ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)ล้านนา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านพลังงานสะอาด และพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะในเรื่องของระบบสะสมพลังงานและยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ โดยล่าสุด มทร.ทั้ง 9 แห่ง มีนโนบายชัดเจนในการพัฒนาสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งในส่วนของ มทร.ล้านนา ได้มีการศึกษาเส้นทางการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในแต่ละจุด แต่ละวิทยาเขตของมหาวิทยาลัย ปัจจุบันการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า อยู่ในขั้นตอนการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่ง มทร.ล้านนา มีทั้งหมด 6 วิทยาเขต 1 สถาบัน ได้แก่ เขตพื้นที่ภาคพายัพ เขตพื้นที่เชียงราย เขตพื้นที่ตาก เขตพื้นที่น่าน เขตพื้นที่ลำปาง เขตพื้นที่พิษณุโลก และสถาบันวิจัยลำปาง ซึ่งเบื้องต้นต้องผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำให้ยังไม่สามารถติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้ขณะนี้
“ผมได้อนุมัติและหลักการการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า แบบควิกชาร์จ ซึ่งชาร์จได้เร็วเพียง 15-20 นาทีเท่านั้น โดยจะดำเนินการบริการในบริเวณของ มทร.ล้านนา ห้วยแก้ว จ.เชียงใหม่ ถือเป็นจุดสำคัญเนื่องจากติดกับถนนใหญ่ สะดวกต่อผู้มาใช้บริการ อีกทั้งการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า จะมีประโยชน์ต่อนักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัยในการเรียนรู้เกี่ยวกับการออกแบบ การบริหารจัดการสถานี ระบบการชาร์จ การดูแล และโปรโมชั่นทางการตลาดเป็นอย่างไร อันนำไปสู่การเรียนรู้จากการปฎิบัติจริง จากโปรเจคจริงๆ”ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ กล่าวและว่า นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัย ได้มีการจัดทำผลิตภัณฑ์จากโปรเจคต่างๆ ร่วมกับชุมชนจะได้นำมาขายในร้านค้า หรือร้านกาแฟ Coffee GoGreen ที่อยู่ในสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่คนในชุมชน รวมถึงเป็นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ของมหาวิทยาลัย โดยขณะนี้มีภาคเอกชนให้ความสนใจที่จะมาติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า แบบควิกชาร์จ ประมาณ 5 สถานีภายในห้วยแก้ว จ.เชียงใหม่ ซึ่งการชาร์จหนึ่งครั้งนั่งรอเพียง 15-20 นาที จะทำให้ชาร์จได้ 80% ก็สามารถเดินทางไปยังเส้นทางต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่ได้
ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้จะมีการขยายการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบควิกชาร์จ ไปยังพื้นที่เขตต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็น เส้นทางเชียงราย น่าน พิษณุโลก ต่อไป อย่างไรก็ตาม การที่มหาวิทยาลัยเปิดให้มีการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในพื้นที่หน้ามหาวิทยาลัย หรือพื้นที่ที่เหมาะสมนั้น ขึ้นอยู่กับความพร้อมของวิทยาเขต และสถาบันแต่ละแห่ง ซึ่ง มทร.ล้านนา สถานที่ตั้งส่วนใหญ่จะติดกับถนนใหญ่ จึงอาจจะทำให้เหมาะแก่การลงทุน ดังนั้น มทร.ล้านนา หรือกลุ่ม มทร.ทั้งหมด พร้อมที่จะเป็นสถานีติดตั้งรถยนต์ไฟฟ้า เพียงแต่รัฐบาลอาจต้องให้การสนับสนุน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการใช้พลังงานสะอาด และช่วยลดโลกร้อน
More Stories
รฟฟ.บีแอลซีพี ร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำกว่า 1.6 ล้านตัว ต่อเนื่องเป็นปีที่ 22 สานต่อ ESG หนุน SDGs
OR ตอกย้ำแนวคิดสังคมสะอาด มอบรางวัลโครงการ “แยก แลก ยิ้ม School Camp ประจำปี 2567”
เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์ ร่วมบรรยายในงานประชุม The 58th