รณรงค์ให้ภาคเอกชนเห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ผืนป่าประเทศไทย
ด้วยวันที่ 29 กรกฎาคม และ 31 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์เสือโลก และวันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) และ คุณวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานมูลนิธิอมตะ จึงร่วมกับ คุณอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช จัดแถลงข่าวเชิงเสวนา “ผู้พิทักษ์ป่า เสือโคร่ง: ร่วมคืนสมดุลสู่ผืนป่าไทย” เพื่อบอกเล่าเรื่องราวและสื่อสารให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่า ตลอดจนเล็งเห็นถึงบทบาทหน้าที่และความสำคัญของผู้พิทักษ์ป่าซึ่งทำหน้าที่ “รักษาความสมดุลทางธรรมชาติ” พร้อมทั้งเชิญชวนภาคเอกชนให้มีบทบาทในการอนุรักษ์อย่างกระตือรือร้นและดำเนินกิจการที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยมี คุณสุทธิชัย หยุ่น เป็นผู้ดำเนินรายการ ภายในงาน คุณอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ป่าไม้คือทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์น้อยใหญ่ เพราะป่าคือผู้รักษาความสมดุลของระบบนิเวศทางธรรมชาติ ทั้งดิน น้ำ และอากาศ ตลอดจนเป็นต้นกำเนิดของอาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค แต่ปัจจุบัน ป่าไม้ถูกทำลายลงไปมาก ขณะที่การลักลอบค้าสัตว์ป่าทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งล้วนเกิดจากการกระทำของมนุษย์เพื่อผลประโยชน์ทางพานิชย์ และพฤติกรรมการดำเนินชีวิต อันส่งผลต่อความสมดุลของระบบนิเวศอย่างเป็นวัฏจักร และปัญหาต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติน้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า สัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ หรือแม้กระทั่งโรคระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลก
“การอนุรักษ์ป่าไม้ของประเทศไทยในปัจจุบัน ภาครัฐเป็นผู้ที่ทำหน้าที่หลัก โดยมีผู้พิทักษ์ป่าเป็นกลไกสำคัญ ทำหน้าที่ปกป้องพื้นที่คุ้มครองของประเทศ อาทิ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน พื้นที่ป่าไม้และป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งทางบกและทางทะเลของประเทศ ซึ่งมีอยู่ถึง 20% หรือ 1 ใน 5 ของประเทศ แม้การทำงานของพวกเขาจะต้องเผชิญกับภยันตรายรอบด้าน ทั้งจากสัตว์ป่า ผู้บุกรุกลักลอบ หรือโรคภัยจากป่า แต่พวกเขาก็เพียงหวังว่า การอุทิศตนทำงานนี้จะสามารถรักษาป่า รักษาทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่าและความสมดุลทางธรรมชาติไว้ให้ลูกหลานสืบต่อไปได้ การกำหนดให้มี วันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก จึงเป็นการยกย่อง ให้เกียรติ ให้กำลังใจ แก่ผู้ทำหน้าที่ปกป้องป่าไม้ พื้นที่คุ้มครองและทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมทั้งระลึกถึงวีรกรรมและความเสียสละทุ่มเทของผู้พิทักษ์ป่า ดังนั้นกรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงอยากถือโอกาสนี้ในการสร้างความตระหนักให้ทุกภาคส่วนในสังคม เห็นถึงความสำคัญของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่อุทิศตนปฏิบัติงานด้วยความเสียสละและอดทน ตลอดจนหันมาร่วมแรงร่วมใจรักษาผืนป่าและสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ให้มากขึ้น” อธิบดีกล่าว
ทั้งนี้ การอนุรักษ์ที่ยั่งยืนต้องมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม ไม่ใช่เฉพาะภาครัฐเท่านั้น ภาคประชาชน และภาคเอกชนเองควรตระหนักและให้ความสำคัญในปกป้องและรักษาป่าไม้ของชาติ อันจะนำมาซึ่งความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ โดย คุณฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บริษัท
บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด และ คุณวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานมูลนิธิอมตะ นับเป็นตัวแทนภาคเอกชนที่ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ จาก “โครงการอนุรักษ์เสือโคร่ง” ที่ บี.กริม ผลักดันและสนับสนุนมาอย่างยาวนาน รวมถึงโครงการยกระดับการจัดการอุทยานแห่งชาติที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ “โครงการอุทยานพี่อุทยานน้องร่วมแบ่งปันทรัพยากรและองค์ความรู้” (SPARK) ที่มูลนิธิอมตะทุ่มเทมาร่วมสิบกว่าปี นอกจากนี้ยังมี “โครงการอบรมหัวหน้าอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วประเทศและอาเซียน” ที่ทั้งสององค์กรผลักดันร่วมกัน ตลอดจนโครงการความร่วมมือที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่าง “ค่ายเยาวชนผู้พิทักษ์ป่า” ล้วนแล้วแต่สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของภาคเอกชนที่ต้องการร่วมทำงานกับภาครัฐอย่างบูรณาการ เพื่อรักษาความสมดุลทางธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย
ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง (Save the Tigers) เป็นโครงการที่ บี.กริม ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง โดยกว่า 10 ปีที่ผ่านมา บี.กริม มุ่งมั่นฟื้นฟูธรรมชาติของผืนป่าตะวันตกของประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งพร้อมกับปกป้องถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งจากการรุกล้ำและลักลอบล่าสัตว์ ทั้งสนับสนุนระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol System) มีการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย นำไปสู่การวางแผนการปฏิบัติงานลาดตระเวนได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ บี.กริม ยังสนับสนุน การปรับปรุง ศูนย์ควบคุมมาตรฐานการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART Patrol Monitoring Center) และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานพิทักษ์ป่า อาทิ กล้องดักถ่ายภาพ (Camera Trap) ระบบเสารับส่งสัญญาณวิทยุ (Radio Tower and Portable 2-Way Radio) เชื่อมโยงระบบป้องกันรักษาป่า และยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูเสือโคร่งอย่างต่อเนื่อง
“ผมเชื่อเสมอว่า เพราะมีความโอบอ้อมอารี ธุรกิจจึงสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติและชุมชนได้ โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง หรือ Save the Tigers เกิดจากความเข้าใจที่ว่า เสือโคร่ง คือหนึ่งในดัชนีชี้วัดถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ช่วยทำให้ระบบนิเวศมีความสมดุล เมื่อจำนวนประชากรเสือโคร่งลดลงเรื่อย ๆ จึงเป็นสัญญาณเตือนว่าผืนป่ากำลังประสบกับปัญหาขาดความอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบัน IUCN จัดสถานะให้เสือโคร่งอยู่ในประเภทใกล้สูญพันธุ์ สำหรับประเทศไทยก็ได้ระบุให้เสือโคร่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 เพราะประชากรเสือโคร่งลดน้อยลงจนเข้าสู่ภาวะวิกฤติ โดยพบได้ในป่าธรรมชาติของ 13 ประเทศเท่านั้น รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของเสือมากเป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ยังมีจำนวนเสือโคร่งในธรรมชาติกระจายตัวอยู่ในป่าอนุรักษ์ที่สำคัญ ด้วยเหตุนี้ บี.กริม จึงให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง โดยเป็นบริษัทเอกชนรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย ที่ดำเนินการด้านนี้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งจากการเดินหน้าอนุรักษ์ร่วมกันมาอย่างต่อเนื่องก็เป็นที่น่ายินดีว่า ประชากรเสือโคร่งในประเทศไทยได้เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี” ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าว
นอกจากนี้ บี.กริม ยังเห็นถึงความยากลำบากในการทำหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าของเจ้าหน้าที่ ซึ่งโดยเฉลี่ยเจ้าหน้าที่หนึ่งคนต้องดูแลพื้นที่ป่าคนละหนึ่งหมื่นไร่ จึงได้จัดทำประกันสุขภาพให้แก่เจ้าหน้าที่ทุกคน ตลอดจนสนับสนุนทุนการศึกษาแก่บุตรหลาน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานด้วย และนอกเหนือจากนั้น บี.กริม ยังสนับสนุนไปถึงต้นธาร โดยการสร้างศูนย์การเรียนรู้ ส.เสือวิทยา ณ โรงเรียนอนุบาลคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อให้นักเรียนและชุมชนในท้องถิ่นได้เรียนรู้เกี่ยวกับเสือและสัตว์ป่าในพื้นที่ของตนและประเทศไทย รวมถึงสร้างจิตสำนึกให้เกิดการอนุรักษ์ธรรมชาติ เพื่อรักษาฝืนป่าและระบบนิเวศอย่างยั่งยืน
