19 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

ทิพยประกันภัย เดินหน้าสืบสานนวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 38

โครงการตามพระราชดำริ  แห่งแรกของระยอง จากพื้นที่แห้งแล้งกลายเป็นแลนด์มาร์คล่าสุดของเมืองพระมหาชนก

ทิพยประกันภัย จัดโครงการ ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 38 พาคณะครูอาจารย์ เยาวชน ผู้บริหารองค์กรภาครัฐและเอกชน ตามรอยเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่โครงการพระราชดำริแห่งแรกของจังหวัดระยอง โครงการศูนย์บริการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ เพื่อเรียนรู้หลักการบริหารจัดการ ดิน น้ำ ป่า คน สู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน พร้อมทำกิจกรรม ฝึกปลูกสับปะรดสี เคาะไข่ปลานิล แปลงเพศปลานิล เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาอาชีพ และชมนิทรรศการเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 ในรูปแบบมัลติมีเดียภายในหอเฉลิมพระเกียรติ อาคารพระมหาชนก

ย้อนไปเมื่อ 44 ปีก่อน ในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2523 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินพื้นที่จังหวัดระยอง-ชลบุรี ที่แต่เดิมเคยเป็นพื้นที่แห้งแล้ง สาเหตุจากการที่ป่าไม้ถูกทำลาย ขาดแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งประกอบอาชีพการเกษตร ประสบปัญหาผลผลิตตกต่ำรุนแรง ทำให้ขาดรายได้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานแนวทางแก้ปัญหาโดยการให้มีระบบการส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำดอกกราย ซึ่งมีพื้นที่กว่า 1,300 ไร่ ไปสู่พื้นที่ทางการเกษตรของประชาชน พร้อมกับพระราชทานทรัพย์มาเป็นเงินทุนหมุนเวียน จำนวน 3 ล้านบาท สำหรับจัดตั้งโครงการศูนย์บริการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ ให้เป็นศูนย์กลางอาชีพการเกษตรและศิลปาชีพพิเศษแก่ประชาชน โดยทรงพระราชทานแนวทางการพัฒนาไว้ 4 ประการ คือ

  1. ให้พัฒนาการเกษตร ปศุสัตว์และประมง เพื่อการบริโภคและสำรองอาหารไว้ในยามวิกฤติ มูลสัตว์ทำเป็นเชื้อเพลิงและปุ๋ยปรับปรุงดิน
  2. ให้มีศูนย์ฝึกปฏิบัติการด้านประกอบอาชีพ โดยปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ควบคู่กันไป
  3. ให้จัดเป็นศูนย์กลางส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์ โดยให้ราษฎรยืมพ่อ-แม่พันธุ์ที่ดีไปผสม
  4. ให้มีศูนย์พัฒนาการเกษตร สำหรับศึกษาเยี่ยมชม พร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
    ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตตามแนวพระราชดำริ

ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระวิสัยทัศน์กว้างไกลของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคนควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่โดยยึดหลักสอดคล้องกับภูมิสังคม ส่งผลให้ประชาชนที่ดำเนินตามแนวพระราชดำริ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถพึ่งตนเองได้ และอยู่ร่วมกับธรรมชาติทั้งดิน น้ำ ป่า ได้อย่างยั่งยืน จังหวัดระยองในปัจจุบันจากที่เคยแห้งแล้ง ได้กลายเป็นแผ่นดินทอง เด่นทั้งในเรื่องการเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว โครงการศูนย์บริการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริแห่งนี้ ยังได้กลายมาเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “เมืองพระมหาชนก” อีกด้วย

นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงรับฟังปัญหาของราษฎร และค้นหาแนวทางแก้ไขโดยประยุกต์ศาสตร์ต่าง ๆ ให้เข้ากับปัญหา และพื้นที่เพื่อหาวิธีแก้ไขอย่างเหมาะสม นำไปปฏิบัติได้จริง บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง ทั้งหมดนี้ คือหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” หนึ่งในศาสตร์พระราชา ที่เราตั้งใจที่จะถ่ายทอดให้กับประชาชนได้รับรู้ และเชื่อว่าจะสามารถสร้างความเจริญอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน สังคม และประเทศชาติต่อไปได้”

ภายในโครงการศูนย์บริการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริแห่งนี้ ยังได้แบ่งเป็นฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ
รวม 7 ฐานการเรียนรู้ ประกอบด้วย ฐานการเรียนรู้ด้านพืชสวน ด้านการพัฒนา ด้านข้าว ด้านประมง ด้านปศุสัตว์ ด้านวิชาการเกษตร และด้านฟาร์มแกะ เพื่อตอบโจทย์การถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่เกษตรกรอย่างรอบด้าน และการนำไปต่อยอดทางด้านอาชีพและสร้างรายได้ที่มั่นคง โดยผู้เข้าร่วมโครงการได้ทำกิจกรรม ณ จุดเรียนรู้ไม้ดอกไม้ประดับ เพื่อเรียนรู้การปลูกสับปะรดสี ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจ และเป็นพืชที่ได้รับความนิยม โดยทางโครงการฯ ได้มีการนำระบบเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) มาช่วยในเรื่องการดูแลพืชผลทางการเกษตรด้วย ได้แก่ ระบบการให้น้ำอัตโนมัติ สามารถควบคุมการให้น้ำด้วยมือถือได้ ช่วยทุ่นแรง และช่วยประหยัดเวลาให้กับเกษตรกร นับเป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในการทำการเกษตรได้อย่างลงตัว

