ภาคีเซาท์สุขุมวิท (South Sukhumvit) จากการรวมตัวกันของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนในย่านพระโขนง-บางนา ร่วมกับสำนักงานเขตพระโขนง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และกลุ่มนักสร้างสรรค์ในพื้นที่ ขับเคลื่อนพระโขนง-บางนาสู่ย่านนวัตกรรมสร้างสรรค์ ปรับปรุงและฟื้นฟู ‘บ้านต้นไม้ 95 เขตพระโขนง’ บนพื้นที่ 214 ตารางเมตร บริเวณท้ายซอยสุขุมวิท 95 เป็นพื้นที่สาธารณะแนวตั้ง เชื่อมต่อคนในชุมชนกับธรรมชาติ พร้อมผลักดันเป็นโครงการต้นแบบ ขานรับนโยบาย ‘สวน 15 นาที’ ของกรุงเทพมหานคร
นางสายทิพย์ สุคนธ์มณี ผู้อำนวยการเขตพระโขนง กล่าวว่า “พื้นที่สาธารณะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปัจจุบันพื้นที่สาธารณะเปิดโล่งในกรุงเทพฯ มีอยู่อย่างค่อนข้างจำกัด จึงเป็นที่มาของนโยบายสวน 15 นาที ที่ต้องการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงพื้นที่พักผ่อนใกล้บ้านได้ สำนักงานเขตฯ เล็งเห็นว่าในย่านเซาท์สุขุมวิทมีพื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่สามารถปรับปรุงให้เป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อประโยชน์ต่อคนในชุมชนได้ หนึ่งในพื้นที่เหล่านั้นคือพื้นที่บริเวณท้ายซอยสุขุมวิท 95 ที่ถูกปล่อยทิ้งร้าง จนกระทั่งในปี 2564 กลุ่มนิสิตและคณาจารย์วิชาการออกแบบและก่อสร้างเพื่อชุมชน จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ (INDA) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้ามาพัฒนาให้กลายเป็นสนามเด็กเล่นที่เป็นหอคอยแนวตั้งยึดกับต้นไม้ ให้เด็กๆ เข้ามาเล่นได้อย่างปลอดภัย แต่เมื่อเวลาผ่านไปบ้านต้นไม้มีสภาพทรุดโทรมลง สำนักงานเขตฯ อยากสานต่อความตั้งใจเดิม จึงได้ร่วมกับภาคีเซาท์สุขุมวิทในการพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่นี้อีกครั้ง”
การพัฒนาปรับปรุง ‘บ้านต้นไม้ 95 เขตพระโขนง’ ในครั้งนี้เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของหลายภาคส่วน โดยมีจุดเริ่มต้นจากกลุ่ม Sukhumvit 95 Design Collective ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของคนในชุมชนและร้านค้าในซอยสุขุมวิท 95 ร่วมกันออกแบบและฟื้นฟูบ้านต้นไม้เดิม พร้อมปรับโฉมพื้นที่โดยรอบให้เป็นลานละเล่นที่สามารถรองรับกิจกรรมหลากหลายของคนในชุมชน และยังได้ภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาร่วมคิดค้นวิจัยวัสดุปูพื้นนวัตกรรมคอนกรีตจากเถ้าขยะ เพื่อลดค่าคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) ของวัสดุก่อสร้าง และสนับสนุนการแก้ปัญหาขยะล้นเมืองโดยใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจาก บริษัท ไทย
โอบายาชิ จำกัด ที่นำเอาความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างมาร่วมสร้างงานรั้วรอบพื้นที่สาธารณะแห่งนี้
‘บ้านต้นไม้ 95 เขตพระโขนง’ เปิดตัวครั้งแรกหลังการบูรณะฟื้นฟูในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567 (Bangkok Design Week 2024) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยย่านเซาท์สุขุมวิทได้เข้าร่วมเป็น 1 ใน 15+ ย่านสร้างสรรค์ ร่วมถ่ายทอดวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ของย่านผ่านโปรแกรมสร้างสรรค์ต่างๆ โดยมีบ้านต้นไม้เป็นหนึ่งในไฮไลท์สำคัญ พร้อมทั้งจัด 2 กิจกรรมต้นแบบเพื่อให้คนในชุมชนเห็นภาพการใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะแห่งนี้ อันประกอบไปด้วย นิทรรศการภาพถ่ายและเฟอร์นิเจอร์ Where we were โดย 85mm. Studio & House และเสวนาเรื่องอาหาร (Politics of Food) โดย Books & Belongings ซึ่งภายหลังจากเสร็จสิ้นเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567 บ้านต้นไม้ 95 เขตพระโขนง ได้กลายเป็นอีกหนึ่งสาธารณะสมบัติที่ถูกส่งมอบให้กับชุมชนและชาวบ้านในระแวกใกล้เคียง โดยเฉพาะเด็กๆ ได้เข้ามาใช้ประโยชน์ต่อไป
นายองศา จรรยาประเสริฐ ผู้อำนวยการโครงการ Cloud 11 by MQDC ฮับแห่งใหม่สำหรับวงการครีเอทีฟ ตัวแทนภาคีเซาท์สุขุมวิท กล่าวว่า “การฟื้นคืนชีวิตและทำให้บ้านต้นไม้กลับมาเป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชนอีกครั้ง เป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนในชุมชนให้สามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ใกล้บ้าน และยังเป็นพื้นที่ที่สามารถรองรับการทำกิจกรรมได้อย่างหลากหลาย เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เด็กสามารถมาเล่น ผู้ใหญ่สามารถมาพักผ่อน ออกกำลังกาย ทั้งยังส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์กันในชุมชน นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของภาคีเซาท์สุขุมวิทในการผสานความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน (Public Private People Partnership) นำเอาความสนใจและความสามารถที่แตกต่าง มาต่อยอดและเติมเต็มซึ่งกันและกัน เพื่อขับเคลื่อนพระโขนง-บางนาสู่ย่านนวัตกรรมสร้างสรรค์ และพัฒนาย่านเซาท์สุขุมวิทให้เป็นย่านน่าอยู่ และเป็นพื้นที่ของทุกคน (Inclusive City) อย่างแท้จริง”
ติดตามความเคลื่อนไหว และกิจกรรมต่างๆ ของภาคีเซาท์สุขุมวิทที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ทาง Facebook Fan Page: South Sukhumvit
More Stories
SCB WEALTH ปิดรอบพิเศษละครเวที “ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล”
เคนยากุ จัดประชุมแผนกลยุทธ์ประจำปี 2568
เปิดแล้ว! ครั้งแรกกับ โดรนเทค เอเชีย 2024 งานที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานพาหนะไร้คนขับของอาเซียน กว่า 100 แบรนด์ชั้นนำ และคนในวงการร่วมเปิดมุมมองใหม่ผ่านการเสวนา ประชุม 15 หัวข้อน่าสนใจ และการสาธิตนวัตกรรมที่หลากหลาย