ไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำถูกระบุชัดเจนขึ้นในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของไทยใน PDP ฉบับใหม่ปี 2024 โดยจะเข้ามาทดแทนปริมาณก๊าซธรรมชาติราว 5% ของปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในโรงไฟฟ้าในช่วงปี 2030-2037 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายของ กฟผ. ที่จะทดแทนสูงสุด 75% ภายในปี 2050 เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้ภาคการผลิตไฟฟ้าบรรลุตามเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มเสถียรภาพทางพลังงานในประเทศ
ปัจจุบันไฟฟ้าพลังงานสะอาดในไทยได้กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งจากความต้องการไฟฟ้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นท่ามกลางเป้าหมายที่จะบรรลุการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย ทั้งจากความต้องการไฟฟ้าที่เร่งตัวมากขึ้นตามยุทธศาสตร์ของประเทศ อาทิ รถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และกลุ่มธุรกิจใหม่ที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต อย่าง AI Data center ที่ต้องใช้ไฟฟ้ามากขึ้นราว 3 เท่าตัวจาก Data center ปกติ ที่สำคัญยังต้องการใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดด้วย เนื่องจากเจ้าของหรือผู้ใช้งาน AI Data center เป็นองค์กรที่ต้องการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net zero emission ซึ่งนับเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ภาครัฐเริ่มตื่นตัวในการเตรียมไฟฟ้าพลังงานสะอาดเพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมแห่งอนาคตให้เข้ามาลงทุน ขณะเดียวกัน ยังมีความต้องการไฟฟ้าที่มากขึ้น
ในภาคประชาชนเอง จากการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของไทยที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องและส่งผลให้ใช้ไฟฟ้ามากขึ้น รวมถึงการใช้ไฟฟ้าที่สูงทะลุสถิติใหม่ในแต่ละปี ที่ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยเรื่องสภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้มีการใช้ไฟฟ้าโดยรวมมากขึ้นเช่นกัน
จากความต้องการไฟฟ้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นท่ามกลางเป้าหมายที่จะบรรลุ Carbon neutrality และ Net zero ของประเทศ ทำให้แหล่งไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเป็นตัวช่วยสำคัญต่อแผนการผลิตไฟฟ้า หากพิจารณาจากร่างแผนกำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) ของไทย จะพบว่า ภาครัฐได้ตระหนักและเตรียมรับมือในเรื่องนี้แล้วจาก PDP ฉบับใหม่ปี 2024 ที่คาดว่า จะประกาศในช่วงปลายปี 2024 จะมีไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำเข้ามาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของแหล่งพลังงานใหม่ ที่จะมาทดแทนก๊าซธรรมชาติในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมหรือโคเจนเนอเรชั่น นอกเหนือจาก Solar PV, Solar + Battery และ Wind ที่เพิ่มขึ้นเป็นส่วนใหญ่ (คาดว่า PDP 2024 จะมีสัดส่วนของไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนราว 51%)
แผน PDP ฉบับใหม่ (2024) และแผนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. จะหนุนให้มูลค่าไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 8 หมื่นล้านบาทในปี 2050
กระทรวงพลังงานมีแผนนำไฮโดรเจนมาใช้ผลิตไฟฟ้าจากเดิมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานหลัก โดย PDP 2024 มีเป้าหมายชัดเจนว่าจะนำไฮโดรเจนมาผสมกับก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลงในการผลิตไฟฟ้า โดยเบื้องต้น SCB EIC ประเมินว่า ในช่วงปี 2030-2037 จะมีการใช้ไฮโดรเจนในโรงไฟฟ้า IPP SPP และ กฟผ. เริ่มตั้งแต่ 5% หรือราว 141-151 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็นมูลค่ารวมราว 10,000-12,000 ล้านบาท ณ ระดับราคาไฮโดรเจนสีเขียวราว 2.5-2.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ จากการประเมินตามเป้าหมายของ กฟผ. ที่จะทยอยเพิ่มไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติไปจนถึง 75% หรือราว 2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2050 พบว่า มูลค่าไฮโดรเจนจะอยู่ที่ราว 80,000 ล้านบาท ณ ระดับราคาไฮโดรเจนสีเขียวที่จะลดลงเหลือราว 1.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม
คุณสมบัติเด่นของไฮโดรเจนที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ จะช่วยให้การผลิตไฟฟ้าเข้าสู่เป้าหมาย Carbon neutrality ในปี 2050
ไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำถูกระบุให้เป็นแหล่งพลังงานใหม่ในการผลิตไฟฟ้าของไทย เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงสะอาด ที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำกว่าก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในไทย (Pool gas) ราว 3 เท่า ซึ่งหากมีการใช้ไฮโดรเจนสีเขียวเป็นเชื้อเพลิงสูงสุด 75% ของปริมาณก๊าซที่ต้องใช้ในโรงไฟฟ้าในปี 2050 จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ไม่น้อยกว่า 42% จากปี 2023 ซึ่งจะช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมาย Carbon neutrality ในปี 2050 ได้
SCB EIC ประเมินว่า ในกรณีที่แย่ที่สุด การใช้ไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำในการผลิตไฟฟ้า จะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและค่าไฟฟ้าต่อหน่วยในปี 2040 สูงขึ้น 28% และ 5% ตามลำดับ
โรงไฟฟ้าจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนการผสมและราคาในแต่ละปี ตัวอย่างเช่น SCB EIC พบว่า การผสมไฮโดรเจนสีเขียว[1] 5% ในปี 2030-2037 จะส่งผลต่อต้นทุนของโรงไฟฟ้าสูงขึ้นราว 9% และค่าไฟฟ้าต่อหน่วยสูงขึ้น 1.6-1.7% ในขณะที่การผสมไฮโดรเจนสีเขียว 20% ในปี 2040 จะทำให้ต้นทุนของโรงไฟฟ้าสูงขึ้นราว 28% และค่าไฟฟ้าต่อหน่วยเพิ่มขึ้น 5.4% ส่วนการผสมไฮโดรเจนสีเขียว 25% ในปี 2050 จะทำให้ต้นทุนของโรงไฟฟ้าสูงขึ้นราว 7% และค่าไฟฟ้าต่อหน่วยเพิ่มขึ้น 1.6% โดยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากราคาไฮโดรเจนที่สูงกว่าก๊าซธรรมชาติ และการสมมุติให้โรงไฟฟ้าไม่มีนโยบายเรื่องการลดคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรม
การผลักดันไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำให้เป็นเชื้อเพลิงหลักได้อย่างยั่งยืน จะต้องมีการ 1) ลดต้นทุนการผลิต 2) ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ที่ผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถผลิตไฮโดรเจนสีเขียวได้เอง โดยอาศัยโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้า และ 3) ผลักดันตลาดคาร์บอนเครดิต และระบบซื้อ-ขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ต้นทุนไฮโดรเจนมีผลต่อการพิจารณาใช้สูงที่สุด โดยจากการประเมินต้นทุนที่จะทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าและค่าไฟฟ้าไม่ได้รับผลกระทบในระยะยาว ไฮโดรเจนสีเขียวในไทยควรจะมีราคาเฉลี่ยราว 8-9 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู (MMBTU) (0.9-1 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม) โดยภาครัฐร่วมกับภาคเอกชนสามารถช่วยกันพัฒนาทั้งการลดต้นทุนผ่านโมเดลการผลิตรูปแบบใหม่ที่ทำให้ต้นทุนและค่าไฟฟ้าลดลง หรือภาครัฐควรมีนโยบายสนับสนุนกลไกการใช้คาร์บอนเครดิตและระบบการซื้อ-ขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคบังคับ (Emission trading scheme, ETS)
[1] ไฮโดรเจนสีเขียว (กรีนไฮโดรเจน) เป็นกระบวนการผลิตไฮโดรเจนโดยอิเล็กโทรลิซิส (Electrolysis) คือการแยกน้ำ (H20) ด้วยกระแสไฟฟ้าซึ่งจะได้ไฮโดรเจน (H2) และออกซิเจน (O2) โดยไฟฟ้าที่ใช้ในอิเล็กโทรไลเซอร์จำเป็นต้องมาจากพลังงานสะอาด เช่น ลมและโซลาร์เท่านั้นจึงจะนับเป็นกรีนไฮโดรเจนที่ไม่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตไฮโดรเจน (ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับไฮโดรเจน อ่านได้จากบทความ SCB EIC Future perspective : กรีนไฮโดรเจน (Green Hydrogen) กุญแจสำคัญของหนทางสู่ Net zero)
โดยสรุป การใช้ไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำตามแผนพลังงานและ PDP ฉบับใหม่ (2024) และเป้าหมาย ของ กฟผ. โดยเฉพาะหากใช้ไฮโดรเจนสีเขียวในภาคการผลิตไฟฟ้าในสัดส่วน (10%-75%) ภายในปี 2050 จะเป็นประโยชน์ต่อการบรรลุเป้าหมาย Carbon neutrality ในปี 2050 จากการช่วยลดการปล่อยคาร์บอนฯ ของการผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 42% จากปัจจุบัน แต่ยังคงต้องติดตามประเด็นการเพิ่มขึ้นของต้นทุน ในฝั่งผู้ผลิตไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของประชาชน ที่ภาครัฐและเอกชนสามารถร่วมกันพัฒนาโมเดลการผลิตไฟฟ้ารูปแบบใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องต้นทุนและเพิ่มรายได้ของโรงไฟฟ้าจากสิทธิประโยชน์ จากการลดคาร์บอน ขณะเดียวกันก็ไม่กระทบค่าไฟฟ้าด้วย
บทวิเคราะห์โดย… https://www.scbeic.com/th/detail/product/pdp-2024-280624
ผู้เขียนบทวิเคราะห์
จิรวุฒิ อิ่มรัตน์ (jirawut.imrat@scb.co.th)
นักวิเคราะห์อาวุโส
More Stories
จับตาเลือกตั้งใหญ่ระดับโลกทำตลาดผันผวน เตรียมจัดพอร์ตลงทุนอย่างไรดี
เศรษฐกิจไทยปีหน้าลุ้นเหนื่อยโตต่ำ การบริโภคและลงทุนเอกชนซบเซา การเมืองดึงนโยบายไม่แน่นอน
SCB WEALTH มองหากทรัมป์ชนะเลือกตั้งกลุ่ม AI รับแรงสนับสนุนต่อพร้อมแข่งกับจีน