26 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

CHAYO งบ Q1/67 โกยรายได้กว่า 493 ลบ. โตกว่า 41% กำไรอยู่ที่ 42.45 ลบ. บอร์ดใจดี เคาะจ่ายปันผลระหว่างกาล 0.035 บ./หุ้น

 

CHAYO ประกาศงบโค้งแรกมีรายได้รวม 493.17 ลบ. เพิ่มขึ้น 144.03 ลบ.จากงวดเดียวกันของปีก่อน หรือ 41.25% จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อแก่สินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้กู้ยืมเพิ่มขึ้น มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 42.45 ลบ.  ด้าน “สุขสันต์ ยศะสินธุ์” แม่ทัพใหญ่ ลุยซื้อหนี้เพิ่ม คาดหนี้ไหลสู่ตลาดมากในช่วงไตรมาส 3 – 4 ปีนี้ ทั้งปีวางเป้าซื้อหนี้เพิ่มราว 10,000-15,000 ลบ. มั่นใจเป้ารายได้รวมโตไม่ต่ำกว่า 20% จากปีก่อน

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO ผู้ดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ ทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน ธุรกิจเจรจาติดตามเร่งรัดหนี้สิน ธุรกิจปล่อยสินเชื่อ และกิจการศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทฯในงวดไตรมาส 1/2567 มีรายได้รวม 493.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 144.03 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 41.25% เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อแก่สินทรัพย์ด้อยคุณภาพและรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้กู้ยืมเพิ่มขึ้นจำนวน 127.38 ล้านบาท และ 15.84 ล้านบาทตามลำดับ

โดยในไตรมาส 1/2567 บริษัทมียอดจัดเก็บจากหนี้ที่ไม่มีหลักประกันและยอดรายได้จากการขายหลักประกันของหนี้ด้อยคุณภาพจำนวน 142.20 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าไตรมาส 1/2566 จำนวน 42.64 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 42.83% โดยที่ยอดจัดเก็บหนี้ชนิดไม่มีหลักประกันยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการที่บริษัทมีการซื้อพอร์ตหนี้ด้อยคุณภาพชนิดไม่มีหลักประกันมาบริหารเพิ่มเติมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้บริษัทมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้ดอกเบี้ยจากการปล่อยสินเชื่อ 37.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จำนวน 15.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 74.07% ซึ่งเป็นผลมาจากการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น โดยยอดลูกหนี้เงินให้กู้ยืม ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 อยู่ที่ 1,086.82 ล้านบาท ขณะที่ยอดลูกหนี้เงินให้กู้ยืม ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 อยู่ที่ 668.56 ล้านบาท

ในไตรมาสแรกปีนี้ บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 42.45 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 75.83 ล้านบาท หรือลดลง 64.11% โดยสาเหตุของการลดลงของกำไรส่วนใหญ่เป็นผลจากการตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น โดยเป็นการเกิดผลขาดทุนแบบครั้งเดียว เนื่องจากการปรับประมาณการใหม่บางพอร์ตในอดีตจำนวน 128.46 ล้านบาท โดยผลขาดทุนด้านเครดิตในไตรมาส 1/2567 มีจำนวน 264.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/2566 จำนวน 133.03 ล้านบาท

“ในช่วงไตรมาสที่ 1/2567 บริษัทได้มีการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาแล้วบางส่วนมูลค่าประมาณ 29 ล้านบาท โดยใช้งบลงทุนประมาณ 8.4 ล้านบาท โดยคาดว่าการซื้อขายหนี้จะคึกคักในช่วงไตรมาส 3 – 4 ของปีนี้ ทั้งนี้ในปี 2567 บริษัทตั้งเป้าหมายในการซื้อหนี้เพิ่มเข้ามาราวๆ 10,000-15,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000-1,500 ล้านบาท โดยในปี 2566 บริษัทได้ซื้อหนี้เสียมาบริหารมูลค่าราว 19,485.48 ล้านบาท” นายสุขสันต์ กล่าว

ทั้งนี้ โดยปกติช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ของทุกปีนั้น จะเป็นโลว์ซีซั่นของธุรกิจ ทำให้บริษัทไม่เร่งในการซื้อมูลหนี้ด้อยคุณภาพใหม่เข้ามาเติมพอร์ตมากนัก แต่จะไปเน้นในช่วงครึ่งปีหลังมากกว่า เพราะจะมีมูลหนี้ที่ทางสถาบันการเงินปล่อยออกมาจำนวนมากกว่าทำให้ราคาไม่สูงนัก โดยในการซื้อของใหม่เข้ามาเติมพอร์ตนั้นต้องเห็นแล้วว่าอยู่ในช่วงระดับราคาที่มีความเหมาะสมและไม่แพงเกินไป เพราะไม่อยากให้กลุ่มลูกหนี้ต้องมีภาระทางการเงินเพิ่ม ซึ่งก็จะเป็นการช่วยเหลือในอีกรูปแบบหนึ่ง

ในปีนี้คาดว่าธนาคารพาณิชย์จะยังมีการนำหนี้เสียออกมาจำหน่ายอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง แต่บริษัทคาดว่าทั้งปี 2567 จำนวนหนี้ด้อยคุณภาพที่สถาบันการเงินจะทยอยเปิดประมูลปีนี้จะลดลงหรือใกล้เคียงกับปีก่อน ที่ออกมาขายมากกว่า 400,000 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ต้องจับตาดูสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมและมาตรการต่างๆ ที่ออกมาช่วยเหลือลูกหนี้ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้อย่างน้อย 1 ครั้งก่อนการขายลูกหนี้เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อตอบแทนผู้ถือหุ้น และสะท้อนความเชื่อมั่นการเติบโตของธุรกิจในอนาคต ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลเป็นเงินสด ให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ในอัตราหุ้นละ 0.035 บาท โดยจ่ายจากกำไรสะสม กำหนดสิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) เพื่อสิทธิในการรับเงินปันผล วันที่ 4 มิถุนายน 2567 และวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 วันที่จ่ายปันผล  10 มิถุนายน 2567

สำหรับปี 2567 บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมโตไม่ต่ำกว่า 20% จากปีก่อน และเดินหน้าซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL & NPA) มาบริหารอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าซื้อหนี้เสียเพิ่มอีกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 – 1,500 ล้านบาท

Skip to content