26 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

ผถห.TPCH อนุมัติจ่ายปันผลปี 66 อัตรา 0.40 บ./หุ้น

เตรียมรับทรัพย์ 20 พ.ค.67-มั่นใจผลงานปี 67 โตแกร่ง ลุยพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเพิ่มอีก 4 โปรเจค ผู้ถือหุ้น บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) โหวตอนุมัติจ่ายปันผลปี 66 เป็นเงินสด 0.40 บาท/หุ้น ขึ้น XD 30 เม.ย.67 กำหนดจ่าย 20 พ.ค.นี้ ฟากแม่ทัพหญิง “กนกทิพย์ จันทร์พลังศรี” มั่นใจแนวโน้มผลงานปี 67 โตแกร่ง จากการเร่งพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเพิ่มอีก 4 โครงการ ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ SPNK คาดเซ็น PPA ภายในปีนี้ พร้อมเดินหน้าขายคาร์บอนเครดิต เพื่อหารายได้เพิ่มเติม สนับสนุนรายได้ปี 67 โต 10% ตามแผน นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) เปิดเผยว่า ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ในวันที่ 24 เมษายน 2567 มีมติอนุมัติจ่ายปันผลงวดประจำปี 2566 ให้กับผู้ถือหุ้นเป็นเงินสด 0.40 บาท/หุ้น เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 160,480,000 บาท โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 30 เมษายน 2567 และกำหนดวันที่จ่ายปันผลวันที่ 20 พฤษภาคม 2567

“ผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ สามารถทำรายได้รวม 2,893.34 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 288.44 ล้านบาท และสามารถจ่ายปันผลเป็นเงินสดให้กับผู้ถือหุ้นได้ ตามนโยบายการจ่ายปันผลของบริษัทฯ ซึ่ง TPCH ต้องขอขอบคุณผู้ถือหุ้นทุกท่านที่ให้ความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ เรามุ่งมั่นที่จะบริหารงานให้เป็นไปตามแผนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างต่อเนื่องและสร้างการเติบโตให้ TPCH ได้อย่างยั่งยืน” นางกนกทิพย์กล่าว

นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) กล่าวว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานปี 2567 คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน โดยในปีนี้ บริษัทฯ ประเมินว่า ยังสามารถรับรู้รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ครบ 8 แห่ง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล CRB, MWE, MGP, TSG, PGP, SGP , PTG มีกำลังการผลิตติดตั้ง 80 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ สยาม พาวเวอร์ นนทบุรี (SPNT) ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้ง 9.5 เมกะวัตต์ ล่าสุด โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน สยาม พาวเวอร์ หนองสาหร่าย (SPNS) ซึ่งดำเนินการภายใต้ บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด และ TPCH ถือหุ้นในสัดส่วน 50% โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งอยู่ที่ 9.9 เมกะวัตต์ ได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะสามารถ SCOD ภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2569 สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ สยาม พาวเวอร์ นากลาง (SPNK) ขององค์การบริหารส่วนตำบลนากลาง ตั้งอยู่ที่ตำบลนากลาง อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ คาดว่า จะสามารถเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ภายในปีนี้ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเดินหน้าพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเพิ่มอีกประมาณ 4 โครงการ ภายใต้บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด ประกอบด้วย SP4-SP7 ซึ่งเป็นโครงการรูปแบบ VSPP (Very Small Power Producer) เพื่อเข้าร่วมโครงการรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐ และขณะนี้ จำนวนขยะชุมชนมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดว่า จะมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นโอกาสทางธุรกิจให้กับ TPCH ขณะเดียวกัน การลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนในต่างประเทศ บริษัทฯ ได้เข้าร่วมลงทุนกับ บริษัท แม่โขง พาวเวอร์ จํากัด (MKP) ในสัดส่วน 40% ที่ประกอบธุรกิจผลิต และจําหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ใน สปป.ลาว และ MKP ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 100 เมกะวัตต์ กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) เรียบร้อยแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนปรับพื้นที่เตรียมการก่อสร้าง คาดว่า จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในช่วงไตรมาส 2/2567 รวมทั้ง มีแผนที่จะส่งไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไปจำหน่ายในประเทศเวียดนามอีกหนึ่งโครงการสำหรับการลงทุนในประเทศกัมพูชา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาต โดยตั้งเป้าการมีกำลังการผลิตของโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ประมาณ 180-200 เมกะวัตต์ และโครงการพลังงานลม ประมาณ 50-100 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้จดทะเบียนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของบริษัทฯ ทุกโครงการสำหรับคาร์บอนเครดิต โดยคำนวณจำนวนคาร์บอนเครดิตได้รับต่อปีและได้ลงนามในสัญญาขายคาร์บอนเครดิต เพื่อหารายได้เพิ่มเติมให้กับบริษัทฯ แล้ว สำหรับโครงการที่กำลังพัฒนานั้น มีการศึกษาการลงทะเบียนคาร์บอนเครดิตในมาตรฐานต่างๆ มาตั้งแต่เริ่มศึกษาโครงการ เพื่อหาโอกาสและประโยชน์ของโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุด มูลค่าของรายได้คาร์บอนเครดิตไม่ได้ถูกนำมาคำนวณในการตัดสินใจลงทุน เนื่องจากแพลตฟอร์มและความผันผวนของราคา อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มั่นใจว่า คาร์บอนเครดิตจะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัทได้ในอนาคต

สำหรับโครงการต่างประเทศก็จะมีการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตในรูปแบบมาตรฐานสากลเพื่อที่จะสร้างความมั่นใจกับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่สนใจอยากร่วมลงทุนโครงการในอนาคต เป็นแบบอย่างโครงการที่ดีที่มีส่วนช่วยเหลือสังคม และอีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้ให้บริษัทไปพัฒนาโครงการต่อไป

“ในปีนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้เติบโตที่ระดับ 10% จากธุรกิจพลังงานทดแทน ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลและโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 99.4 เมกะวัตต์ พร้อมทั้งเดินหน้าพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานขยะอีกหลายโครงการ ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงเป้าหมายมีกำลังการผลิตรวมจากโรงไฟฟ้าในประเทศ 150 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าประเภทพลังงานชีวมวล 80 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าประเภทพลังงานขยะ 70 เมกะวัตต์ และโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในต่างประเทศ 350 เมกะวัตต์ เพื่อให้มีกำลังการผลิตรวม 500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2569” นายเชิดศักดิ์กล่าวในที่สุด

 

 

 

 

Skip to content