26 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

ติดยานอนหลับ ภัยเงียบส่งผลต่อสุขภาพจิต

ปัจจุบันหลายคนประสบปัญหาการนอนหลับยาก จากการใช้ชีวิตที่ทำให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวล ส่งผลให้หันมาพึ่งยานอนหลับเพื่อช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น แต่การใช้ยานอนหลับเป็นเวลานาน จนถึงขั้นติดยานอนหลับอาจจะส่งผลกระทบต่อร่างกายและสุขภาพจิตในระยะยาว

นายแพทย์ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์ จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า  อาการนอนไม่หลับ (Insomnia) เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งจากพฤติกรรมการนอนที่ไม่เหมาะสม รวมไปถึงความเครียดในชีวิตประจำวัน หรือ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ามีโรคทางกาย หรือ จิตเวช ซ่อนอยู่ อาการของนอนไม่หลับ ถึงแม้ว่าอาจจะฟังดูไม่รุนแรง แต่สามารถส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ในหลายด้าน

ปัจจัยต่าง ๆ ที่สามารถส่งผลเสียต่อการนอน เช่น

  • ด้านจิตใจ สภาวะความเครียดทำให้เกิดความกังวล หมดกำลังใจ อาการเหล่านี้มีผลทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ หรืออาจเกิดจากโรคที่มีผลโดยตรงกับความอารมณ์ เช่น โรคไบโพลาร์ หรือโรคซึมเศร้า เป็นต้น
  • ด้านร่างกาย มีอาการป่วยที่มีส่วนทำให้เกิดโรค เช่น โรคขาอยู่ไม่สุข โรคกรดไหลย้อน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคขากระตุกขณะหลับ นอกจากนี้ยังเกิดจากสภาวะของร่างกายตามอายุ เช่น การหมดประจำเดือน รวมไปถึงอาการเหนื่อยล้าจากการทำงาน เป็นต้น
  • ด้านอื่น ๆ เช่น ผลข้างเคียงจากใช้ยาบางชนิด การออกกำลังกายมากเกินไป การดื่มหรือทานอาหารที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน

ปัจจุบันมีการนำยาหลายกลุ่มมาใช้ช่วยให้นอนหลับ ซึ่งยาที่ใช้บ่อยมักเป็นยาในกลุ่ม Benzodiazepine โดยตัวยาจะออกฤทธิ์กดการทำงานของสมอง เพื่อช่วยคลายความกังวล และช่วยให้นอนได้ง่ายขึ้น ถึงแม้ยาในกลุ่มนี้มีประโยชน์มาก แต่หากผู้ป่วยใช้ยาไม่ถูกต้องหรือมีการใช้ขนาดสูง ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้มีอาการติดยานอนหลับได้ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากการที่จำเป็นต้องใช้ยาขนาดที่สูงขึ้น เพื่อให้หลับได้ หรือ ที่เรียกว่า การดื้อยา นอกจากนี้ การที่ใช้ยานอนหลับในกลุ่มนี้ติดต่อกันนาน ๆ อาจทำให้นอนได้ยากขึ้น หากไม่ได้ใช้ยา

ผลข้างเคียงจากการใช้ยานอนหลับมีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นจะมีอาการ ง่วงนอน อ่อนเพลีย, ปวดศีรษะ, คลื่นไส้, สับสน มึนงง, ท้องเสีย หรือ ท้องผูก, ปากแห้ง, กล้ามเนื้ออ่อนแรง, การตัดสินใจช้า สมองประมวลผลช้า เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ พลัดตกหกล้ม, อาหารไม่ย่อย มีแก๊ซในกระเพาะอาหาร จุกเสียด แน่นท้อง ส่วนระยะยาว ส่งผลต่อการทำงานของสมอง เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการนอนหลับ จนทำให้ติดยานอนหลับ การดื้อยา รวมถึงผลข้างเคียงอื่น ๆ ได้แก่ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า,  ภาวะสมองเสื่อม โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ, สมรรถภาพทางเพศเสื่อม

นอกจากนี้ การใช้ยานอนหลับเกินขนาด อาจทำให้เกิดการกดระบบหายใจขณะหลับ จนอาจทำให้เสียชีวิตได้

ทั้งนี้ผู้ที่ใช้ยานอนหลับไม่ควรเลิกยานอนหลับกระทันหันหรือหักดิบ (Cold turkey) เพราะอาจทำให้เกิดมีอาการนอนไม่หลับที่รุนแรงกว่าตอนที่ยังไม่ได้ใช้ยา (Rebound insomnia) และจะทำให้เกิดอาการถอนยาได้ เช่น หงุดหงิด สับสนกระสับกระส่าย วิตกกังวล มีอาการสั่นหรือมีปัญหาระบบไหลเวียนของโลหิต เพราะฉะนั้นต้องลดขนาดยาตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น

การรักษาอาการติดยานอนหลับ ควรเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์ เนื่องจากการเพิ่มหรือลดขนาดยานอนหลับต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้ให้การรักษา เพราะการปรับขนาดยานอนหลับจะขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละบุคคลด้วย เช่น ความเครียด พฤติกรรมกิจวัตรประจำวัน ชนิดและขนาดยาที่ใช้  ซึ่งการลดขนาดยาแพทย์จะทำควบคู่ไปกับการจิตบำบัด เช่น การบำบัดโดยการปรับความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy: CBT) เป็นการบำบัดจิตโดยการพูดคุยกับนักจิตบำบัด หรือจิตแพทย์เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถปรับพฤติกรรมการนอนหลับ และรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้

 

นายแพทย์ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์

จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital

Skip to content