เตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลง มุ่งสู่อนาคตสิ่งแวดล้อมไทยที่ยั่งยืน
วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 ณ โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ โฮเต็ล ประตูน้ำ กรุงเทพฯ – สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อม (TEI) จัดการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2567 และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
นายจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการจัดทำรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ดำเนินงานตามที่พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 กำหนดให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาตินำเสนอรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำคัญให้คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจกำหนดนโยบาย แผน และมาตรการในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สผ. ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จัดทำรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2567 โดยติดตามสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรายสาขา จำนวน 11 สาขา ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนข้อมูล ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ร่างรายงานคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2567 ได้นำเสนอข้อมูลด้านปัจจัยขับเคลื่อน (Drivers) ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งปัจจัยที่มาจากภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว รวมทั้งภาวะทางสังคมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค เงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศ และนโยบายของประเทศ ทำให้เกิดปัจจัยกดดัน (Pressure) ที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงคุณภาพสิ่งแวดล้อม (State) ทั้งทางบวกและทางลบ นำไปสู่ผลกระทบ (Impact) ต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การแก้ไขปัญหา (Response) ที่เกิดจากการดำเนินงานของภาคส่วนต่าง ๆ ส่วนท้ายของร่างรายงานฯ ได้นำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มเกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะสั้น ทั้งการขยายตัวการใช้ดินของพื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้างจากการขยายตัวของเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน การใช้พลังงานทดแทนจากเซลล์แสงอาทิตย์มากขึ้นจากนโยบายส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ การสะสมฝุ่นละอองขนาดเล็กจากการเผาไหม้ในพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่เกษตร การเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำท่าที่คาดการณ์ได้ยากขึ้น ปะการังและหญ้าทะเลมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียมากขึ้นซึ่งจะส่งผลต่อสมดุลของระบบนิเวศ และปริมาณขยะในแหล่งท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการจัดการขยะในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม
ขณะที่ประเด็นสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงในระยะยาว มาจากการขยายตัวของเมืองที่ทำให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่ทางธรรมชาติถูกเปลี่ยนสภาพหรือถูกแบ่งเป็นพื้นที่เล็ก ๆ ประชากรหนาแน่นซึ่งมีผลต่อการใช้น้ำ พลังงาน การเกิดขยะและของเสีย สิ่งก่อสร้างกีดขวางทางระบายน้ำ เกิดน้ำท่วมขัง และเกิดเกาะความร้อนในเมือง (Urban heat) การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวที่เกินศักยภาพของพื้นที่ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ การจัดการขยะที่ไม่เหมาะสม รวมถึงมลพิษที่เกิดจากขยะและของเสีย การเติบโตของปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีผลต่อการใช้พลังงานและการเกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการจัดการไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม AI ได้ถูกนำมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่ส่งผลต่อรูปแบบการใช้ทรัพยากร การบริโภค และการเดินทาง ทำให้ต้องปรับกลยุทธ์การวางผังเมืองรองรับประชากรสูงอายุ และเงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศซึ่งมีการออกข้อบังคับและมาตรการต่าง ๆ เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ มีผลต่อทิศทางการดำเนินงานและประสิทธิภาพในภาคการผลิต
นอกจากนี้ กิจกรรมการสัมมนาฯ ในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต รศ.ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล นางสาวสุกัญญา ใจชื่น กรรมการเศรษฐกิจหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ ดร.ธงชัย โรจนกนันท์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผังเมือง ร่วมเสวนาเพื่อมองอนาคตสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย ผ่านปัจจัยขับเคลื่อนต่าง ๆ ทั้งด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สังคมผู้สูงอายุ เงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศ และการขยายตัวของเมือง เพื่อนำไปสู่การเตรียมความพร้อมของประเทศในอนาคต
การจัดสัมมนาฯ ในวันนี้จึงได้เปิดโอกาสให้แต่ละภาคส่วน จากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน และสถาบันการศึกษา จำนวนมากกว่า 150 คน เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ให้คำแนะนำต่อการนำเสนอข้อมูลและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่ปรากฏในร่างรายงานฯ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงร่างรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2567 ให้มีความถูกต้อง ครบถ้วน และสมบูรณ์มากขึ้น ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี ตามลำดับต่อไป
More Stories
รฟฟ.บีแอลซีพี ร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำกว่า 1.6 ล้านตัว ต่อเนื่องเป็นปีที่ 22 สานต่อ ESG หนุน SDGs
OR ตอกย้ำแนวคิดสังคมสะอาด มอบรางวัลโครงการ “แยก แลก ยิ้ม School Camp ประจำปี 2567”
เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์ ร่วมบรรยายในงานประชุม The 58th