ตั้งคณะทํางานว่าด้วยสุขภาพผู้โยกย้ายถิ่นฐาน หรือ MHWG เสริมระบบสุขภาพแรงงานข้ามชาติในไทย สสส. ร่วมสานพลัง เดินหน้าสิทธิ-สวัสดิการที่เป็นธรรม พัฒนาอาสาข้ามชาติ 2,000 คน สื่อสารสุขลดอคติ ส่งเสริมการอยู่ร่วมกัน ที่ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน ประเทศไทย (International Organization for Migration: IOM) เปิดตัวคณะทำงานว่าด้วยสุขภาพผู้โยกย้ายถิ่นฐาน (Migration Health Sub-Working Group — MHWG) โดยได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคประชาสังคมต่าง ๆ ได้มีการเปิดตัวคณะทำงาน MHWG อย่างเป็นทางการ โดยมีผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ สวรส. สสส. IOM ร่วมพิธีเปิดตัวคณะทำงาน
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมในการดูแลทุกคนบนแผ่นดินไทย เห็นได้จากช่วงวิกฤตโควิด 19 นอกเหนือจากคนไทยที่ได้รับการดูแลแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการตรวจคัดกรอง การรักษาพยาบาล หรือการฉีดวัคซีนป้องกัน ประชากรข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทยก็ได้รับวัคซีนด้วย ซึ่งจาก 140 ล้านโดสที่ฉีดไป มีถึง 5 ล้านโดสเป็นจำนวนที่ฉีดให้กับประชากรข้ามชาติในประเทศไทย นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยังมีการให้บริการพื้นฐานด้านสุขภาพกับประชากรข้ามชาติ เช่น วัคซีนสำหรับเด็กเล็ก หรือวัคซีนบางตัวสำหรับผู้ใหญ่ที่ควรได้รับทั้งคนไทยและประชากรข้ามชาติ เพื่อการป้องกันโรค สร้างภูมิคุ้มกัน และลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค, การเข้าถึงบริการคัดกรองโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ , ระบบหลักประกันสุขภาพ สำหรับผู้ที่ขึ้นทะเบียนแรงงานเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมาย “ปัจจุบันมีการขยายบริการที่ครอบคลุมมากขึ้นเพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพ และมีสุขภาพที่ดี เมื่อเจ็บป่วยได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและเหมาะสม จึงเชื่อว่าการเปิดตัวคณะทำงาน MHWG จะช่วยสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือ ทั้งในเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร วิธีการทำงาน รวมทั้งมาตรการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ประชากรข้ามชาติ ทั้งที่มีและไม่มีเอกสารแสดงตัวตนตลอดจนแสดงให้เห็นถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชากรข้ามชาติได้อีกทางหนึ่ง” นพ.โสภณ กล่าว
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า หากมองด้วยความเป็นธรรม ประชากรข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในไทย เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างปฏิเสธไม่ได้ ดังนั้นระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ จึงจำเป็นต้องครอบคลุมถึงกลุ่มประชากรข้ามชาติที่เป็นแรงงานสำคัญด้วย ซึ่งเป็นไปตามหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ต้องดูแลทุกคนบนแผ่นดินไทย โดย สวรส. เป็นเครือข่ายในการขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพของประชากรข้ามชาติมาโดยตลอด ด้วยการเป็นแกนหลักในการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและองค์การอนามัยโลก ค.ศ. 2022-2026 (WHO-RTG Country Cooperation Strategy : CCS) ซึ่งเป็นอีกโมเดลตัวอย่างของการทำงานร่วมกันในเรื่อง Migrant Health
นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อ โดยคณะทำงาน MHWG จะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ทุกฝ่ายนำศักยภาพของแต่ละหน่วยงานมาช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพของประชากรข้ามชาติ ซึ่งวันนี้ประเทศไทยได้รับการยอมรับในระดับสากลแล้ว โดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) รับรองว่า คณะกรรมการ MHWG เป็นกลไกที่จะช่วยพัฒนาสุขภาพคนพลัดถิ่นได้เป็นอย่างดี ซึ่งหลังจากนี้ คณะทำงาน MHWG จะเป็นตัวกลางในการเสนอแนวทางให้กับรัฐบาลว่าประเทศไทยควรดำเนินการอะไรเพิ่มเติม เพื่อให้การดูแลผู้โยกย้ายถิ่นฐานมีทั้งความเป็นมิตร เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สสส. พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของคณะทำงานว่าด้วยสุขภาพผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งที่ผ่านมา สสส. ได้สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้เข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ตามที่ควรจะได้รับ โดยมีแนวทางการทำงานสำคัญที่ดำเนินงานร่วมกับภาคประชาสังคมมากกว่า 40 องค์กร 1.มุ่งลดอุปสรรค หรือปัญหาการเข้าถึงสิทธิแรงงาน โดยเฉพาะสิทธิตามระบบหลักประกันสุขภาพ และประกันสังคม 2.พัฒนาศักยภาพแกนนำพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ให้มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ และสิทธิต่าง ๆ 2,000 คน สามารถสื่อสารข้อมูลสุขภาพไปยังชุมชน สถานประกอบการ แคมป์ก่อสร้าง ช่วยกระจายข้อมูล องค์ความรู้ที่ถูกต้องไปยังกลุ่มแรงงานได้อย่างกว้างขวาง “ขณะนี้สังคมยังมีทัศนคติ ความเข้าใจต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติในทางลบ จากการสำรวจความคิดเห็นคนไทยต่อกลุ่มประชากรข้ามชาติ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างเดือน ก.พ. ปี 2566 – ก.พ. ปี 2567 มองว่ากลุ่มแรงงานข้ามชาติทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากร 22.9% ควรมีการจัดโซนนิ่งแยกกันอยู่กับคนไทย 62.2% ไม่สบายใจหากคนในครอบครัวคบหากับประชากรข้ามชาติ 48.9% ดังนั้นเพื่อลดอคติ และสร้างความเข้าใจการอยู่ร่วมกัน สสส. เตรียมพัฒนาแพลตฟอร์มการสื่อสาร สร้างความเข้าใจ ส่งเสริมการอยู่ร่วมกัน และมุ่งสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติ” ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว
Géraldine Ansart หัวหน้าสำนักงาน องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) สำนักงานประเทศไทย และผู้แทนคณะทำงานว่าด้วยสุขภาพผู้โยกย้ายถิ่นฐาน (MHWG) กล่าวว่า หมุดหมายสำคัญของคณะทำงาน MHWG ในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสุขภาพเพื่อผู้โยกย้ายถิ่นฐาน คือการมุ่งไปสู่เป้าหมายแห่งการบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของผู้โยกย้ายถิ่นฐาน โดยคณะทำงาน MHWG มุ่งเน้น 3 เรื่องหลักๆ คือ 1. การสนับสนุนการพัฒนาและส่งเสริมนโยบายที่เปิดกว้างและมีส่วนร่วมสำหรับผู้โยกย้ายถิ่นฐาน 2. การยกระดับการเข้าถึงบริการสุขภาพประกันสุขภาพ และระบบสุขภาพของผู้โยกย้ายถิ่นฐาน 3. การสร้างเสริมบทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ (อสต.) ในระบบบริการสุขภาพ ซึ่งก่อนที่จะมาเป็นคณะทำงาน MHWG ได้มีการรวมกันเป็นกลุ่มย่อย ภายใต้ UNNM ว่าด้วยการเข้าถึงวัคซีนโควิด 19 สำหรับผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ทั้งนี้จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้เห็นบทเรียนแล้วว่า ไม่มีใครปลอดภัย ถ้าทุกคนไม่ปลอดภัย
More Stories
“วราวุธ” เผย ศรส.พิษณุโลก ช่วยเด็กหญิง 12 ปี ถูกแม่แท้ๆ พาไปขายบริการ หาเงินขัดหนี้รายวัน
คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม ลงพื้นที่ศึกษาดูงานโครงการเคหะชุมชนคลองจั่น
“ประเสริฐ” สั่งการ สคส. ตรวจสอบข่าว ห้างดังถูกแฮกข้อมูลส่วนบุคคล 5 ล้านราย