ด้าน คุณวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานมูลนิธิอมตะ เผยว่า นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2539 วัตถุประสงค์หลักอันดับแรกของมูลนิธิคือ เพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่า ตลอดจนส่งเสริมการปลูกป่าและรักษาธรรมชาติ จึงเกิด “โครงการอุทยานพี่อุทยานน้องร่วมแบ่งปันทรัพยากรและองค์ความรู้” (SPARK) ซึ่งเป็นการร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อร่วมกันพัฒนาและปรับปรุงการบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองของประเทศไทยให้มีมาตรฐานในระดับสากล โดยวางเป้าหมายที่จะยกระดับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่สู่อุทยานระดับโลก และเป็นต้นแบบการเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการแก่อุทยานแห่งชาติอื่น ๆ ในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน โดยได้ดำเนินการอย่างเป็นกระบวนการต่อเนื่องเรื่อยมา ผ่านแผนการดำเนินงานอย่างเป็นขั้นตอน กระทั่งเห็นถึงพัฒนาการของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในหลายด้าน
“อย่างที่ทราบกันดีว่า อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นหนึ่งในพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อให้สามารถอนุรักษ์ความหลากหลายนั้นให้ยั่งยืนไปพร้อมกับธุรกิจการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ การบริหารจัดการที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ โครงการ SPARK จึงเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิอมตะ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า พันธุ์พืช และองค์กร International Conservation Caucus Foundation (ICCF) และ Global Park เพื่อยกระดับการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่สู่ระดับสากล และเพื่อเป็นต้นแบบด้านการบริหารจัดการอุทยานของอุทยานแห่งชาติอื่นๆ โดยเราได้ประสานความร่วมมือในระดับสากลจากสหรัฐอเมริกา เพื่อส่งผู้เชี่ยวชาญมาประเมินการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และจัดทำแผนการจัดการและมาตรการดำเนินการ รวมถึงการจัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการจัดการอุทยานแห่งชาติ ให้แก่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติและผู้ช่วยของไทยและประเทศในอาเซียน ตลอดจนหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าและผู้ช่วย เพื่อที่จะบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพท่ามกลางความท้าทายใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้น ทั้งหมดที่ทำนี้ เราไม่สามารถทำโดยลำพัง การมีเพื่อนหรือพันธมิตรที่เข้ามาช่วยกันทำมีความสำคัญมาก เพื่อร่วมกัน “คืนสมดุลสู่ผืนป่าไทย” อย่างเป็นระบบ และเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรการท่องเที่ยวและทรัพยากรธรรมชาติ อันจะเป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ผืนป่าของไทยให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม” คุณวิกรม กรมดิษฐ์ กล่าว
ทั้งนี้ การแถลงข่าวเชิงเสวนา “ผู้พิทักษ์ป่า เสือโคร่ง: ร่วมคืนสมดุลสู่ผืนป่าไทย” ได้รับความสนใจจากภาคประชาชนและภาคเอกชนเป็นอย่างมาก โดยทั้ง บี.กริม มูลนิธิอมตะ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ต่างคาดหวังว่าจะสามารถจุดประกายและสร้างแรงกระเพื่อมให้ภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนในสังคม เกิดความตระหนักถึงความสำคัญด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และก้าวเข้ามามีบทบาทในด้านการอนุรักษ์อย่างกระตือรือร้น รวมถึงมีความรับผิดชอบในการร่วมรักษาธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ และสร้างความหวังเพื่ออนาคตที่ดีและยั่งยืนให้แก่คนรุ่นหลังต่อไป
More Stories
รฟฟ.บีแอลซีพี ร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำกว่า 1.6 ล้านตัว ต่อเนื่องเป็นปีที่ 22 สานต่อ ESG หนุน SDGs
OR ตอกย้ำแนวคิดสังคมสะอาด มอบรางวัลโครงการ “แยก แลก ยิ้ม School Camp ประจำปี 2567”
เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์ ร่วมบรรยายในงานประชุม The 58th