ป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ และยังเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนและผลิตออกซิเจนที่สำคัญ โดยสามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าป่าบกกว่า 9 เท่า และรู้ไหม๊ว่าหนึ่งในชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญในป่าชายเลน ก็คือ ต้นโกงกาง (Rhizophora) และเนื่องในวันที่ 10 พฤษภาคมเป็นวันป่าชายเลนแห่งชาติ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI พามารู้จัก โกงกาง พร้อมตอกย้ำการเป็นองค์กรชั้นนำด้านสิ่งแวดล้อม เดินหน้าเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ระบบนิเวศชายฝั่งทะเลผ่านกิจกรรม “สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมใจปลูกป่าชายเลน เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ระบบนิเวศชายฝั่งทะเล” ณ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและอนุรักษ์ป่าชายเลน เพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จ.ชลบุรี
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ป่าชายเลนมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง เป็นแหล่งผลิตสิ่งมีชีวิตและเป็นศูนย์รวมความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์พืชและสัตว์ชนิดต่าง ๆ รวมทั้ง การดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเพิ่มปริมาณออกซิเจนในชั้นบรรยากาศ ลดความรุนแรงของคลื่นลมและป้องกันการกัดเซาะของชายฝั่งทะเล แต่ในขณะเดียวกันปัจจุบันพื้นป่าชายเลนก็ถูกคุกคามจากปัจจัยหลายด้านทั้งจากภัยธรรมชาติและฝีมือของคนเรา ดังนั้นกิจกรรมร่วมใจปลูกป่าชายเลน เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ระบบนิเวศชายฝั่งทะเลที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและอนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ นับเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะถือเป็นการฟื้นฟูชายฝั่งทะเล จ.ชลบุรี และร่วมอนุรักษ์ป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ วัยอ่อนเพื่อคืนชีวิตสู่ท้องทะเลตามธรรมชาติ และเพื่อความอุดมสมบูรณ์ระบบนิเวศชายฝั่งทะเล รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเพิ่มปริมาณการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลด การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่กำหนดไว้ ในขณะเดียวกันยังเป็นการรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้เยาวชนรุ่นต่อๆไป ได้สัมผัสความอุดมสมบูรณ์ ความสวยงามของธรรมชาติเพื่อส่งต่อบนผืนป่าชายเลน”
มาพูดถึงลักษณะของโกงกาง คุณพวงผกา ขาวกระโทก นักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้เรียบเรียงไว้ว่า โกงกาง เป็นพันธุ์ไม้ที่ได้รับการขนานนามคือ “ไม้แห่งป่าชายเลน” ด้วยการที่มีรากค้ำจุนให้สามารถยืนต้นตั้งตรงอยู่ได้ในสภาพพื้นที่เป็นโคลน มีการแตกแขนงออกมา โคน ลำต้น หรือแม้แต่กิ่ง หยั่งลงไปยังพื้นโคลนเพื่อช่วยพยุงต้น และมีรากเพื่อการหายใจซึ่งเป็นเสมือนหลอดดูดเพื่อออกมารับออกซิเจน รากต้นโกงกางได้ทำหน้าที่เป็นเสมือนแผงกั้นป้องกันการกัดเซาะของกระแสน้ำและแนวกำบังคลื่นลมที่เคลื่อนเข้ามาปะทะชายฝั่ง และยังเป็นแหล่งวางไข่ ขยายพันธุ์ และที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน จึงเปรียบได้ว่าโกงกางเป็นชนิดพันธุ์กุญแจสำคัญ ของระบบนิเวศ ป่าชายเลน
แหล่งที่อยู่อาศัยของไม้แห่งป่าชายเลน ชอบดินที่เป็นโคลนเลน น้ำท่วมถึง สามารถเติบโตอยู่ได้ทั้งน้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด จึงมีความสามารถในการปรับตัวเพื่อที่จะอาศัยอยู่ได้อย่างปลอดภัยและดำรงเผ่าพันธุ์ได้ ส่วน “ใบ” ทำหน้าที่สังเคราะห์แสงเหมือนต้นไม้ทั่วไป และยังทำหน้าที่ขับเกลือหากเติบโตในน้ำเค็มหรือน้ำกร่อย ซึ่งนั่นเป็นความสามารถในการปรับตัวและวิวัฒนาการโกงกาง
สำหรับ ต้นโกงกางที่พบมากในประเทศไทย ได้แก่ โกงกางใบเล็ก และโกงกางใบใหญ่ มีความแตกต่างกันก็คือ
โกงกางใบเล็ก – มีใบเดี่ยว ยาวและเรียว ช่อดอกมี 2 ดอก ผลเป็นทรงกลมคล้ายไข่ เมื่อผลแก่จะไม่แตก ส่วน
รากค้ำยันที่ออกมาจากโคนต้นจะทำมุมเกือบตั้งฉากและหักเป็นมุมลงดินเพื่อพยุงลำต้น
โกงกางใบใหญ่ – มีใบเดี่ยวที่ใหญ่และกลมกว่า ช่อดอกประกอบด้วยดอก 2-12 ดอก ผลมีลักษณะทรงกลมคล้ายไข่เช่นกัน โดยจะงอกยื่นยาวออกมาคล้ายฝัก มีรากค้ำยันที่แตกจากโคนต้นและค่อยๆ โค้งลงดิน ไม่หักเป็นมุมดังเช่น
รากค้ำยันของโกงกางใบเล็ก
ด้วยความสำคัญของป่าชายเลน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับป่าชายเลนขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2534 ต่อมา คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติจากการประชุมเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 เห็นชอบให้วันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น “วันป่าชายเลนแห่งชาติ” เพื่อการรณรงค์และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ภาคส่วนต่าง ๆ เห็นคุณค่าของป่าชายเลน และร่วมกันการอนุรักษ์ป่าชายเลน
ทั้งนี้ ดร.วิจารย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า พื้นที่ป่าชายเลน เช่น ทุ่งโปร่งทอง ปากน้ำประแส จังหวัดระยอง เป็นแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดได้อีกด้วย รวมทั้งสวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.9 ตำบลหนองบัว อำเภอเมืองจันทบุรี ที่รวบรวมและอนุรักษ์พันธุ์ไม้ป่าชายเลนจากนานาชาติ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและศึกษาด้านระบบนิเวศป่าชายเลน ป่าชายเลน จึงไม่เพียงแต่มีความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ป่าชายเลนยังมีความสำคัญเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้นทรัพยากรป่าชายเลนจึงมีคุณค่ามหาศาลทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงขอชวนให้ทุกคนอนุรักษ์และฟื้นฟูชายเลน เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าชายเลนให้ยั่งยืนตลอดไป
แหล่งข้อมูล: กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง/ บทความ Structure and Diversity of Plants in Mangrove Ecosystems โดย Mohd Nazip Suratman, 2021 / สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย. /The IUCN Red List of Threatened Species
More Stories
รฟฟ.บีแอลซีพี ร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำกว่า 1.6 ล้านตัว ต่อเนื่องเป็นปีที่ 22 สานต่อ ESG หนุน SDGs
OR ตอกย้ำแนวคิดสังคมสะอาด มอบรางวัลโครงการ “แยก แลก ยิ้ม School Camp ประจำปี 2567”
เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์ ร่วมบรรยายในงานประชุม The 58th