19 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

ทิพยประกันภัย ชวนคนไทยเรียนรู้ศาสตร์แห่ง 3 มหาราช พร้อมถอดรหัสเศรษฐกิจพอเพียง สู่วิถีแห่งความยั่งยืน

ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงในปัจจุบัน การได้ค้นพบวิถีที่พอดีกับชีวิต ถือเป็นเส้นทางสู่ความสุขที่ทุกคนปรารถนา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คืออีกแนวทางหนึ่งที่มุ่งสู่ความสุขยั่งยืน สามารถจับต้องได้ สอดคล้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย และเป็นหลักการสำคัญอันจะนำไปสู่การสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อคนไทยได้อย่างแท้จริง

เพื่อเป็นการถ่ายทอดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของไทย บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับองค์กรพันธมิตร ได้แก่ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)  มูลนิธิธรรมดี และองค์กรภาคีเครือข่าย จึงได้จัดโครงการ ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 40 โดยได้นำคณะครูอาจารย์ และผู้ที่สนใจเดินทางไปศึกษาวิถีชีวิต และการทำการเกษตรตามหลักปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง ควบคู่ไปกับการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ณ “สวนของพ่อ” หรือ ศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ที่เกิดจากพระวิสัยทัศน์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในปี พ.ศ. 2521 ที่เล็งเห็นว่าการทำสวนผลไม้จะมีการขยายตัวมากขึ้นในอนาคต จึงได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จัดซื้อที่ดิน จํานวน 109 ไร่ ในอําเภอมะขาม เพื่อสร้างแหล่งน้ำไว้ให้เกษตรกรในพื้นที่ได้ใช้ในฤดูแล้ง และต่อมาได้มีพระราชดําริให้จัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษาพัฒนาไม้ผล เพื่อศึกษาและทดลองทางการเกษตร และเป็นตัวอย่างในการประกอบอาชีพให้แก่ประชาชน

โดยคณะฯ ได้เรียนรู้การทำสวนผลไม้เศรษฐกิจ อาทิ ทุเรียน มังคุด เงาะ ด้วยเกษตรอินทรีย์ปลอดสารเคมีตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และได้ลองชิมผลไม้สด ๆ จากต้น ซึ่งมี ทุเรียนทรงปลูก พันธุ์พวงมณีของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีด้วย พร้อมกับได้ศึกษาการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีแนวทางการจัดสรรพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30:30:30:10 แบ่งเป็น

  • ส่วนที่ 1 ประมาณ 30% เป็นพื้นที่เก็บกักน้ำสำหรับการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์น้ำ และพืชน้ำต่าง ๆ
  • ส่วนที่ 2 ประมาณ 30% พื้นที่ปลูกข้าวเพื่อใช้เป็นอาหารสำหรับครอบครัวตลอดปี
  • ส่วนที่ 3 ประมาณ 30% ปลูกผัก ปลูกไม้ผล เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือบริโภคก็นำไปจำหน่าย
  • ส่วนที่ 4 ประมาณ 10% เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ และโรงเรือนอื่น ๆ

การดำเนินตามแนวทางดังกล่าว จะทำให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีน้ำใช้ในหน้าแล้ง มีผลผลิตหลากหลายสำหรับการจำหน่ายสร้างรายได้หากเหลือจากการบริโภคในครัวเรือน ฟื้นตัวได้เร็วในกรณีเกิดวิกฤต

 

นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นดังมรดกอันล้ำค่าที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมอบไว้แก่ปวงชนชาวไทยใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต โดยทรงให้เดินบนเส้นทางสายกลางอย่างรอบคอบและมีสติ รู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง ไม่ประมาทตามกระแสบริโภคนิยม ใช้ชีวิตด้วยความพอประมาณ มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดี โดยหลักแห่งความพอเพียงนี้ แท้จริงแล้วเป็นหลักการที่ครอบคลุมทั้งการดำเนินชีวิตและการทำงาน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งในระดับบุคคลทุกสาขาอาชีพ ครอบครัว ชุมชน รวมไปถึงการบริหารองค์กร และนโยบายของประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายสูงสุดเพื่อบรรลุความเป็น “เศรษฐีอย่างยั่งยืน” ควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์สังคมที่ดี และมีความสุขโดยถ้วนหน้า”

