ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า จากการแถลงข่าวร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และ กองทุนประกันวินาศภัย เรื่องการดำเนินการด้านการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย กรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) นับตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นมา ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบกับผู้ที่ทำประกันภัยที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่นั้น สมาคมประกันวินาศภัยไทย จึงได้ประสานความร่วมมือกับบริษัทสมาชิกของสมาคมฯ เข้าร่วมใน “โครงการบรรเทาผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัยที่มีสัญญาประกันภัยกับบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน)” เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยให้ได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัยอย่างต่อเนื่อง และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจประกันวินาศภัยอีกทางหนึ่งด้วย
การดำเนินการเพื่อช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัย กรณีเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกดำเนินการได้ 2 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 ผู้เอาประกันภัยติดต่อซื้อประกันภัยกับบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการ (กรมธรรม์ประกันภัยของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) สิ้นสุด ณ วันที่ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยใหม่)
ผู้เอาประกันภัยสามารถนำค่าเบี้ยประกันภัยที่มีสิทธิได้รับคืนตามระยะเวลาที่เหลืออยู่มาใช้แทนเงินสดในการซื้อกรมธรรม์ประกันภัยใหม่ กับบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย ซึ่งจะช่วยให้ผู้เอาประกันภัยจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเพียงบางส่วน ตามระยะเวลาความคุ้มครองที่เพิ่มเติมขึ้นมา โดยบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการจะทำหน้าที่รับภาระในการไปเรียกร้องค่าเบี้ยประกันภัยคืนจากกองทุนประกันวินาศภัยเอง
ทั้งนี้ ผู้เอาประกันภัยที่มีกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ และกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่น ๆ ที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ สามารถดำเนินการติดต่อทำประกันภัยฉบับใหม่ ได้ที่บริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการ ดังนี้
- ผู้เอาประกันภัยติดต่อขอซื้อกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่ กับบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยวันเริ่มต้นความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่ ให้ถือว่าเป็นวันสิ้นสุดของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดิม (ระยะเวลาความคุ้มครอง 1ปี)
- บริษัทประกันวินาศภัยจะคำนวณเบี้ยประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่ที่มีระยะเวลาความคุ้มครอง 1 ปี และจะคำนวณเบี้ยประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดิมในส่วนที่มีสิทธิได้รับคืนตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ (เบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดิมที่นำมาคำนวณเป็นเบี้ยประกันภัยสุทธิ ไม่รวมภาษีและอากร)
- ผู้เอาประกันภัย โอนสิทธิเรียกร้องค่าเบี้ยประกันภัยที่มีสิทธิได้รับคืนจากกองทุนประกันวินาศภัย (ตามระยะเวลาที่เหลืออยู่) ให้บริษัทประกันวินาศภัยที่รับประกันภัยใหม่
- บริษัทประกันวินาศภัยเรียกเก็บค่าเบี้ยประกันภัยจากผู้เอาประกันภัย หักด้วยเบี้ยประกันภัยที่มีสิทธิได้รับคืน
- บริษัทประกันวินาศภัยรับภาระการไปเรียกเงินค่าเบี้ยประกันภัยคืนจาก กองทุนประกันวินาศภัย แทนผู้เอาประกันภัยฃ
กรณีที่ 2 ผู้เอาประกันภัยขอคืนเบี้ยประกันภัยตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ได้ที่ กองทุนประกันวินาศภัย
