26 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

“วราวุธ” ขับเคลื่อน พม. รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ยอมรับ กังวลส่งผลกระทบต่อสังคมไทย-กลุ่มเปราะบาง

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กทม. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการประชุมสัมมนาเชิงวิชาการ “สภาวะความเปราะบางของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมในงาน และมี Mr. Fabrizio Zarcone ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย เป็นผู้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของงานวิจัย และทีมนักวิจัยธนาคารโลก (World Bank) นำเสนอผลงานวิจัย

นายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับธนาคารโลก (World Bank) จัดการประชุมสัมมนาวิชาการ เรื่อง “สภาวะความเปราะบางของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” นับว่าเป็นการเน้นย้ำถึงความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน เพื่อการกระตุ้นให้มีความตระหนักถึงความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มเปราะบาง ซึ่งทีมวิจัยธนาคารโลกได้นำเสนอผลการวิจัย เพื่อนำเสนอข้อค้นพบจากงานวิจัยและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประเมินความเสี่ยงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อแนวทางในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกลุ่มเปราะบาง ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปี 2564 ประเทศไทยได้ถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดอันดับ 9 ของโลก ที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และเป็นที่น่ากังวลว่า กลุ่มเปราะบางคือกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงมากกว่าประชาชนกลุ่มอื่น ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายต่ออาชีพและรายได้ การทำเกษตร ที่อยู่อาศัย และการใช้ชีวิตจากการถูกกัดเซาะชายฝั่งและน้ำท่วมซ้ำซาก

นายวราวุธ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวง พม. ซึ่งมีภารกิจหลักในการสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมที่ทุกคนมีโอกาสได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างเท่าเทียมกัน มีความมั่นคงในชีวิต และมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามความจำเป็นขั้นพื้นฐานบนสิทธิพลเมืองและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยบทบาทของกระทรวง พม. คือ การดูแลคนทุกช่วงวัยโดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง อาทิ เด็ก เยาวชน สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ หรือแม้กระทั่งกลุ่มชาติพันธ์ และกลุ่มคนไร้บ้าน และปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งมีอัตราการเกิดที่ต่ำมาก คุณภาพเด็กที่มีอยู่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาและยกระดับ ดังนั้นเราต้องคิดว่าจะทำอย่างไร ประชาชนไทย โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบางที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะสามารถปรับตัว และอยู่รอดปลอดภัยได้ โดยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และทำอย่างไรที่จะทำให้ยังคงเป็นพลังที่สำคัญในการพัฒนาประเทศท่ามกลางวิกฤต และความท้าทายต่างๆ ได้

นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับผลงานวิจัยที่นำเสนอในวันนี้ เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ทางธนาคารโลกได้ทำการศึกษาและจัดทำ Country Climate and Development Report หรือ CCDR สำหรับประเทศไทย โดยได้มีการจัดทำรายงานมิติทางสังคมกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Social Dimensions of Climate Change (SDCC) ที่ได้มีการศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสังคมไทย โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง ที่กระทรวง พม. ดูแลรับผิดชอบอยู่ ทำให้สะท้อนภาพที่ชัดเจนถึงความจำเป็นในการพัฒนายุทธศาสตร์การปรับตัว และการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในมิติทางสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งการจัดทำแผนที่ความเสี่ยงตามมาตรฐานของ Intergovernmental of Climate Change หรือ IPCC เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการวางแผนการดำเนินงาน การจัดสรรงบประมาณ และการบริหารบุคคล ซึ่งจะนำไปสู่การดำเนินงานแบบพุ่งเป้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับแผนที่ความเสี่ยงที่นำมาทับซ้อนกับข้อมูลกลุ่มเปราะบาง และการคาดประมาณประชากรนั้น นับเป็นข้อมูลที่สำคัญยิ่งต่อการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการที่กระทรวง พม. จำเป็นต้องดำเนินการ นอกจากนี้ ยังจะเป็นส่วนสำคัญช่วยในการวางแผน การตัดสินใจ และการปฏิบัติการของผู้รับผิดชอบในพื้นที่ในการจัดการกับภัยพิบัติอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในด้านการป้องกัน การบริหารจัดการ เมื่อเกิดภัยพิบัติ และการฟื้นฟูหลังจากเกิดภัยพิบัติได้อย่างเป็นระบบ และเป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียและผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชากรกลุ่มเปราะบาง ครอบครัว และชุมชน ตลอดจนงบประมาณ และกำลังคนของภาครัฐ

นายวราวุธ กล่าวว่า ผลการศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นชัดว่ากระทรวง พม. จำเป็นที่ต้องเร่งจัดการเชิงรุกกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อประชากร โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเปราะบาง ถือว่าเป็นความท้าทายทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ แต่เราจะต้องทำให้มั่นใจได้ว่าไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ทั้งนี้ เราควรจะต้องมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ดังนี้ 1) ความสำคัญและความจำเป็นของการมีข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้อง และทันสมัย เพื่อใช้ในการวางแผนการจัดสรรทรัพยากรตามระดับความสำคัญของสถานการณ์และพื้นที่ ดังนั้น กระทรวง พม. จะพิจารณายกระดับการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีความถูกต้อง แม่นยำ และมีรายละเอียดที่เพียงพอ และจะบูรณาการข้อมูลของทุกหน่วยงานให้อยู่ในระบบ Big Data ของกระทรวง รวมทั้งเชื่อมประสานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายนอกกระทรวง พม. ต่อไป

2) การใช้เครื่องมือและนวัตกรรมที่มีมาตราฐานสากล โดยเฉพาะการจัดทำแผนที่ความเสี่ยงตามมาตรฐาน IPCC ซึ่งกระทรวง พม. จะพิจารณาปรับใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง มาใช้ในการกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ ให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของการชี้เป้ากลุ่มประชากรที่จะได้รับความเสี่ยงอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้การจัดสรรบุคลากร และงบประมาณ เป็นไปอย่างตรงเป้าหมาย

3) การเสริมสร้างความรู้ (Awareness raising and capacity building) ของบุคลากร พม. และภาคีเครือข่ายในเรื่องการดูแลประชาชนให้มีความตระหนัก และพร้อมที่จะรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่บุคลากร พม. จะต้องเข้าใจเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อมูล การทำแผน และการลงปฏิบัติงานในพื้นที่

4) การประสานการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้สอดคล้องกับความจำเป็นของกลุ่มคนเปราะบางในพื้นที่เสี่ยง เช่น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)  กรมการปรับเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย สภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นต้น

และ 5) การให้คนและชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา และมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนงานเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นในการปรับตัวต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ กระทรวง พม. ได้เริ่มการทำงานในลักษณะนี้กับนิคมสร้างตนเองในหลายพื้นที่ของกระทรวง พม. โดยจะดำเนินการศึกษาในรายละเอียดของผลการศึกษานี้ และจะได้ดำเนินการปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิดกับธนาคารโลก ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องเครื่องมือ นวัตกรรม การเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และศักยภาพของบุคลากร พม. รวมถึงเครือข่ายที่ร่วมดำเนินงาน และที่สำคัญคือ การจัดทำแผนการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในมิติทางสังคมต่อไป

#ช่วย24ชั่วโมง #ข่าวพม #esshelpme #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #ศรส #พม#Climatechange #กลุ่มเปราะบาง

Skip to content