จากนั้น คณะฯ ได้เดินทางไปยังกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 กองพลนาวิกโยธิน จังหวัดจันทบุรี เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ สถานที่แห่งนี้ โดยเหตุการณ์แรก คือ วีรกรรมอันกล้าหาญของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงยกทัพมาตีเมืองจันทบุรีแล้วยึดเป็นที่ตั้งมั่นในการเตรียมการกู้ชาติหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าในปี พ.ศ. 2310 โดยคณะฯ ได้ทำการสักการะบูชาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ จุดที่ทรงตั้งค่าย และทำการปลุกขวัญกำลังใจเหล่าทหารด้วยยุทธวิธี “ทุบหม้อข้าว” ก่อนเข้าตีเมืองจันทบุรีจนได้รับชัยชนะ

และอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ “วิกฤตการณ์ ร.ศ.112” หรือความขัดแย้งระหว่างราชอาณาจักรสยามกับฝรั่งเศส จากการอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ซึ่งเกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และนำไปสู่การที่ไทยต้องจำยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส เป็นการยอมเสียประโยชน์ส่วนน้อยเพื่อรักษาอธิปไตยของชาติ และเป็นที่มาของการปรับปรุงทั้งองค์วัตถุและบุคลากรด้านการทหารครั้งใหญ่ เพื่อให้ประเทศเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมกับอารยประเทศ โดยคณะฯ ได้ร่วมกันรำลึกถึงวีรกรรมของในหลวงรัชกาลที่ 5 และเหล่าบรรพชนไทย ที่ได้นำพาชาติไทยให้พ้นภัยจากลัทธิอาณานิคม พร้อมรับฟังการบรรยายจากวิทยากร และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ จังหวัดจันทบุรี (ค่ายตากสิน)

นอกจากนี้ ในโครงการฯ ยังมีกิจกรรม Workshop และการบรรยาย โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ อาทิ “9 ตามรอยนวัตกรรมของพ่อ ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับสากล” ที่เป็นการถอดบทเรียนนวัตกรรมศาสตร์พระราชาในประเด็น “ศาสตร์พระราชากับนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด” พร้อมสอดแทรกคุณธรรม 5 ประการ คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญู และ “The King’s Journey Learn English an Example of an Invention” โดยอาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย พร้อมทั้งการบรรยายเรื่อง “คุณธรรมในยุคดิจิทัล” โดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม และ “ถอดรหัสพระอัจฉริยะภาพในหลวงรัชกาลที่ 9” โดย ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามนโยบาย UNSDG ภายในปี 2030

ทั้งนี้ ทางโครงการฯ ยังได้จัดกิจกรรมจิตอาสาและการกุศล มอบหนังสือจากโครงการ “อ่านพลิกชีวิต”
ของอมรินทร์กรุ๊ป พร้อมด้วยกิจกรรมมอบทุนและอุปกรณ์ทางการศึกษาจากมูลนิธิธรรมดี ให้กับน้อง ๆ นักเรียนโรงเรียนวัดแสลง และมอบชุดหนังสือแสงแห่งปัญญาให้กับวัดแสลง จังหวัดจันทบุรีอีกด้วย

สำหรับโครงการ ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ในครั้งต่อไป ขอเชิญชวนครูอาจารย์และผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม ณ โรงสีข้าวพระราชทานอ่าวน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ 22-23 มิถุนายน พ.ศ. 2567 โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านจะได้รับประกาศนียบัตรจากทางโครงการฯ ซึ่งได้รับการรับรองจากสถาบันคุรุพัฒนา สามารถนำไปใช้เป็นหนึ่งในกิจกรรมการพัฒนาตนเอง เพื่อต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาจากคุรุสภาได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ คุณจารุกัญญ์ โทรศัพท์ 099 397 5333 FB: ตามรอยพระราชา-The King’s Journey LINE: The King’s Journey

Skip to content