20 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

สังคมไทยเปลี่ยน ศาลเยาวชนและครอบครัวปรับตัวก้าวสู่บริบทใหม่ของสังคม

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567  ที่ผ่านมา นางอโนชา ชีวิตโสภณ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาวิชาการผู้พิพากษาสมทบในศาลเยาวชนและครอบครัวทั่วราชอาณาจักร ประจำปี 2567 ที่ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อินแพ็ค เมืองทองธานี โดยศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเป็นเจ้าภาพ ซึ่งในการสัมมนาครั้งนี้ นางอโนชา ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง“บริบทศาลเยาวชนและครอบครัว กับมิติความท้าทายที่เปลี่ยนแปลงในสังคม”  เพื่อให้ก้าวทันต่อยุคสมัย

โดย นางอโนชา กล่าวว่า สถาบันครอบครัวเป็นหน่วยย่อยที่เล็กที่สุดในสังคม เป็นสถาบันที่วางรากฐานชีวิตให้แก่เด็กและเยาวชน โดยมีบทบาทเลี้ยงดู ชี้แนะและสั่งสอนให้เป็นคนดีของสังคม ซึ่งอนาคตของสังคมไทย จะมีทิศทางเช่นไร ย่อมขึ้นอยู่กับเด็กและเยาวชนในปัจจุบันที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ทั้งนี้โอกาสของแต่ละครอบครัวที่แตกต่างกันย่อมส่งผลให้เด็กและเยาวชนในแต่ละครอบครัวแตกต่างกัน จึงทำให้บางครอบครัวไม่ได้รับการดูแลชี้แนะเท่าที่ควร นำมาซึ่งการก่อความผิดเล็กน้อยไปถึงขั้นร้ายแรง

นางอโนชา กล่าวอีกว่า ดังนั้น ศาลยุติธรรม จึงเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหานี้ โดยจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางขึ้นเป็นครั้งแรก ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนเหล่านี้ จนเปลี่ยนผ่านมาเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวทั่วประเทศ ที่ขยายบทบาทหน้าที่ของศาลเยาวชนและครอบครัวให้ดำเนินการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเด็กและเยาวชน ตลอดจนเสริมสร้างความมั่นคง เข้มแข็งให้สถาบันครอบครัวเพื่อประโยชน์สูงสุดของบุตรผู้เยาว์ ตาม  พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553

“นับเป็นเวลา 73  ปีแล้ว ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวยืนหยัดเคียงข้างสังคมไทย ในการมุ่งแก้ปัญหาการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนอย่างเข้มแข็งมาตลอด ซึ่งมิใช่เพียงเฉพาะการพิจารณาพิพากษาคดีลงโทษเพื่อป้องปรามมิให้เด็กและเยาวชนกระทำความผิดซ้ำ แต่ขยายบทบาทครอบคลุมไปถึงการให้ความช่วยเหลือแก่เด็กและเยาวชน และครอบครัวที่ตกอยู่ในภาวะยากลำบาก ทั้งต้องเผชิญกับความเสี่ยง และความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเพื่อให้เด็กและเยาวชนกลับไปเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อสังคม และประเทศชาติได้” นางอโนชา กล่าว

ด้านนายเผดิม เพ็ชรกูล อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง กล่าวว่า ศาลเยาวชนและครอบครัวได้ตระหนักถึงความสำคัญในการคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน ตลอดจนการแก้ไข บำบัดฟื้นฟู เด็กและเยาวชน พร้อมช่วยเหลือคุ้มครองสวัสดิภาพของครอบครัว ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ที่บุคคลทุกฝ่ายยึดถือและนำมาใช้ปฏิบัติงาน

“ผู้พิพากษาสมทบในฐานะที่เป็นบุคลากรที่มีบทบาทสำคัญ ซึ่งเป็นตัวแทนของชุมชนและสังคมในการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนตามเจตนารมณ์ แห่งกฎหมาย โดยมีหน้าที่ในการขับเคลื่อนกระบวนการทำงานของศาลเยาวชนและครอบครัวในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชน ซึ่งคำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญยิ่งกว่าการลงโทษ”นายเผดิม กล่าว

นายเผดิม กล่าวย้ำว่า ขณะเดียสกันนโยบายของประธานศาลฎีกา ในการมุ่งแก้ไข บำบัดและฟื้นฟูผู้กระทำผิดเด็กและเยาวชนอย่างครบวงจร ต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ศาลเยาวชนและครอบครัวทั่วราชอาณาจักรได้ดำเนินการพัฒนาศูนย์คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในคดีอาญา โดยครอบคลุมถึงการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูผู้กระทำผิดและผู้เสียหายในคดีอาญา มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน ศูนย์ติดตามด้วยความห่วงใยเด็กและเยาวชนที่ผ่านกระบวนการยุติธรรมของศาลเยาวชนและครอบครัวอย่างครบวงจร บรูณาการความร่วมมือระหว่างศาลเยาวชนแฃะครอบครัวทั่วราชอาณาจักรกับภาคส่วนต่าง เพื่อให้ไปในแนวทางเดียวกัน โดยมีผู้พิพากษาสมทบเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันนโยบายดังกล่าว

