กฟผ. ร่วมติดตามสถานการณ์อุทกภัยภาคเหนืออย่างใกล้ชิด เผยเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ยังสามารถรับน้ำได้อยู่ พร้อมปรับแผนลดการระบายน้ำและบริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบกับประชาชน
นายชวลิต กันคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดภาคเหนือตอนบน ทั้งจังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน และแพร่ ที่มีสาเหตุจากร่องมรสุมปานกลางค่อนข้างแรง พาดผ่านทางตอนบนของภาคเหนือ ทำให้ปริมาณฝนเฉลี่ยสูงกว่าค่าปกติ และมีฝนตกต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 15-21 สิงหาคม 2567 นั้น ขณะนี้แม้ปริมาณฝนจะเริ่มซาลงแล้ว ยังต้องเฝ้าระวังมวลน้ำที่ยังไหลในลุ่มน้ำต่าง ๆ โดย กฟผ. ได้ติดตามการบริหารจัดการน้ำ และสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนืออย่างใกล้ชิด
สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพล ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2567 มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำอยู่ที่ 5,846.02 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 43.4 ของความจุอ่าง มีน้ำใช้งานได้รวมทั้งสิ้น 2,046.02 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 21.2 ของความจุอ่าง ทั้งนี้ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 7,615.98 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 56.6
ด้านสถานการณ์น้ำในเขื่อนสิริกิติ์ ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2567 มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำอยู่ที่ 6,330.60 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 66.60 ของความจุอ่าง มีน้ำใช้งานได้รวมทั้งสิ้น 3,480.60 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 52.70 ของความจุอ่าง ทั้งนี้ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 3,179.40 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 33.40
โดยเขื่อนสิริกิติ์ได้ปรับแผนลดการระบายน้ำลงเหลือวันละ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อลดผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำตอนล่าง และเป็นประโยชน์ต่อการกักเก็บน้ำต้นทุนไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งปีหน้า ซึ่งได้กำชับให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งบูรณาการบริหารจัดการน้ำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดผลกระทบและบรรเทาความเดือดร้อนในพื้นที่ประสบอุทกภัยที่เกิดขึ้น โดยสามารถติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำได้ทาง http://water.egat.co.th/
ทั้งนี้ กฟผ. ห่วงใยผู้ประสบอุทกภัย กำลังเร่งบรรจุถุงยังชีพเพื่อช่วยเหลือต่อไป กฟผ. พร้อมเคียงข้างคนไทยทุกวิกฤต
More Stories
SSP ติดปีก! รุกขยายพอร์ตโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ
ราช กรุ๊ป – เอไอเอฟ กรุ๊ป – โรนิตรอน จับมือศึกษาและพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจน – กรีนแอมโมเนีย จากพลังงานสะอาดใน สปป.ลาว
“พลังงาน”ชูต้นแบบสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