นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เปิดเผยผลการประชุมกรรมการกองทุน สสส. ครั้งที่ 3/2567 ว่า ที่ประชุมฯ เห็นชอบแนวทางความร่วมมือการลดรายจ่ายครัวเรือน ระหว่างสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ(สทบ.) และ สสส. ในการแก้ไขปัญหาและลดสัดส่วนหนี้สินครัวเรือน โดยเฉพาะประชาชนรายย่อย ภายใต้กรอบแนวคิดการดำเนินงาน “ลดรายจ่ายครัวเรือน เลิกเหล้า เลิกบุหรี่” ซึ่งจากข้อมูลพบว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยปี 2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท โดยเกษตรกร และกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเป็นสองกลุ่มที่มีสถานการณ์หนี้น่าเป็นห่วง คือ มีสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้สูงอยู่ที่ 34% และ 41% ตามลำดับ สอดคล้องกับข้อมูลรายจ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนไทย พบว่า ส่วนใหญ่เป็นค่าอุปโภคบริโภคถึง 87% โดยรายจ่ายสูงสุด คือ อาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ คิดเป็น 35.5% โดยเฉพาะครอบครัวผู้มีรายได้น้อยมีค่าใช้จ่ายการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงกว่าครอบครัวรายได้สูงถึง 6 เท่า และใช้เงิน 21.5% ของรายได้ไปกับการสูบบุหรี่ ทำให้เหลือเงินสำหรับใช้จ่ายด้านอื่นที่จำเป็นน้อยลงก่อให้เกิดหนี้สินเพิ่มขึ้น
“หลักการในการทำงานร่วมกันครั้งนี้ เน้นไปที่สร้างความตระหนักการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เสริมทักษะการออม พัฒนาอาชีพสร้างรายได้เสริม โดยที่ผ่านมา สสส. มีต้นทุนในการทำงานพื้นที่สามารถเข้าไปสนับสนุนการทำงานของ สทบ. ได้แก่ 1. พื้นที่ขับเคลื่อนงานระดับตำบล/ชุมชน 626 พื้นที่ อาทิ เครือข่ายชุมชนปลอดเหล้า/บุหรี่ เครือข่ายตำบลสุขภาวะ 2. ทีมวิชาการที่จะเข้าไปเสริมพลังการเรียนรู้และพัฒนาในพื้นที่ และ 3. ชุดความรู้ที่จะนำไปต่อยอดสร้างโมเดลงดเหล้าแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน รวมถึงงานเลี้ยง งานบุญ งานศพปลอดเหล้า/บุหรี่ ซึ่งล้วนเป็นรายจ่ายครัวเรือนที่สามารถอดออมได้ และเห็นผลจริงจากการทำงานของ สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ โครงการ “คนหัวใจเพชร” ลดเหล้าในช่วงเข้าพรรษาและนำไปสู่การงดเหล้าตลอดชีวิต เฉพาะปี 2565 มีผู้เข้าร่วม 151,948 คน สามารถประหยัดเงินได้ถึง 121,784,378 บาท หรือโครงการงานบุญปลอดเหล้า อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ ตั้งแต่ปี 2551 พบว่า 15 ปี ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 148,376,000 บาท” นายสมศักดิ์ กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนิน สสส. และ สทบ. ได้สำรวจพื้นที่ทำงานและกำหนดเป้าหมายในการสร้างชุมชนปลอดความยากจนสุขภาวะดีถ้วนหน้าใน 2,000 ตำบล/ชุมชน เพื่อเข้าไปสร้างกลไก “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้” ในพื้นที่ โดยลดรายจ่ายด้วยการขยายโมเดลของ สสส. ทั้งโครงการคนหัวใจเพชร, งานบุญปลอดเหล้า, พี่เลี้ยงการเงินรู้ทันพนัน, สวนผักชุมชน รวมถึงเครื่องมือความรอบรู้ด้านการเงิน การออม อาทิ การลดหนี้ในแรงงานนอกระบบร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และการเพิ่มรายได้ โดยใช้วิธีการทำให้เกิดแผนเศรษฐกิจชุมชน อาทิ การสร้างอาชีพ การเชื่อมโยงองค์กร/สถาบันการเงิน การส่งเสริมการผลิตและใช้เอง รวมถึงแผนปลดหนี้ และพัฒนาอาชีพเสริมรายได้ พัฒนาผู้ประกอบการอินทรีย์ตลาดสีเขียว เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในชุมชน
More Stories
นายกรัฐมนตรี มอบรางวัล “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการที่ดี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
กระทรวง พม. แจง อย่าหลงเชื่อข่าว แจกเงินฌาปนกิจ 3 หมื่น ให้ทายาทสูงอายุ
กทพ. ติดตั้งป้ายเตือน ป้ายจำกัดความสูง และโครงเหล็กจำกัดความสูง บนทางพิเศษเฉลิมมหานคร