ขณะเดียวกัน พันตำรวจเอก รุ่งเลิศ คันธจันทร์ ผู้กำกับกลุ่มงานต่อต้านกานล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต กล่าวว่า ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา มีคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กทางอินเทอร์เน็ต 541 คดี ได้ช่วยเหลือผู้เสียหายผู้หญิง 290 คน ผู้ชาย 68 คน คนร้ายจะมีวิธีการล่อลวงด้วย ให้เข้ากลุ่มลับ หลอกจะให้เงิน บังคับให้ส่งไฟล์ ชักชวนเป็นดารา ชวนให้แก้ผ้า ท้าให้เปิดกล้อง ให้ลองแลกไอเท็ม วิธีการต่างๆ นี้ ติดต่อผ่านแอฟหาคู่ เกมส์ออนไลน์ และโซเซียลมีเดีย

พันตำรวจเอก รุ่งเลิศ กล่าวว่า สำหรับวิธีการรับมือไม่ตกเป็นเหยื่อมีดังนี้ ต้องไม่รีบเป็นเพื่อน หรือสนทนากับบุคคลที่ไม่รู้จัก  ต้องไม่ส่งข้อมูลส่วนตัวให้กับบุคคลที่ไม่รู้จัก ไม่บันทึก หรือส่งรูปภาพ หรือวิดิโอที่สื่อกิจกรรมทางเพศแก่บุคคลอื่นแม้เป็นคนที่ไว้วางใจได้ก็ตาม

นอกจากนี้ ด้านศาตราจารย์คลินิกแพทย์หญิงวินัดดา ปิยะศิลป์ แห่งราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศ กล่าวว่า การเลี้ยงดู และระบบการเรียนในโรงเรียนแบบเดิมเน้นการแข่งขัน งึกฝนน้อย มุ่งใส่เนื้อความรู้โดยไม่สนใจว่าจะเหมาะสมกับเด็กหรือไม่ เมื่อเด็กทำไม่ได้หรือไม่รับผิดชอบ ไม่มีแรงจูงใจ หรือไม่อยากเรียนผู้ใหญ่มักจะสร้างให้เกิดอารมณ์ด้านลบเพื่อมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ดุ ตำหนิ ลงโทษ เปรียบเทียบ ประจานทำให้อับอาย กดดันหัก หักคะแนน เน้นว่าทำไม่ได้ คือความพ่ายแพ้ โง่ ไร้ค่าที่เกิดมา ชีวิตล้มเหลว เสียทีที่เกิดมาเป็นต้น การเรียนรู้แบบนี้ ได้ผลระดับหนึ่ง แต่ทำให้เด็กขาดความสุข กลัว ไม่ปลอดภัยไม่กล้าแสดงออก กลัวผิด หรือดื้อ ต่อต้านไม่ทำตาม ไม่เรียนหนังสือ ส่งผลกระทบและบั่นทอนความสัมพันธ์ในครอบครัวของเด็กกับพ่อแม่ หรือกับนักเรียน กับครูทำให้ไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน

“ดังนั้นแนวคิดของจิตวิทยาเชิงบวก เชื่อว่ามนุษย์มีศักยภาพมากที่จะพัฒนาตนเอง มีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกับมนุษย์ด้วยกัน และสิ่งแวดล้อมที่จดดำเนินชีวิตไปถึงจุดมุ่งหมายที่มีคุณค่า และมีความสุขร่วมกันได้”ศาตราจารย์คลินิกแพทย์หญิงวินัดดา กล่าว

ส่วน ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.จิรนิติ หะวานนท์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ได้บรรยาย เรื่องการแก้ไข บำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชน อันเป็นภารกิจสำคัญของศาลเยาวชนและครอบครัว อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาสมทบในศาลเยาวชนและครอบครัวมีความรอบรู้ ดร. ตฤณห์ โพธิ์รักษา อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนักอาชญาวิทยาด้านจิตวิทยาพฤติกรรมได้บรรยายให้ความรู้เรื่อง การอ่านภาษากายประสบการณ์ทำงานสืบสวน

ดร. ตฤณห์ กล่าวว่า ในปัจจุบันสังคมไทยได้พัฒนาทางด้านเทคโนโลยีทัดเทียมนานาชาติ ทำให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสะดวกรวดเร็วขึ้น ขณะเดียวกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีก็ได้เกิดขึ้นมากมายเป็นเงาตามตัวในหลายกรณี ปรากฏว่ามีเด็กและเยาวชนเข้ามาเกี่ยวข้องได้กระทำความผิดและมีคดีขึ้นสู่ศาลเยาวชนและครอบครัวมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ส่วนในวันที่ 30 สิงหาคม 2567 นี้ จะมีการเสาวนาเรื่องสมรสเท่าเทียม ว่าด้วยข้อกฎหมาย ของคำว่าสมรส และครอบครัว รวมถึงสิทธิทางสังคมในบริบทของการสมรสเท่าเทียมซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย ที่ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างกว้างขวาง

ขณะเดียวกันในกระบวนการศาลยุติธรรมจะต้องปรับเปลี่ยนแก้ไขกฎหมายในหลายๆ ด้านรวมทั้งศาลเยาวชนและครอบครัวด้วย โดยมีผู้ทรงวุฒิที่ร่วมเสาวนาประกอบ นายเผดิม เพ็ชรกูล อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ผศ.ดร.รัชนีกร ลาภวณิชชา พรหมศักดิ์ จากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และนางสาวนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ  กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมและนายปารมี ไวจงเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ร่วมเสวนา

 

Skip to content