ในกรณีที่ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัท สินมั่นคงประกันภัยฯ ไม่ประสงค์จะซื้อกรมธรรม์ประกันภัยใด ๆ ผู้เอาประกันภัยสามารถติดต่อไปที่ “กองทุนประกันวินาศภัย” เพื่อยื่นขอรับชำระหนี้ได้ ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2567 ถึง วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ตามช่องทางที่กองทุนประกันวินาศภัยประกาศกำหนด โดยกองทุนประกันวินาศภัยจะคืนเบี้ยประกันภัยให้ตามส่วนระยะเวลาความคุ้มครองที่เหลืออยู่ (เบี้ยเฉลี่ยรายวัน ตามความคุ้มครองที่เหลืออยู่) กองทุนประกันวินาศภัย จะดำเนินการส่งหนังสือทางไปรษณีย์ลงทะเบียนแจ้งบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยทุกฉบับไปยังผู้เอาประกันภัย โดยกรมธรรม์ประกันภัยทุกฉบับจะสิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 8 กันยายน 2567 สำหรับ บริษัทประกันวินาศภัย ที่เข้าร่วมโครงการบรรเทาผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัยของ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีจำนวนทั้งสิ้น 9 บริษัท ดังนี้
- บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน)
- บริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน)
- บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน)
- บริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด (มหาชน)
- บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน)
- บริษัท เออร์โกประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
ในส่วนของแนวทางปฏิบัติการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน กรณีการประกันภัยรถยนต์ หากรถยนต์เกิดอุบัติเหตุนับตั้งแต่วันที่บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ถูกเพิกถอนใบอนุญาตฯ สมาคมฯ ได้มีหนังสือแจ้งขอความร่วมมือไปยังบริษัทประกันวินาศภัยทุกบริษัทให้ถือปฏิบัติโดยไม่นำเรื่องสัญญาสละสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนระหว่างบริษัทประกันภัยมาใช้บังคับ เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบของผู้เอาประกันภัยหรือคู่กรณีกรณีเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ โดยขอความร่วมมือบริษัทประกันวินาศภัยดำเนินการจัดการค่าสินไหมทดแทน ดังนี้
กรณีที่ 1 กรณีที่รถของผู้เอาประกันภัยกับ บมจ.สินมั่นคงประกันภัย เป็นฝ่ายผิด
ให้บริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยรถฝ่ายถูก ดำเนินการจัดซ่อมหรือชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยของบริษัทตนเอง (ซึ่งเป็นคู่กรณีของบมจ.สินมั่นคงประกันภัย) ถือเสมือนไม่มีสัญญาสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกัน (Knock for Knock Agreement) และสามารถรับช่วงสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนคืนได้จากผู้ชำระบัญชีหรือกองทุนประกันวินาศภัยโดยตรง ในส่วนของรถยนต์ของผู้เอาประกันภัยของ บมจ.สินมั่นคงประกันภัย ที่เป็นฝ่ายผิด ให้ไปยื่นขอรับชำระหนี้จากกองทุนประกันวินาศภัย
กรณีที่ 2 กรณีที่รถของผู้เอาประกันภัยกับ บมจ.สินมั่นคงประกันภัย เป็นฝ่ายถูก
ให้บริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยรถยนต์ฝ่ายผิด ดำเนินการจัดซ่อมหรือชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่เป็นฝ่ายถูก เสมือนไม่มีสัญญาสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกัน
“สมาคมประกันวินาศภัยไทย และบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนและผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มความสามารถ เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น และขอย้ำว่าการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงิน หรือสภาพคล่องของบริษัทประกันวินาศภัยอื่น ๆ หรือธุรกิจประกันภัยในภาพรวมอย่างแน่นอน” นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวปิดท้าย
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สำนักงาน คปภ. 1186 หรือ สมาคมประกันวินาศภัยไทย โทร. 0 2108 8399
More Stories
ทิพยประกันภัย ชวนถอดรหัสความสำเร็จ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำครบวงจรแห่งแรกของไทย พลิกฟื้นปากพนัง สู่อู่ข้าวอู่น้ำเมืองคอน
กรุงไทย–แอกซ่า ประกันชีวิต คว้ารางวัล “ขวัญใจมหาชน” ในโครงการ “ตลาดทุนไทย ร่วมส่งพลังความรู้ สู่ประชาชน เฟสที่ 2”
กรุงเทพประกันชีวิต ส่งต่อความ “ใส่ใจ” ให้เยาวชนไทย เดินหน้าโครงการ CSR “สานฝันจากพี่สู่น้อง” ปี 2567