จากนั้น ผู้เข้าร่วมโครงการ ได้ไปทำกิจกรรมต่อที่ฐานการเรียนรู้ด้านประมง เพื่อศึกษาการผลิตปลานิลแปลงเพศ โดยปลานิลเป็นหนึ่งใน 4 ปลาพระราชทาน และเป็นปลาเพียงชนิดเดียวที่ได้รับพระราชทานชื่อจาก ในหลวงรัชกาลที่ 9 ปลานิลเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว สร้างรายได้ดี ซึ่งประโยชน์ของการแปลงเพศปลานิลก็คือ ทำให้ปลานิลฟักออกมาเป็นเพศผู้ ซึ่งเพศผู้จะโตเร็ว และมีขนาดใหญ่กว่าเพศเมีย ทำให้มีราคาดีกว่า อีกทั้งยังช่วยในเรื่องการควบคุมจำนวนปลาในบ่อเลี้ยงไม่ให้มีมากเกินไปอีกด้วย ในช่วงวางไข่ แม่ปลาจะอมไข่ไว้ในปาก ดังนั้น เพื่อเพิ่มโอกาสการรอด และเพื่อสะดวกต่อการแปลงเพศลูกปลา เกษตรกรจึงต้องเคาะไข่จากปากแม่ปลานิล เอามาเพาะเลี้ยงในบ่อแยกที่มีการหมุนเวียนของกระแสน้ำ โดยในขั้นตอนนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้มีโอกาสร่วมทดลองเคาะไข่ปลานิลจากปากแม่ปลาด้วย

ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวเสริมว่า “สิ่งที่เป็นความโชคดีที่สุดสำหรับเกษตรกร และประชาชนชาวไทย คือการที่เรามีศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เป็นเหมือนคลังความรู้อันยิ่งใหญ่ที่เราสามารถศึกษา และนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาที่พบเจอได้ อีกทั้งยังเป็นแนวทางในการสร้างความสมดุลให้กับชีวิต ให้อยู่บนความยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกัน ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้น องค์ความรู้ของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือสิ่งที่พวกเราควรจะต้องสืบสาน และถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานของเรา เพราะศาสตร์พระราชาจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต”

ต่อจากนั้น คณะผู้เข้าร่วมโครงการ ได้เดินทางไปชมนิทรรศการเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 ณ อาคารพระมหาชนก หรือหอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นอาคารสูง 70 เมตร มีจุดชมวิวอยู่ในส่วนบนสุดของอาคาร สามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบ และเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัดระยอง โดยมีการจัดแสดงนิทรรศการ โครงการตามพระราชดำริ ทั้ง 4,658 โครงการ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในรูปแบบมัลติมีเดียอยู่ที่บริเวณด้านล่างของอาคารอีกด้วย

นอกจากนี้ ในโครงการยังมีกิจกรรม Workshop และการบรรยาย โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ อาทิ “9 ตามรอยนวัตกรรมของพ่อ ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับสากล” ที่เป็นการถอดบทเรียนนวัตกรรมศาสตร์พระราชาในประเด็น “ศาสตร์พระราชากับนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด” พร้อมสอดแทรกคุณธรรม 5 ประการ คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญู และ “The King’s Journey Learn English an Example of an Invention” โดยอาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย พร้อมทั้งการบรรยายเรื่อง “คุณธรรมในยุคดิจิทัล” โดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม และ “ถอดรหัสพระอัจฉริยะภาพในหลวงรัชกาลที่ 9” โดย ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามนโยบาย UNSDG ภายในปี 2030

ทั้งนี้ ทางโครงการฯ ยังได้จัดกิจกรรมจิตอาสา และการกุศล ให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้ร่วมทำ เพื่อเป็นการเสริมสร้างให้เกิดจิตสาธารณะ และฝึกความเสียสละเพื่อส่วนรวมอีกด้วย เช่น กิจกรรมปล่อยปลา 6 สายพันธุ์ จำนวนรวม 35,000 ตัว ณ อ่างเก็บน้ำดอกกราย จ.ระยอง และกิจกรรมมอบหนังสือจากโครงการ “อ่านพลิกชีวิต” ของอมรินทร์กรุ๊ป พร้อมด้วยกิจกรรมมอบทุน และอุปกรณ์ทางการศึกษาจากมูลนิธิธรรมดี ให้กับน้อง ๆ นักเรียนในจังหวัดระยอง และมอบชุดหนังสือแสงแห่งปัญญาให้กับเรือนจำกลางระยองอีกด้วย

สำหรับโครงการ ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ในครั้งต่อไป จัดโดย บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) คุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย และมูลนิธิธรรมดี พร้อมด้วยการสนับสนุนหนังสือจากโครงการอมรินทร์อาสาอ่านพลิกชีวิต อมรินทร์กรุ๊ป ขอเชิญชวนครู-อาจารย์ และผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม ณ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้ง บ้านโคกสลุง จังหวัดลพบุรี ในวันที่ 27-28 เมษายน พ.ศ. 2567 โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านจะได้รับประกาศนียบัตรจากทางโครงการฯ ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นหนึ่งในกิจกรรมการพัฒนาตนเองในการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาจากคุรุสภาได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่          คุณจารุกัญญ์ โทรศัพท์ 099 397 5333 FB : ตามรอยพระราชา-The King’s Journey LINE : The King’s Journey

You may have missed

Skip to content