค. 2567 กรุงเทพฯ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวภายหลังพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ “วินต้นแบบด้านสุขภาพดี ขับขี่ปลอดภัย ไร้ยาเสพติด” ว่า วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างนับเป็นอาชีพแรงงานนอกระบบที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยง และปัญหาสุขภาพในการทำงาน จากข้อมูลสำนักเทศกิจ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ปี 2565 พบในกรุงเทพฯ มีคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างขึ้นทะเบียนกับ กทม. 89,608 คน หากรวมผู้ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน อาจมีมากกว่า 1 แสนคน และจากผลสำรวจสถานการณ์สุขภาพในกลุ่มผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง 538 คน ผู้ขับขี่ส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อ (NCDs) มีปัญหาสายตา และทางเดินหายใจ เพราะรับมลพิษเป็นประจำ สูบบุหรี่ร้อยละ 56.94 และดื่มสุราร้อยละ 57.18 ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยสูงกว่าประชาชนทั่วไปเมื่อเทียบกับข้อมูลพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร ปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ร้อยละ17.4 และดื่มสุราร้อยละ 28 ทั้งยังขาดความมั่นคง สวัสดิการ และโอกาสอื่นๆ ทางอาชีพ
นพ.พงศ์เทพ กล่าวต่อว่า สสส. จึงร่วมมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และมูลนิธิรักษ์ไทย พัฒนาสุขภาวะความปลอดภัยในการทำงาน และภูมิคุ้มกันยาเสพติดในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างในกรุงเทพฯ นำร่อง 13 เขต 2,426 คน ได้แก่ จตุจักร หลักสี่ บางกะปิ บางเขน บางกอกน้อย จอมทอง ทุ่งครุ ธนบุรี วังทองหลาง ลาดพร้าว มีนบุรี บางบอน และคันนายาว ส่งเสริมให้ผู้ขับขี่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ ความปลอดภัยในการทำงาน และภูมิคุ้มกันยาเสพติด โดยจัดอบรมหลักสูตรพัฒนาสุขภาวะให้ความรู้ด้านสุขภาพที่ถูกต้อง และมาตรฐานความปลอดภัยในอาชีพ สามารถพัฒนาเป็นแกนนำได้ 175 คน เกิดวินมอเตอร์ไซค์ต้นแบบ 3 พื้นที่ คือ 1.วินซอยพหลโยธิน 34 ต้นแบบด้านการสร้างมาตรฐานอาชีพ 2.วินวัดอัมพวาและเครือข่าย (ธนบุรีและจอมทอง) ต้นแบบด้านการทำงานเครือข่ายเข้มแข็ง 3.วินอนันต์สุขสันต์รุ่น 18-20 และเครือข่าย ต้นแบบด้านการสร้างกลยุทธ์เผยแพร่ข้อมูล และขยายผลไปยังผู้ขับขี่มอเตอร์ไซด์รับจ้าง ใน 13 เขต ภายใต้แนวคิด “ใส่เสื้อวิน ไม่กินเหล้า” นำชุดให้ความรู้ สื่อรณรงค์ แผ่นพับ และคลิปวิดีโอของสสส.ไปเผยแพร่
นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กล่าวว่า วินมอเตอร์ไซต์รับจ้าง เป็นกลุ่มแรงงานอิสระที่ใกล้ชิดกับความปลอดภัยของประชาชน ผลสำรวจด้านสารเสพติดจากกลุ่มตัวอย่างโครงการฯ พบมีการเคี้ยวและดื่มน้ำต้มใบกระท่อมเพื่อให้มีแรงในการทำงาน และใช้กัญชาเพื่อให้นอนหลับ ป.ป.ส. ตระหนักในปัญหาจึงสนับสนุนการป้องกันยาเสพติด 2 แนวทาง คือ 1.ด้านสุขภาพ ร่วมกับ สสส. นักวิชาการ มูลนิธิรักษ์ไทย กทม. ให้ความรู้เสริมสุขภาพป้องกันยาเสพติด เช่น ผลดีผลเสียของการใช้พืชกระท่อม การใช้กัญชาแบบไหนผิดกฎหมาย และเสี่ยงต่อสุขภาพ 2.ด้านการเฝ้าระวังยาเสพติด ภายใต้โครงการ “วินสีขาว” ผลักดันให้สำนักงานเขต มีส่วนร่วมในการดูแล เฝ้าระวังปัญหา มีกิจกรรมตรวจปัสสาวะเพื่อแสดงเจตนารมณ์วินสีขาว สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการ ตลอดจนดูแลพื้นที่ชุมชนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย
นายสมพงษ์ แก้วเจริญไพศาล รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์และกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การพัฒนาวินมอเตอร์ไซค์ต้นแบบ จะต้องเป็นวินฯ ที่มีระบบเป็นแบบอย่างที่ดีในการประกอบอาชีพ มีจิตอาสาช่วยเหลือชุมชนและสังคม รวมถึงขยายเครือข่ายให้ความรู้ด้านสุขภาวะให้กับพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีวินมอเตอร์ไซต์ต้นแบบ 3 แห่ง คือ 1. วินซอยพหลโยธิน 34 ผู้ขับขี่ไม่ดื่มสุราขณะปฏิบัติงาน มีการเฝ้าระวังยาเสพติด ขับขี่ปลอดภัย พูดจาสุภาพ ปฏิบัติตามกฎ มีกรรมการดูแลสมาชิก และคืนกำไรให้สังคมด้วยจิตอาสา 2. วินวัดอัมพวาและเครือข่าย (ธนบุรีและจอมทอง) มีการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง พัฒนาสมาชิกให้เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ด้านสุขภาพ มาตรการความปลอดภัยด้วยประสบการณ์ตรง ให้โอกาสจากผู้ค้า ผู้เสพกลับใจทำอาชีพสุจริต เปลี่ยนเป็นผู้ทำประโยชน์ให้กับชุมชน 3.วินอนันต์สุขสันต์รุ่น 18-20 และเครือข่าย มีการทำงานเชิงรุกโดยการลงพื้นที่สร้างการรับรู้ เปิดเวทีพูดคุยประเด็นสุขภาวะกับชุมชน เพื่อนร่วมอาชีพ และส่งต่อความรู้ในการขยายเครือข่ายด้วยความภาคภูมิใจในอาชีพของตน
นายทวี น้อยจาด ประธานวินพหลโยธิน 34 และประธานชุมชนชายคลองเสนานิคม 2 กล่าวว่า ก่อนเข้าร่วมโครงการฯ สมาชิกวินมักมีปัญหาสุขภาพ สูบบุหรี่จัด ดื่มน้ำกระท่อม ไม่ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยจากการขับขี่ ตนและเพื่อนสมาชิกอาศัยประสบการณ์ส่วนตัวในการว่ากล่าวตักเตือน หรือห้ามปราม แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการฯ กับ สสส. สมาชิกได้นำองค์ความรู้เรื่องสุขภาวะ ความปลอดภัยในการทำงาน และภูมิคุ้มกันยาเสพติดมาปฏิบัติจริงอย่างต่อเนื่อง จนสามารถลด ละ เลิก เหล้า และบุหรี่ รวมถึงสารเสพติดอื่นๆ ได้ จนเกิดเป็นความภาคภูมิใจของสมาชิก และนำชุดข้อมูลสื่อสุขภาวะไปสื่อสารต่อให้ครอบครัว เพื่อน ชุมชนใกล้เคียงมากกว่า 140 หลังคาเรือน
“ขอบคุณ สสส. และภาคีเครือข่าย ที่เห็นความสำคัญอาชีพวินมอเตอร์ไซค์ เปิดโอกาสให้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับสังคมและประเทศได้ จากนี้ไปกลุ่มสมาชิกวินมอเตอร์ไซค์ ตั้งใจจะร่วมรณรงค์ลดปัญหายาเสพติดให้เป็นศูนย์ และมุ่งเสริมสร้างให้สมาชิกมีสุขภาพที่ดีเพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้บริการเกิดความไว้วางใจและได้รับบริการที่มีความปลอดภัยนำไปสู่การลดการสูญเสียทางสุขภาวะต่อไป” ประธานวินพหลโยธิน 34 กล่าว
More Stories
“วราวุธ” เผย ศรส.พิษณุโลก ช่วยเด็กหญิง 12 ปี ถูกแม่แท้ๆ พาไปขายบริการ หาเงินขัดหนี้รายวัน
คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม ลงพื้นที่ศึกษาดูงานโครงการเคหะชุมชนคลองจั่น
“ประเสริฐ” สั่งการ สคส. ตรวจสอบข่าว ห้างดังถูกแฮกข้อมูลส่วนบุคคล 5 ล้านราย